เปลี่ยนจากฉีดยาคุมเป็นกิน แต่เลยนัดแล้ว

เปลี่ยนจากฉีดยาคุมเป็นกิน แต่เลยนัดแล้ว

               ฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนไปแล้ว 1 ครั้ง แต่ไม่ได้ไปฉีดเข็มที่สองต่อ ถ้าต้องการเปลี่ยนไปรับประทานยาคุมรายเดือน แต่เลยวันนัดฉีดยาคุมมาแล้ว 1 สัปดาห์ จะเริ่มใช้เลยได้ไหม หรือต้องรอให้ประจำเดือนมาก่อน

 

               ยาคุมแบบที่ฉีดทุก 3 เดือน จะกำหนดให้ฉีดยาคุมเข็มใหม่ ห่างจากวันที่ฉีดยาคุมครั้งล่าสุดไปแล้ว 13 สัปดาห์ค่ะ

               หากต้องการเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิด จากการฉีดยาคุมแบบ 3 เดือน ไปเป็นการรับประทานยาคุมรายเดือน สามารถเริ่มยาคุมแผงแรก ตรงกับวันนัดฉีดยาคุมได้เลยนะคะ และจะถือว่ามีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องกันทุกวัน จึงสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติโดยไม่จำเป็นจะต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ เพิ่มเติม

 

               แต่ถ้าเลยกำหนดฉีดยาคุมเข็มใหม่ไปแล้ว แนวทางของสมาคมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งอเมริกา (American Academy of Family Physicians; AAFP) แนะนำว่ายังให้ผลคุมกำเนิดที่ต่อเนื่องกัน หากเริ่มรับประทานยาคุมแผงแรก ภายในเวลาไม่เกิน 15 สัปดาห์นับจากวันที่ฉีดยาคุมครั้งล่าสุด

               ในขณะที่แนวทางของคณะอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ สหราชอาณาจักร (Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare; FSRH) จะกำหนดช่วงเวลาไว้สั้นกว่าค่ะ นั่นคือ ไม่เกิน 14 สัปดาห์นับจากวันที่ฉีดยาคุมครั้งล่าสุด

               และหากเกินเวลาที่กำหนดไปแล้ว FSRH ก็ยังมีคำแนะนำโดยละเอียด เกี่ยวกับการเริ่มใช้ยาคุมแผงแรก ดังนี้

แนวทาง

คำแนะนำ

FSRH

ถ้าฉีดยาคุมเข็มล่าสุดมาไม่เกิน 14 สัปดาห์

สามารถเริ่มยาคุมแผงแรกได้เลย และมีผลคุมกำเนิดทันที

ถ้าฉีดยาคุมเข็มล่าสุดมาเกิน 14 สัปดาห์แล้ว

ไม่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หลังฉีดยาคุมเกิน 14 สัปดาห์

สามารถเริ่มยาคุมแผงแรกได้เลย

+

แต่งดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางป้องกัน

จนกว่าจะใช้ “เอ็กซ์ลูตอน” / “เดลิต้อน” / “ซีราเซท” ติดต่อกันครบ 2 วัน

หรือจนกว่าจะใช้ “สลินดา” / ยาคุมฮอร์โมนรวม ติดต่อกันครบ 7 วัน (และ 9 วันสำหรับ “ไคลรา”)

มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หลังฉีดยาคุมเกิน 14 สัปดาห์

ควรตรวจการตั้งครรภ์ก่อน โดยสามารถเริ่มยาคุมแผงแรกได้ หากผลตรวจเป็นลบ

+

พิจารณาการใช้ยาคุมฉุกเฉินในกรณีที่จำเป็น

+

งดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางป้องกัน

จนกว่าจะใช้ “เอ็กซ์ลูตอน” / “เดลิต้อน” / “ซีราเซท” ติดต่อกันครบ 2 วัน

หรือจนกว่าจะใช้ “สลินดา” / ยาคุมฮอร์โมนรวม ติดต่อกันครบ 7 วัน (และ 9 วันสำหรับ “ไคลรา”)

+

หากวันที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันครั้งล่าสุด  ผ่านมายังไม่ถึง 21 วัน ให้ตรวจการตั้งครรภ์ซ้ำอีกครั้งหลังครบ 21 วัน

 

               คำแนะนำสำหรับผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการคุมกำเนิด ที่มีใช้ในประเทศไทย มักจะอ้างอิงมาจากแนวทางขององค์การอนามัยโลก และหน่วยงานหรือองค์กรวิชาชีพในฝั่งของสหรัฐอเมริกา จึงเป็นไปได้มากว่าจะได้รับคำแนะนำโดยยึดกรอบเวลาเป็น “15 สัปดาห์นับจากวันที่ฉีดยาคุมเข็มล่าสุด” นะคะ

               ดังนั้น จากกรณีตัวอย่าง ถ้ายึดตามแนวทางของ AAFP ผู้ถามก็สามารถเริ่มรับประทานยาคุมแผงแรกได้เลย โดยไม่จำเป็นจะต้องรอให้ประจำเดือนมาก่อน และถือว่ามีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องทันที เนื่องจากเวลาที่เริ่มยาคุมแผงแรก ยังอยู่ภายใน 15 สัปดาห์นับจากวันที่ฉีดยาคุมเข็มสุดท้าย

 

               อย่างไรก็ตาม หากผู้ให้คำปรึกษา ยึดตามแนวทางที่ใช้ในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีความเข้มงวดมากกว่า เพื่อหวังให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการตั้งครรภ์ ก็อาจปรับกรอบเวลาที่ใช้พิจารณามาเป็น “14 สัปดาห์นับจากวันที่ฉีดยาคุมเข็มล่าสุด” แทน และแนะนำเช่นเดียวกับที่ได้ระบุไว้ในตารางข้างต้นค่ะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Lesnewski R, Prine L. Preventing gaps when switching contraceptives. Am Fam Physician. 2011; 83(5): 567–70.
  2. U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  3. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
  4. Family planning: A Global Handbook for Providers, 2022 edition.
  5. FSRH Guideline: Progestogen –only Pills. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, August 2022. (Amended July 2023)
  6. FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, January 2019. (Amended July 2023)