นอกจากจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ยาคุมบางยี่ห้อก็ยังมีผลต้านฤทธิ์แอนโดรเจน จึงอาจเป็นทางเลือกในการคุมกำเนิด สำหรับผู้หญิงที่มีปัญหาเรื่องสิว, หน้ามัน หรือขนดก
ยาคุมที่ช่วยลดสิว ด้วยการต้านฤทธิ์แอนโดรเจน ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย จัดแบ่งตามสูตรยาได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
-
ยาคุมสูตร Ethinyl estradiol 0.035 มิลลิกรัม + Cyproterone acetate 2 มิลลิกรัม
เนื่องจาก Cyproterone acetate มีผลต้านฤทธิ์แอนโดรเจนสูงกว่าฮอร์โมนโปรเจสตินตัวอื่น ๆ ยาคุมสูตรนี้จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับใช้เพื่อคุมกำเนิด ในผู้หญิงที่มีปัญหาสิวในระดับปานกลางถึงรุนแรง ซึ่งไม่มีข้อห้ามใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม
ยาคุมสูตร Ethinyl estradiol 0.035 มิลลิกรัม + Cyproterone acetate 2 มิลลิกรัม (EE 0.035 mg + CPA 2 mg) มีหลากหลายยี่ห้อ ทั้งแบบ 21 เม็ด และ 28 เม็ด แต่เนื่องจากมี “ไดแอน-35” (Diane-35) เป็นยาคุมต้นแบบ จึงอาจมีการเรียกยาคุมในกลุ่มนี้ว่า “ยาคุมสูตรไดแอน” ค่ะ
แม้จะจัดเป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนต่ำ (Low dose pills) แต่เมื่อเทียบกับยาคุมที่มีผลต้านฤทธิ์แอนโดรเจนด้วยกันแล้ว จะพบว่ายาคุมสูตรไดแอนมี Ethinyl estradiol มากที่สุด นั่นคือ เม็ดละ 0.035 มิลลิกรัม
ดังนั้น ผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ บวมน้ำ หรือการเกิดฝ้า แม้จะเกิดขึ้นน้อยกว่ายาคุมชนิดฮอร์โมนสูง (High dose pills) แต่ก็อาจพบได้มากกว่ายาคุมในกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งมีปริมาณ 0.030 มิลลิกรัม หรือ 0.020 มิลลิกรัม
ตัวอย่างของยาคุมสูตร EE 0.035 mg + CPA 2 mg มีดังนี้
ยี่ห้อ : ไดแอน-35 (Diane-35) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ ราคา : 180 – 220 บาท |
|
ยี่ห้อ : เจซี่ (Jezy) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 130 – 170 บาท |
|
ยี่ห้อ : โอซี-35 (OC-35) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ ราคา : 110 – 140 บาท |
|
ยี่ห้อ : แดฟเน่ 35 (Dafne 35) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ ราคา : 110 – 140 บาท |
|
ยี่ห้อ : ซูซี่ (Sucee) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 100 – 130 บาท |
|
ยี่ห้อ : ซูซี่ 28 (Sucee 28) รูปแบบ : ยาคุม 28 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 100 – 130 บาท |
|
ยี่ห้อ : บี-เลดี้ (B-Lady) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 100 – 130 บาท |
|
ยี่ห้อ : บีริซ (Beriz) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 100 – 130 บาท |
|
ยี่ห้อ : ลอร่า-35 (Laura-35) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 100 – 130 บาท |
|
ยี่ห้อ : พรีม (Preme) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 100 – 130 บาท |
|
ยี่ห้อ : พรีม 28 (Preme 28) รูปแบบ : ยาคุม 28 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 100 – 130 บาท |
|
ยี่ห้อ : เดอมูท (Dermooth) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 90 – 120 บาท |
|
ยี่ห้อ : เฮเลน (Helen) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 90 – 120 บาท |
|
ยี่ห้อ : มาร์เกร็ต พิงค์ (Margret pink) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 90 – 120 บาท |
|
ยี่ห้อ : แอนนี (Annie) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 80 – 100 บาท |
