เปลี่ยนยาคุมธรรมดามาใช้คุมฉุกเฉิน

เปลี่ยนยาคุมธรรมดามาใช้คุมฉุกเฉิน

                “ยาคุมธรรมดา” หรือ “ยาคุมรายเดือน” สามารถนำมาใช้คุมกำเนิดฉุกเฉินได้หรือไม่ และต้องใช้อย่างไร แล้วประสิทธิภาพ รวมถึงผลข้างเคียง จะแตกต่างจาก “ยาคุมฉุกเฉิน” หรือเปล่า

 

                “ยาคุมธรรมดา” หรือ “ยาคุมรายเดือน” สามารถนำมาใช้คุมกำเนิดฉุกเฉินได้ค่ะ โดยรู้จักกันในชื่อว่า Yuzpe regimen หรือ Yuzpe method

                และจัดเป็นยาคุมฉุกเฉินชนิดฮอร์โมนรวม (Combined estrogen – progestin ECPs; combined ECPs)

                ซึ่งเป็นการรับประทานยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ให้ได้ตัวยาฮอร์โมนเอสโตรเจน Ethinyl estradiol ครั้งละ 100 ไมโครกรัม (หรือเท่ากับ 0.1 มิลลิกรัม) และตัวยาฮอร์โมนโปรเจสติน Levonorgestrel 0.5 มิลลิกรัม1-4 หรือ Norgestrel 1 มิลลิกรัม2

                โดยให้รับประทาน 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง

 

                ตัวอย่างของการนำ “ยาคุมธรรมดา” มาใช้ในขนาดสูงเพื่อหวังผลคุมกำเนิดฉุกเฉิน ได้แก่…

สูตรยา

ยี่ห้อ

จำนวนเม็ด

ครั้งแรก

12 ชั่วโมงถัดมา

EE 0.02 mg + LNG 0.10 mg

โลล่า (Lola)

ไลน่า (Lina)

5

5

EE 0.03 mg + LNG 0.15 mg

ดิออร์รา 21 (Diora 21)

เลอร์เมร่า (Lermera)

นอร์เกสเต้ (Norgeste)

4

4

แอนนา (Anna)

ไมโครเลนิน 30 อีดี (Microlenyn 30 ED)

เม็ดสีเหลือง

4

เม็ดสีเหลือง

4

ดิออร์รา 28 (Diora 28)

อาร์เดน (R-den)

โซฟี่ 28 (Sophie 28)

ไมโครไกนอน 30 อีดี (Microgynon 30 ED)

เม็ดสีขาว

4

เม็ดสีขาว

4

EE 0.05 mg + NG 0.50 mg

เจนนี่ เอฟ.เอ็ม.พี. (Jeny F.M.P.)

มาร์นอน (Marnon)

เม็ดสีขาว

2

เม็ดสีขาว

2

หมายเหตุ: EE = Ethinyl estradiol, LNG = Levonorgestrel, NG = Norgestrel

 

                และเคยมีการจำหน่ายยาคุมฉุกเฉินชนิดฮอร์โมนรวม ยี่ห้อ PREVEN ในบางประเทศ ซึ่งในแผงจะมีเม็ดยา 4 เม็ด โดยแต่ละเม็ดมีตัวยาฮอร์โมนเอสโตรเจน Ethinyl estradiol 50 ไมโครกรัม (หรือเท่ากับ 0.05 มิลลิกรัม) และตัวยาฮอร์โมนโปรเจสติน Levonorgestrel 0.25 มิลลิกรัม

                เมื่อรับประทาน PREVEN ครั้งละ 2 เม็ด รวม 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง ก็จะได้ตัวยาฮอร์โมนเอสโตรเจน Ethinyl estradiol ครั้งละ 100 ไมโครกรัม (หรือเท่ากับ 0.1 มิลลิกรัม) และตัวยาฮอร์โมนโปรเจสติน Levonorgestrel 0.5 มิลลิกรัม นั่นเองนะคะ

