เริ่มยาคุมแผงแรกก่อนไข่ตก 5 วันจะป้องกันได้ไหม

เริ่มยาคุมแผงแรกก่อนไข่ตก 5 วันจะป้องกันได้ไหม

                เริ่มใช้ยาคุมแผงแรก เป็นแบบ 21 เม็ด ก่อนวันที่คาดว่าจะมีไข่ตกประมาณ 5 วัน และหลังรับประทานได้ 5 วัน ก็มีเพศสัมพันธ์โดยใส่ถุงยางและหลั่งนอก แต่ไม่ได้ตรวจสอบหลังใช้ จึงกังวลว่า จะท้องหรือไม่ถ้าถุงยางรั่ว เพราะอยู่ในช่วงไข่ตกพอดี

 

                ยาคุมแบบ 21 เม็ดเป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งหากเริ่มรับประทานแผงแรกไม่ทัน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน ก็อาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะยับยั้งการตกไข่ในเดือนแรก จึงควรงดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะรับประทานยาคุมแผงนี้ติดต่อกันครบ 7 วันค่ะ

                การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีผลป้องกันจากยาคุมรายเดือน อ้างอิงจาก Trussell J. Contraceptive Technology, 2018. ก็คือ ถ้าใช้ถูกต้อง, เหมาะสม และตรงเวลาสม่ำเสมอ (Perfect use) มีโอกาสตั้งครรภ์เพียงแค่ 0.3% แต่การใช้ทั่ว ๆ ไป ที่ไม่เคร่งครัดนัก (Typical use) จะมีโอกาสตั้งครรภ์ 7%

                แต่เมื่อเริ่มแผงแรกไม่ทัน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน และใช้ต่อเนื่องไม่ครบ 7 วัน ก็ยังไม่มีผลป้องกันยาคุมรายเดือนนะคะ จึงต้องพิจารณาว่า การป้องกันด้วยวิธีอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมกัน จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้เพียงไร

 

                สำหรับถุงยางอนามัยชาย หากใช้ได้ถูกต้องและสมบูรณ์แบบ ทุก ๆ ครั้ง (Perfect use) โอกาสตั้งครรภ์ก็เพียง 2% ในขณะที่การใช้โดยทั่วไป (Typical use) มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ 13%

                ส่วนการหลั่งนอก หากทำได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์แบบทุก ๆ ครั้ง (Perfect use) มีโอกาสตั้งครรภ์ 4% แต่โดยทั่วไป (Typical use) ถือว่ามีโอกาสตั้งครรภ์ได้ 20%

                ดังนั้น หากไม่มั่นใจว่าใช้ถุงยางถูกวิธี หรือไม่ได้ตรวจสอบการรั่วซึมหลังใช้งาน การหลั่งนอกก็ยังไม่ใช่ทางเลือกที่ดี สำหรับป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อม เพราะไม่ใช่วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงค่ะ

 

                ในกรณีนี้ จึงควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินเป็นวิธีป้องกันสำรอง โดยรับประทานทันที หรือเร็วที่สุดที่ทำได้ ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์นะคะ

                โดยสามารถรับประทานแบบครบขนาดในครั้งเดียวได้เลย ซึ่งถือเป็นวิธีใช้มาตรฐานในปัจจุบันจากการแนะนำของหลาย ๆ หน่วยงาน นั่นคือ ถ้าใช้ยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด ก็รับประทาน 2 เม็ดพร้อมกันในครั้งเดียว และถ้าใช้ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด ก็รับประทานเม็ดเดียวครั้งเดียว

                หรือจะรับประทานตามวิธีดั้งเดิมก็ได้ นั่นคือ ใช้ยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด โดยแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เม็ด ห่างกัน 12 ชั่วโมง แต่ควรระวังว่าอาจลืมรับประทานครั้งที่สอง เพราะหากใช้ไม่ครบขนาด ก็จะไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ค่ะ

 

                ยาคุมฉุกเฉินชนิดที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทย (และอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก) เป็นยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel) ซึ่งสามารถใช้ร่วมกับยาคุมรายเดือนได้ โดยไม่ทำให้ประสิทธิภาพลดลง และสามารถรับประทานยาคุมแบบ 21 เม็ดต่อได้ตามปกตินะคะ

                แต่ยิ่งใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลใกล้เวลาไข่ตกมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นที่ยาคุมจะชะลอการตกไข่ไม่ทัน จึงอาจล้มเหลวในการป้องกันมากกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ

 

                หากมีความเสี่ยงมาก การคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น ให้สูตินรีแพทย์ใส่ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดง ภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งผู้ใช้มีโอกาสตั้งครรภ์เพียงแค่ 0.6% (Perfect use) หรือ 0.8% (Typical use) เท่านั้น ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และยังสามารถใช้เพื่อคุมกำเนิดต่อไป แทนการรับประทานยาคุมรายเดือนได้ด้วยค่ะ

                แต่ถ้าไม่สามารถเลือกวิธีที่ดีกว่าได้ การรับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลให้เร็วและครบขนาด ก็ดีกว่าที่จะไม่ใช้เสียเลยนะคะ อีกทั้ง ผู้ถามเพียงการคาดการณ์ล่วงหน้าเท่านั้นว่าน่าจะมีไข่ตกในวันใด ซึ่งวันที่ไข่ตกจริงอาจคลาดเคลื่อนไปจากนี้ ความเสี่ยงที่จะป้องกันล้มเหลว จึงอาจไม่สูงอย่างที่กังวลก็ได้ค่ะ

 

                อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ใช้ยาคุมแบบ 21 เม็ดหมด ก็จะเว้นว่างก่อนต่อแผงใหม่ หากเว้นว่างจนครบ 7 วันแล้วแต่ยังไม่มีประจำเดือนมา ควรตรวจการตั้งครรภ์ด้วยชุดทดสอบทางปัสสาวะ ในตอนเช้าหลังตื่นนอนของวันที่ครบกำหนดต่อยาคุมแผงใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการตั้งครรภ์นะคะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Trussell J, Aiken ARA, Mickes E, Guthrie K. Efficacy, Safety, and Personal Considerations. In: Contraceptive Technology, 21st ed, Hatcher RA, Nelson AL, Trussell J, et al (Eds), Ayer Company Publishers, Inc., New York 2018.
  2. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
  3. U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  4. FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraceptive. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, 2019. (Amended November 2020)
  5. FSRH Guideline: Emergency contraceptionFaculty of Sexual & Reproductive Healthcare, March 2017. (Amended December 2020)