ยาคุม “มินิดอซ” (Minidoz)

เริ่มเผยแพร่

ปรับปรุงล่าสุด

                ยาคุม “มินิดอซ” (Minidoz) มีรูปแบบเป็น Extended-cycle 24/4 regimen นั่นก็คือ ในแผง 28 เม็ดจะมี “เม็ดยาฮอร์โมน” จำนวน 24 เม็ด และ “เม็ดยาหลอก” จำนวน 4 เม็ด

                โดยที่ “เม็ดยาฮอร์โมน” แต่ละเม็ดจะประกอบไปด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน คือ Ethinyl estradiol 0.015 มิลลิกรัม และฮอร์โมนโปรเจสติน คือ Gestodene 0.060 มิลลิกรัม เหมือนกันทั้ง 24 เม็ด

                ส่วน “เม็ดยาหลอก” 4 เม็ดนั้น เป็นเพียงเม็ดแป้งที่ผู้ผลิตจัดทำมาไว้ให้รับประทานในช่วงปลอดฮอร์โมน เพื่อที่ผู้ใช้จะสามารถต่อยาคุมแผงใหม่ได้ตรงตามกำหนด

ในแผงของมินิดอซ มีเม็ดยาฮอร์โมน 24 เม็ด และเม็ดยาหลอก 4 เม็ด

 

                “มินิดอซ” จัดเป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ประเภทฮอร์โมนต่ำมาก (Ultra low dose pills) เนื่องจากมีปริมาณ Ethinyl estradiol ไม่เกิน 0.020 มิลลิกรัม และยังเป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมสูตรที่มีเอสโตรเจนต่ำที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งเป็นจุดเด่นแรกของ “มินิดอซ” นั่นเอง       

                เพราะมีปริมาณฮอร์โมนที่ต่ำมาก ดังนั้น ผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน ไม่ว่าจะเป็นคลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, บวมน้ำ หรือการเกิดฝ้า จึงพบได้น้อยมาก และน้อยกว่ายาคุมชนิดฮอร์โมนรวมยี่ห้ออื่น ๆ (ยกเว้น “ไมนอซ” ที่เป็นสูตรเดียวกันกับ “มินิดอซ”)

 

                ส่วน Gestodene แม้ว่าจะมีฤทธิ์แอนโดรเจนอยู่ แต่เมื่อมีการใช้ในปริมาณที่น้อยมาก และต่ำกว่ายาคุมสูตร Gestodene ยี่ห้ออื่น ๆ จึงพบผลข้างเคียงเรื่องสิว, หน้ามัน หรือขนดกได้น้อยมากเช่นกัน

                แต่ “มินิดอซ” ไม่จัดเป็นยาคุมที่มีผลต้านการบวมน้ำ เพราะแม้ว่า Gestodene จะมีผล Antimineralocorticoid เมื่อศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ในมนุษย์ที่ใช้ยาคุมสูตรนี้กลับพบผลดังกล่าวน้อยมากหรือไม่มีเลย

 

                ยาที่มีรูปแบบเป็น Extended-cycle 24/4 regimen อย่าง “มินิดอซ” จะมี “เม็ดยาหลอก” ซึ่งถือเป็น “ช่วงปลอดฮอร์โมน” สั้น ๆ เพียงแค่ 4 วัน ต่างจากยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมแบบ 28 เม็ดส่วนใหญ่ที่จะมี “เม็ดยาฮอร์โมน” 21 เม็ด กับ “เม็ดยาหลอก” 7 เม็ด และนี่ก็ถือเป็นจุดเด่นอีกประการของ “มินิดอซ” ค่ะ

ยาคุมฮอร์โมนรวมส่วนใหญ่มีช่วงปลอดฮอร์โมน 7 วัน แต่มินิดอซจะมี 4 วัน

                โดยพบว่ามีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีปัญหาประจำเดือนมามากผิดปกติหรือเกิดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome; PMS) เช่น อารมณ์แปรปรวน, หงุดหงิด, ซึมเศร้า, เครียด, ปวดศีรษะ, ปวดประจำเดือน หรือเจ็บคัดตึงเต้านม เพราะการที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำมากและมีช่วงปลอดฮอร์โมนสั้น จะช่วยให้ระดับฮอร์โมนในช่วงที่ได้รับฮอร์โมนและช่วงที่ปลอดฮอร์โมนไม่แปรปรวนมาก

