แม้ว่าใน 1 ปีจะมี 12 เดือนตามปฏิทิน แต่รอบประจำเดือนอาจไม่เท่ากับ 12 ครั้งต่อปีนะคะ เอ… ถ้าเช่นนั้น ใน 1 ปี ผู้ใช้ยาคุมจะมีประจำเดือนมากี่ครั้งกันล่ะเนี่ย?!?
รอบประจำเดือน หรือระยะห่างจากวันแรกที่ประจำเดือนมาในรอบหนึ่ง ไปหาวันแรกที่ประจำเดือนมาในรอบถัดไป ตามปกติแล้วอาจพบได้ตั้งแต่ 21 – 35 วันค่ะ
ดังนั้น แม้ว่าประจำเดือนจะมาตรงเวลาสม่ำเสมอ แต่เมื่อนับตามเดือนในปฏิทิน ผู้หญิงบางคนก็อาจจะมีประจำเดือนมา 2 ครั้งในบางเดือน หรือผู้หญิงบางคนก็อาจจะไม่มีประจำเดือนเลยในบางเดือน
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีรอบประจำเดือนเป็น 21 วัน หากวันแรกที่ประจำเดือนมาในรอบล่าสุดตรงกับวันที่ 1 มกราคม ในกรณีที่ประจำเดือนมาตรงเวลาสม่ำเสมอ ประจำเดือนรอบหน้าก็จะมาตรงกับวันที่ 22 มกราคมนะคะ ส่วนประจำเดือนรอบถัดไปก็น่าจะมาตรงกับวันที่ 12 กุมภาพันธ์
และหากประจำเดือนมาตรงเวลาสม่ำเสมอ ในปี พ.ศ.2566 ผู้หญิงคนนี้จะมีประจำเดือนมา 18 ครั้ง โดยบางเดือนมา 2 ครั้ง และบางเดือนมาครั้งเดียว
หรือคำนวณคร่าว ๆ ได้จากการเอาจำนวน 365 (จำนวนวันใน 1 ปี) เป็นตัวตั้ง แล้วหารด้วย 21 (จำนวนวันของรอบประจำเดือนของผู้หญิงรายนี้) ซึ่งจะได้ผลลัพธ์เป็น 17.38 หรือระหว่าง 17 – 18 ครั้งต่อปีนั่นเองค่ะ
และในกรณีของผู้ที่มีรอบประจำเดือนเป็น 35 วัน หากวันแรกที่ประจำเดือนมาในรอบล่าสุดตรงกับวันที่ 1 มกราคม ในกรณีที่ประจำเดือนมาตรงเวลาสม่ำเสมอ ประจำเดือนรอบหน้าก็จะมาตรงกับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ส่วนประจำเดือนรอบถัดไปก็น่าจะมาตรงกับวันที่ 12 มีนาคม
หากประจำเดือนมาตรงเวลาสม่ำเสมอ ในปี พ.ศ.2566 ผู้หญิงคนนี้จะมีประจำเดือนมา 11 ครั้ง โดยมาเดือนละครั้ง ยกเว้นในเดือนสิงหาคมที่จะไม่มีประจำเดือนมาเลยนะคะ
หรือคำนวณคร่าว ๆ ก็คือ 365/35 ซึ่งจะได้ผลลัพธ์เป็น 10.43 หรือระหว่าง 10 – 11 ครั้งต่อปีค่ะ
ที่ยกตัวอย่างข้างต้น จะหมายถึงประจำเดือนตามธรรมชาติในผู้ที่ไม่ได้ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดใด ๆ เลยนะคะ
แต่สำหรับผู้ที่รับประทานยาคุมรายเดือนอยู่นั้น ในกรณีที่ใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ไม่ว่าจะเป็นแบบ 21 เม็ดหรือ 28 เม็ดก็ตาม จะมีประจำเดือนมาในช่วงปลอดฮอร์โมนของแผง
ซึ่งช่วงปลอดฮอร์โมน ในระหว่างที่ใช้ยาคุมรายเดือนชนิดฮอร์โมนรวม ก็คือช่วงที่เว้นว่าง 7 วันของการใช้ยาคุมแบบ 21 เม็ด หรือช่วงที่รับประทานเม็ดยาหลอกของการใช้ยาคุมแบบ 28 เม็ดนั่นเอง
เพราะเมื่อเยื่อบุโพรงมดลูกไม่ได้รับฮอร์โมนไปหล่อเลี้ยงต่อ ก็จะเกิดการหลุดลอก และมีการฉีกขาดของหลอดเลือดในเยื่อบุ ทำให้มีเลือดออกมาคล้ายกับประจำเดือนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยมักพบหลังจากที่ใช้เม็ดยาฮอร์โมนหมดไปแล้ว 2 – 3 วันค่ะ
สำหรับยาคุมแบบ 21 เม็ด จะต้องรับประทานวันละเม็ด หมดแผงแล้วจึงเว้นว่าง 7 วันก่อนต่อแผงใหม่ ซึ่งเมื่อนำจำนวนวันที่ใช้ยา 21 วัน มารวมกับวันที่เว้นว่างอีก 7 วัน ก็จะเท่ากับ 28 วัน
ส่วนยาคุมแบบ 28 เม็ด จะต้องรับประทานวันละเม็ด หมดแผงแล้วก็ต่อแผงใหม่ในวันถัดมา ไม่ต้องเว้นว่างเพิ่มเติมอีก จำนวนวันที่ใช้ยาคุม 1 แผงจึงเท่ากับ 28 วันเช่นกันนะคะ
