กินยาคุม+นับวัน+หลั่งนอก จะท้องมั้ย

กินยาคุม+นับวัน+หลั่งนอก จะท้องมั้ย

                หากใช้การคุมกำเนิดหลายวิธีร่วมกัน ได้แก่ การรับประทานยาคุมรายเดือน, การนับวันปลอดภัย และการหลั่งนอก จะมีโอกาสท้องได้กี่เปอร์เซ็นต์

 

                ในช่วงที่ผู้หญิงมีไข่ตก หากอสุจิของผู้ชาย ผ่านช่องคลอดเข้าไปผสมกับไข่ แล้วตัวอ่อนที่เกิดจากการผสม เคลื่อนไปฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูกได้สำเร็จ ก็จะเกิดเป็นการตั้งครรภ์ตามมา

                การคุมกำเนิด จึงต้องไปขัดขวางไม่ให้ไข่และอสุจิมาผสมกัน หรือป้องกันไม่ให้ตัวอ่อนฝังตัวได้ค่ะ

 

                การนับระยะปลอดภัย เพื่อหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีไข่ตก แท้จริงแล้วมีอยู่หลายวิธีนะคะ แต่ที่มักจะคุ้นหูก็คือ การนับวันปลอดภัยหน้า 7 หลัง 7 ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงน้อยที่ไข่จะตกในช่วงเวลาดังกล่าว

                การนับวันปลอดภัยหน้า 7 หลัง 7 หากทำได้ถูกต้องและสมบูรณ์แบบทุก ๆ ครั้ง (Perfect use) จะมีโอกาสตั้งครรภ์ 5% อย่างไรก็ตาม การใช้ตามปกติทั่วไป (Typical use) ถือว่ามีโอกาสตั้งครรภ์ได้ 12%

                วิธีนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่มีรอบประจำเดือนสั้นกว่า 26 วัน หรือนานกว่า 32 วัน อีกทั้ง มีโอกาสล้มเหลวสูงขึ้นหากประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ซึ่งพบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่นและวัยใกล้หมดประจำเดือน

 

                ส่วนยาคุมรายเดือน มีกลไกหลักที่ใช้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ ก็คือ การทำให้ไม่มีไข่ตกค่ะ โดยเกือบทุกยี่ห้อจะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการตกไข่ได้ใกล้เคียง 100% ดังนั้น หากรับประทานถูกต้อง, เหมาะสม และตรงเวลาสม่ำเสมอ ผู้ใช้ก็น่าจะไม่มีไข่ตกในช่วงที่ใช้ยาคุม

                และแม้ว่าจะมียาคุมบางตัว ที่ประสิทธิภาพในการยับยั้งไข่ตกไม่สูงนัก แต่ก็มีกลไกอื่น ๆ มาช่วยเสริม เช่น การทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น จนอสุจิผ่านเข้าไปได้ยาก และการทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง เผื่อว่าถ้าอสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ แต่ก็จะไม่สามารถฝังตัวได้สำเร็จ จึงไม่มีการตั้งครรภ์ตามมา

                ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้ยาคุมรายเดือนตัวใดก็ตาม ถ้าใช้ถูกต้อง, เหมาะสม และตรงเวลาสม่ำเสมอ (Perfect use) การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีผลป้องกันจากยาคุมรายเดือน จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียงแค่ 0.3% นะคะ ส่วนการใช้ทั่ว ๆ ไป ที่ไม่เคร่งครัดนัก (Typical use) จะมีโอกาสตั้งครรภ์ 7%

 

                สำหรับการหลั่งนอก เป็นความพยายามในการป้องกันไม่ให้อสุจิผ่านช่องคลอดเข้าไปได้ค่ะ โดยฝ่ายชายจะต้องถอนอวัยวะเพศออกมาจากช่องคลอด เพื่อหลั่งน้ำอสุจิให้ห่างจากอวัยวะสืบพันธุ์ของฝ่ายหญิง

                หากทำได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์แบบทุก ๆ ครั้ง (Perfect use) จะมีโอกาสตั้งครรภ์ 4% อย่างไรก็ตาม หากไม่ชำนาญ การใช้วิธีหลั่งนอกตามปกติ (Typical use) ก็ถือว่ามีโอกาสตั้งครรภ์สูงถึง 20% นะคะ

 

                เมื่อเปรียบเทียบการคุมกำเนิดทั้ง 3 วิธีที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า หากต้องเลือกวิธีใดวิธีหนึ่ง การรับประทานยาคุมรายเดือนจะมีประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะที่การหลั่งนอก เสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดและล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์มากกว่าวิธีอื่น

                ซึ่งในระหว่างที่มีผลป้องกันจากยาคุมรายเดือนอยู่ ทุก ๆ วันก็คือวันปลอดภัย ที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีไข่ตก จึงไม่ต้องนับหน้า 7 หลัง 7 ให้ยุ่งยากค่ะ

                และถ้าใช้ยาคุมแล้วไม่มีไข่ตก ต่อให้อสุจิจะผ่านช่องคลอดเข้าไป ก็ไม่สามารถผสมกับไข่ได้อยู่ดี จึงสามารถหลั่งในได้เลยนะคะ

 

                หรือหากต้องการใช้วิธีหลั่งนอกร่วมกับการรับประทานยาคุมรายเดือน ก็สามารถทำได้ค่ะ โดยในระหว่างที่มีผลป้องกันจากยาคุมรายเดือน จากการรับประทานที่ถูกต้อง, เหมาะสม และตรงเวลาสม่ำเสมอ โอกาสตั้งครรภ์ก็คือ 0.3% ตามประสิทธิภาพสูงสุดของยาคุมรายเดือนนั่นเอง

                แต่ถ้าเกิดความผิดพลาดจากการใช้ยาคุมรายเดือน จนทำให้ประสิทธิภาพลดลง หรือไม่มีผลป้องกันได้อีก การหลั่งนอกก็อาจช่วยลดความเสี่ยงได้ โดยทำให้โอกาสตั้งครรภ์กลายเป็น 4% หากปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์แบบ

 

                อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เกิดความผิดพลาด จนไม่มีผลป้องกันจากยาคุมรายเดือน การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการหลั่งนอกนะคะ

                เพราะหากฝ่ายชายใช้ถุงยางได้ถูกวิธีและสมบูรณ์แบบทุก ๆ ครั้ง (Perfect use) โอกาสตั้งครรภ์จะมีเพียง 2% หรือแม้แต่การใช้โดยทั่วไป (Typical use) ซึ่งมีโอกาสตั้งครรภ์ 13% ก็ถือว่าโอกาสล้มเหลวมีน้อยกว่าการใช้วิธีหลั่งนอก อีกทั้งยังมีประโยชน์ในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วยค่ะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Trussell J, Aiken ARA, Mickes E, Guthrie K. Efficacy, Safety, and Personal Considerations. In: Contraceptive Technology, 21st ed, Hatcher RA, Nelson AL, Trussell J, et al (Eds), Ayer Company Publishers, Inc., New York 2018.
  2. Family planning: A Global Handbook for Providers, 2022 edition.