                อย่างไรก็ตาม จากการที่มีปริมาณฮอร์โมนต่ำมาก จึงอาจพบปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ โดยเฉพาะถ้ารับประทานไม่ตรงเวลา

 

                นอกจากจุดเด่นในด้านคุณสมบัติของยาดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว “มินิดอซ” ยังมีจุดเด่นในด้านของบรรจุภัณฑ์และการใช้งานอีกด้วย โดยมีสติกเกอร์ “แถบช่วยจำสำหรับวันเริ่มรับประทานยา” แถมมาในกล่อง เพื่อให้ผู้ใช้สะดวกในการตรวจสอบการใช้ประจำวัน

มีแถบช่วยจำแถมมาในกล่องยาคุมมินิดอซ

 

                ในอดีต เคยมีความกังวลว่า ภาวะน้ำหนักเกิน หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) ตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป อาจลดประสิทธิภาพในการยับยั้งการตกไข่ ทำให้เสี่ยงที่จะล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์

                แต่จนถึงปัจจุบัน หลักฐานส่วนใหญ่บ่งชี้ว่า ปัจจัยดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ ของยาเม็ดคุมกำเนิด หากรับประทานถูกต้องและตรงเวลาสม่ำเสมอ

                ผู้ที่มีน้ำหนักและ BMI ที่เกินเกณฑ์ จึงสามารถใช้ “มินิดอซ” ได้ตามต้องการนะคะ

 

                อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีค่า BMI > 30 kg/m2 ถ้าใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม มีความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous thromboembolism; VTE) ได้มากกว่าผู้ที่ไม่ใช้

                ซึ่งแม้จะไม่ได้ถือเป็นข้อห้ามใช้ หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันร่วมด้วย แต่เพื่อความปลอดภัย ก็ควรเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น

                และควรพิจารณาทางเลือกอื่นแทนการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ในผู้ที่มีค่า BMI > 35 kg/m2

 

                ความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน จากการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม อาจแตกต่างกันไปตามโปรเจสตินที่ใช้ โดยพบว่า Gestodene เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดได้มากกว่า Levonorgestrel, Norethisterone หรือ Norgestimate

                และความเสี่ยงก็ขึ้นกับปริมาณของเอสโตรเจนด้วยค่ะ ซึ่งยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่ใช้โปรเจสตินตัวเดียวกัน สูตรที่ใช้ Ethinyl estradiol น้อยกว่า มีแนวโน้มว่าความเสี่ยงจะต่ำกว่า

                ดังนั้น หากจะใช้ยาคุมฮอร์โมนรวมที่มี Ethinyl estradiol และ Gestodene (หรือ ยาคุมสูตร EE/GSD) การเลือกยี่ห้อที่มี Ethinyl estradiol 0.015 มิลลิกรัม อย่าง “มินิดอซ” อาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่กังวล หรือต้องการลดความเสี่ยงดังกล่าว

 

                แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัว, ผู้ที่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะถ้ามีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป, ผู้ที่ต้องการใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากการคุมกำเนิด หรือผู้ที่รับประทานยาหรือสมุนไพรใด ๆ อยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้นะคะ

                เพราะแม้จะมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำมาก แต่หากมีการใช้อย่างไม่เหมาะสมก็อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ, เนื้องอกหรือมะเร็งบางชนิดที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ หรือการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง/โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

                และการใช้ร่วมกับยาหรือสมุนไพรบางอย่าง ก็อาจลดประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์

  

                ยาคุม “มินิดอซ” ผลิตในประเทศสเปน นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยโดย บริษัทเอ็กเซลทิส ประเทศไทย จำกัด (Exeltis Thailand Co.,Ltd.) มีราคาประมาณ 170 – 200 บาทค่ะ

ยาคุมมินิดอซ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, January 2019. (Amended July 2023)
  2. FSRH Guideline: Overweight, Obesity & Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, April 2019.
  3. U.S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  4. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use, 5th edition. World Health Organization, 2015.