ดังนั้น รอบประจำเดือนของผู้ใช้ยาคุมรายเดือนชนิดฮอร์โมนรวม ไม่ว่าจะเป็นแบบ 21 เม็ดหรือ 28 เม็ด จึงเป็น 28 วันนั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีประจำเดือนมาในวันที่ 1 มกราคม และเริ่มรับประทานยาคุมแผงแรกในวันเดียวกัน หากใช้อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ก็จะต้องต่อแผงที่สองในวันที่ 29 มกราคม และต่อแผงใหม่ทุก ๆ 28 วัน
นั่นหมายถึง ในปี พ.ศ.2566 ผู้ใช้ยาคุมรายนี้จะต้องซื้อยาคุมมาใช้รวมทั้งสิ้น 14 แผงค่ะ (โดยตามตัวอย่างที่ยกมา แผงที่ 14 จะเริ่มรับประทานเม็ดแรกของแผงในวันที่ 31 ธันวาคม)
หรือคำนวณคร่าว ๆ ก็คือ 365/28 ซึ่งจะได้ผลลัพธ์เป็น 13.04 หรือระหว่าง 13 – 14 แผงต่อปี
ซึ่งในกรณีที่ยาคุมที่ใช้อยู่เป็นยาคุมแบบ 21 เม็ด หรือยาคุม 28 เม็ดที่เป็นสูตร 21/7 (นั่นคือ มีเม็ดยาฮอร์โมน 21 เม็ด + เม็ดยาหลอก 7 เม็ด) ประจำเดือนจะมาในสัปดาห์ที่ 4 หรือวันที่ 22 – 28 ถ้านับจากวันที่รับประทานเม็ดแรกของแผงนั้น ๆ
โดยเมื่อดูภาพตัวอย่าง จะเห็นเครื่องหมายถูกสีแดงในช่วงปลอดฮอร์โมนของแผงนะคะ
และหากพิจารณาระยะห่างของประจำเดือน แม้ว่าในช่วงที่ใช้แผงแรก ประจำเดือนอาจมาห่างกันน้อยกว่า 28 วัน แต่หลังจากนั้น รอบประจำเดือนก็จะเป็น 28 วันโดยประมาณนั่นเองค่ะ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ควรจะมีประจำเดือนมาตามรอบปกติในช่วงปลอดฮอร์โมนของแผง แต่พบได้เช่นกันว่า เมื่อใช้ต่อเนื่องกันนานหลายปี ประจำเดือนของผู้ใช้บางรายก็อาจมาน้อยลง หรือขาดหายไปในบางเดือนได้นะคะ
สำหรับผู้ที่ใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ได้แก่ เอ็กซ์ลูตอน (Exluton), เดลิต้อน (Dailyton), ซีราเซท (Cerazette) และ สลินดา (Slinda) แม้จะต้องใช้ยาคุม 13 – 14 แผงต่อปีเช่นเดียวกับยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม แต่ก็อาจไม่ได้มีประจำเดือนมาครบตามจำนวนแผงยาคุมที่ใช้
โดย เอ็กซ์ลูตอน, เดลิต้อน และ ซีราเซท เป็นยาคุมที่ไม่มีเม็ดยาหลอก นั่นคือทั้ง 28 เม็ดในแผงจะเป็นเม็ดยาฮอร์โมนทั้งหมด จึงคาดการณ์ได้ยากว่าประจำเดือนจะมาในช่วงที่รับประทานเม็ดใดในแผง
อีกทั้ง ผลข้างเคียงเด่นของยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ก็คือ อาจทำให้มีเลือดออกกระปริบกะปรอย, ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือไม่มีประจำเดือน
ดังนั้นประจำเดือนของผู้ใช้ยาคุมดังกล่าว จึงอาจจะมาไม่สม่ำเสมอ โดยมีระยะห่างน้อยกว่าหรือมากกว่า 28 วัน หรือประจำเดือนอาจขาดหายไปในระหว่างที่ใช้ยาคุมอยู่ก็ได้เช่นกัน
ส่วน สลินดา ซึ่งเป็นยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวตัวใหม่ล่าสุด ที่มีทั้งเม็ดยาฮอร์โมนและเม็ดยาหลอกอยู่ในแผง เพื่อให้คาดคะเนได้ง่าย เช่นเดียวกับการใช้ยาคุมฮอร์โมนรวม ว่าประจำเดือนควรจะมาในช่วงที่ใช้เม็ดยาหลอก ซึ่งเป็นช่วงปลอดฮอร์โมนของแผง
อย่างไรก็ตาม ก็อาจพบปัญหาประจำเดือนขาดหายไปได้เช่นกัน โดยอาจพบได้มากกว่ายาคุมชนิดฮอร์โมนรวม แต่ก็น่าจะพบได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวยี่ห้ออื่น ๆ ค่ะ