ACARIZAX วัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นชนิดเม็ดสำหรับอมใต้ลิ้น

ACARIZAX sublingual immunotherapy for dust mite allergies

                สำหรับผู้ป่วยภูมิแพ้ โดยเฉพาะผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้, ไรฝุ่น หรือแมลงชนิดต่าง ๆ การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้อาจทำได้ยาก และในบางครั้งก็ตอบสนองต่อยาที่ใช้บรรเทาอาการได้ไม่ดี ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันแล้ว ยังเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายรุนแรงตามมา การรักษาภูมิแพ้ด้วยวัคซีนภูมิแพ้หลากชนิดและหลายรูปแบบการใช้ จึงถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมอาการของโรคภูมิแพ้ได้เป็นเวลานาน และ ACARIZAX® ซึ่งเป็นวัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นชนิดเม็ดสำหรับอมใต้ลิ้น ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกดังกล่าวค่ะ

                วัคซีนนี้ผ่านการอนุมัติและขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2561 ในชื่อ ODACTRA® ซึ่งเป็นชื่อการค้าที่จัดจำหน่ายในประเทศสหรัฐ และอาจเป็นที่รู้จักในชื่ออื่น ๆ เช่น MITICURE® ในประเทศญี่ปุ่น หรือ ACARIZAX® ในประเทศไทยและอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก

                โดยรับรองให้ใช้สำหรับ…

  1. รักษาโรคเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเกิดจากการแพ้ไรฝุ่นบ้านบางชนิด ในผู้ป่วยอายุ 12 – 65 ปี
  2. รักษาโรคหอบหืด (Asthma) ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเกิดจากการแพ้ไรฝุ่นบ้านบางชนิด ในผู้ป่วยอายุ 18 – 65 ปี

 

                ในประเทศไทย ACARIZAX® (อะคาริแซกซ์) ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “ยาควบคุมพิเศษ” และมีใช้เฉพาะในโรงพยาบาลค่ะ รวมถึงจะต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์ทางด้านการรักษาโรคภูมิแพ้เท่านั้น

 

                ใน 1 เม็ดของ ACARIZAX® (อะคาริแซกซ์) จะประกอบด้วย สารสกัดไรฝุ่นบ้าน สายพันธุ์ Dermatophagoides pteronyssinus ในปริมาณ 6 หน่วย SQ-HDM และสารสกัดไรฝุ่นบ้าน สายพันธุ์ Dermatophagoides farina ในปริมาณ 6 หน่วย SQ-HDM

                ใช้โดยการอมไว้ใต้ลิ้นวันละ 1 เม็ด โดยจะต้องไม่กลืนน้ำลายอย่างน้อย 1 นาทีในระหว่างที่รอเม็ดยาละลาย และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มอย่างน้อย 5 นาทีหลังใช้วัคซีนนะคะ

                ซึ่งจะต้องใช้ต่อเนื่องกันทุกวันนาน 3 ปี เพื่อให้เกิดประสิทธิผลที่ดีในการรักษา และจะเริ่มเห็นผลเมื่อใช้ไปแล้ว 8 – 14 สัปดาห์

                แต่ถ้าไม่มีการตอบสนองที่ดีต่อการรักษาในปีแรก ก็ไม่มีข้อบ่งชี้ให้รักษาด้วยวิธีนี้ต่อค่ะ

 

                เนื่องจากวัคซีนภูมิแพ้อาจก่อให้เกิดอาการแพ้รุนแรงแบบเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ซึ่งมีอันตรายที่รุนแรงถึงชีวิตได้ ในครั้งแรกจึงต้องใช้ต่อหน้าแพทย์หรือพยาบาล โดยมีการวัดสัญญาณชีพก่อนที่จะใช้ และสังเกตอาการต่ออย่างน้อย 30 นาทีหลังจากที่ใช้เรียบร้อยแล้ว

                และผู้ที่เคยมีประวัติแพ้อย่างรุนแรงหลังได้รับวัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่นชนิดฉีด แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้อะคาริแซกซ์ต่อหน้าแพทย์หรือพยาบาล ต่อเนื่องกัน 1 สัปดาห์ เพื่อความปลอดภัยนะคะ

                หลังจากนั้น เมื่อมั่นใจว่าไม่มีการแพ้อย่างเฉียบพลันจากการใช้วัคซีน ผู้ป่วยก็สามารถใช้ต่อที่บ้านเองได้ จึงสะดวกกว่าการรับวัคซีนในรูปแบบฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังที่มีใช้อยู่เดิม ซึ่งผู้ป่วยต้องไปฉีดยาในโรงพยาบาลที่มีแพทย์ภูมิแพ้หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่องเดือนละ 1 – 2 ครั้ง

 

                ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้อะคาริแซกซ์ คืออาการคันในช่องปาก โดยผู้ใช้มักมีอาการภายใน 30 – 60 นาทีหลังใช้วัคซีน และมีอาการมากในช่วงสัปดาห์แรกที่ใช้ จากนั้น อาการจะค่อย ๆ ลดลงและหายไปหลังใช้ 1 – 3 เดือนค่ะ

                แต่ถ้ามีอาการผิดปกติใด ๆ ที่รุนแรงมาก หรือเป็นอยู่นานแล้วไม่ดีขึ้น ก็ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมนะคะ

                และหากต้องผ่าตัดในช่องปากหรือถอนฟัน ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบด้วยว่ากำลังใช้อะคาริแซกซ์อยู่

 

                ถ้าลืมใช้อะคาริแซกซ์ ก็ให้ใช้ทันทีที่นึกได้ในวันนั้น แต่ถ้าใช้ไม่ทัน ก็ไม่ต้องเพิ่มขนาดในวันถัดไปนะคะ เพราะการใช้มากกว่าขนาดที่แนะนำอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงมากขึ้นค่ะ

                อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยลืมหรือมีความจำเป็นต้องหยุดใช้วัคซีนนานเกิน 7 วัน ก็ต้องกลับไปพบแพทย์และเริ่มใช้วัคซีนต่อหน้าแพทย์หรือพยาบาล เพื่อสังเกตอาการแพ้เฉียบพลันชนิดรุนแรง เช่นเดียวกับการเริ่มใช้ครั้งแรกด้วยนะคะ

 

               

เอกสารกำกับยาภาษาไทยของอะคาริแซกซ์

http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/drug_detail_corporation/doc/word/1163/f8a8ea554857e42bd14bda38f894113c-a2.pdf

 

ขอบคุณภาพประกอบบทความ

https://www.thesundaily.my/media-marketing/treat-respiratory-allergies-with-acarizax-CM824477

 

ขอบคุณแหล่งข้อมูล

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/acarizax/?type=brief
  2. https://www.fda.gov/vaccines-blood-biologics/allergenics/odactra
  3. https://www.drugs.com/history/odactra.html
  4. https://ir.alk.net/node/12831/pdf