ขอบคุณภาพประกอบจาก https://ids.si.edu/ids/deliveryService?id=NMAH-AHB2010q03584-001&max=1000

 

                อย่างไรก็ตาม พบผลข้างเคียงได้มาก จากการใช้ฮอร์โมนรวมในขนาดสูงเพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉิน โดยเฉพาะอาการคลื่นไส้ ที่พบได้ประมาณ 50% และอาเจียน ที่พบได้ประมาณ 20% โดยมักเกิดขึ้นภายใน 24 – 48 ชั่วโมงหลังรับประทาน ซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถทนใช้ยาต่อให้ครบขนาด หรือสูญเสียยาไปกับการอาเจียนหลังรับประทาน

 

                อีกทั้ง ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินชนิดฮอร์โมนรวม ก็ยังด้อยกว่ายาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาฮอร์โมนโปรเจสติน

                ยกตัวอย่างก็คือ ในจำนวน 100 คนที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันหนึ่งครั้ง ในสัปดาห์ที่ 2 หรือ 3 ของรอบประจำเดือน และไม่ได้คุมกำเนิดฉุกเฉิน จะมี 8 คนที่ตั้งครรภ์2

                แต่ถ้าใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดฮอร์โมนรวม (เช่น การนำ “ยาคุมธรรมดา” มาใช้ในขนาดสูงเพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉิน) จะช่วยลดโอกาสตั้งครรภ์จาก 8 คนให้เหลือ 2 คน2

                ในขณะที่ถ้าใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (ซึ่งก็คือยาคุมฉุกเฉินที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทยและอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก) จะช่วยลดโอกาสตั้งครรภ์จาก 8 คนให้เหลือเพียง 1 คน2

 

                นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาฮอร์โมนโปรเจสติน ก็สามารถหาซื้อได้ง่าย และมีราคาไม่แพง จึงเป็นที่นิยมมากกว่าค่ะ

 

 

                เมื่อมีเหตุจำเป็นให้ต้องคุมกำเนิดฉุกเฉิน ควรทำทันทีที่ทำได้ ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หรืออย่างช้า ไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์

                หากพิจารณาถึงประสิทธิภาพ และความปลอดภัย การใช้ “ยาคุมฉุกเฉิน” จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับการนำ “ยาคุมธรรมดา” มาใช้คุมกำเนิดฉุกเฉินนะคะ

 

                แต่ในกรณีที่ไม่สามารถเข้าถึง “ยาคุมฉุกเฉิน” ได้ทันเวลา แล้วมี “ยาคุมธรรมดา” ให้ใช้ได้ ก็สามารถนำ “ยาคุมธรรมดา” บางยี่ห้อ มารับประทานในขนาดสูงเพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉินได้ค่ะ เพราะแม้ว่าจะประสิทธิภาพจะด้อยกว่า แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ใช้เลย

                โดยอาจรับประทานยาแก้อาเจียนก่อน 1 ชั่วโมง เพื่อลดผลข้างเคียงเรื่องคลื่นไส้อาเจียนที่อาจเกิดขึ้น

                และหากอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมง1,2 หรือภายใน 3 ชั่วโมง3,4 หลังรับประทาน ก็จะต้องรับประทานซ้ำอีกครั้งทันทีที่ทำได้ เพื่อทดแทนยาที่อาจปนออกมากับอาเจียนด้วยนะคะ

 

                อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องหลีกเลี่ยง หรือทนผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่ได้ แม้จะไม่ถือเป็นข้อจำกัดในการนำ “ยาคุมธรรมดา” มาใช้ในระยะสั้น ๆ เพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉิน2 แต่การเลือกยาคุมฉุกเฉินชนิดฮอร์โมนเดี่ยว น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าค่ะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Selected Practice Recommendationsfor Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
  2. Family planning; A Global Handbook for Providers, 4th edition. World Health Organization, 2022.
  3. U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  4. Upadhya KK, AAP Committee on Adolescence. Emergency Contraception. Pediatrics. 2019; 144(6): e20193149.