|
ยี่ห้อ : ซาชา (Sasha) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 80 – 100 บาท |
|
ยี่ห้อ : มาโนแอน (Manoane) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 80 – 110 บาท |
-
ยาคุมสูตร Ethinyl estradiol 0.030 มิลลิกรัม + Drospirenone 3 มิลลิกรัม
แม้ผลต้านฤทธิ์แอนโดรเจนจะน้อยกว่ายาคุมในกลุ่มแรก แต่ Drospirenone ก็ยังมีผลขับปัสสาวะอย่างอ่อน จึงช่วยลดน้ำหนักที่เพิ่มจากการบวมน้ำได้ด้วย
ยาคุมสูตรนี้จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับใช้เพื่อคุมกำเนิด ในผู้หญิงที่มีปัญหาสิวในระดับปานกลาง และกังวลเรื่องน้ำหนัก แต่ไม่มีข้อห้ามใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม
ยาคุมสูตร Ethinyl estradiol 0.030 มิลลิกรัม + Drospirenone 3 มิลลิกรัม (EE 0.030 mg + DRSP 3 mg) ที่ขึ้นทะเบียนและจำหน่ายอยู่ในประเทศไทย มีเฉพาะรูปแบบ 21 เม็ด และเนื่องจากมี “ยาสมิน” (Yasmin) เป็นต้นแบบ จึงอาจเรียกยาคุมในกลุ่มนี้ว่า “ยาคุมสูตรยาสมิน”
ยาคุมสูตรยาสมิน จัดเป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนต่ำ (Low dose pills) ผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ บวมน้ำ หรือการเกิดฝ้า จึงน้อยกว่ายาคุมชนิดฮอร์โมนสูง (High dose pills)
อย่างไรก็ตาม หากผู้ใช้ทนผลข้างเคียงดังกล่าวไม่ได้ หรือต้องการลดผลข้างเคียงดังกล่าว ก็อาจพิจารณาการใช้ยาคุมสูตร EE 0.020 mg + DRSP 3 mg แทนนะคะ
ตัวอย่างของยาคุมสูตร EE 0.030 mg + DRSP 3 mg มีดังนี้
ยี่ห้อ : ยาสมิน (Yasmin) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ ราคา : 370 – 420 บาท |
|
ยี่ห้อ : เมโลเดีย (Melodia) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ ราคา : 280 – 310 บาท |
|
ยี่ห้อ : จัสติมา (Justima) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ ราคา : 270 – 290 บาท |
-
ยาคุมสูตร Ethinyl estradiol 0.020 มิลลิกรัม + Drospirenone 3 มิลลิกรัม
แม้จะใช้ฮอร์โมนชนิดเดียวกันกับยาคุมในกลุ่มที่ 2 แต่เนื่องจากมี Ethinyl estradiol เพียง 0.020 มิลลิกรัม จึงทำให้ผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง
ยาคุมสูตร Ethinyl estradiol 0.020 มิลลิกรัม + Drospirenone 3 มิลลิกรัม (EE 0.020 mg + DRSP 3 mg) หรือเรียกตาม “ยาส” (Yaz) ที่เป็นต้นแบบว่า “ยาคุมสูตรยาส” เป็นยาคุมแบบ 28 เม็ด โดยมีเม็ดยาฮอร์โมน 24 เม็ด และเม็ดยาหลอก 4 เม็ด
การที่มีปริมาณฮอร์โมนต่ำมาก และมีช่วงปลอดฮอร์โมนสั้น ทำให้ระดับฮอร์โมนในช่วงที่ได้รับฮอร์โมนและช่วงที่ปลอดฮอร์โมนไม่แปรปรวนมาก จึงช่วยลดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome; PMS) เช่น อารมณ์แปรปรวน, หงุดหงิด, ซึมเศร้า, เครียด, ปวดศีรษะ, ปวดประจำเดือน หรือเจ็บคัดตึงเต้านมได้
ยาคุมสูตรนี้จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับใช้เพื่อคุมกำเนิด ในผู้หญิงที่มีปัญหาสิวในระดับปานกลาง ซึ่งมีความกังวลเรื่องน้ำหนัก และต้องการลดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน แต่ไม่มีข้อห้ามใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม
ตัวอย่างของยาคุมสูตร EE 0.020 mg + DRSP 3 mg มีดังนี้
ยี่ห้อ : ยาส (Yaz) รูปแบบ : ยาคุม 28 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ ราคา : 420 – 460 บาท |
|
ยี่ห้อ : ซินโฟเนีย (Synfonia) รูปแบบ : ยาคุม 28 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ ราคา : 350 – 390 บาท |
|
ยี่ห้อ : เฮอร์ซ (Herz) รูปแบบ : ยาคุม 28 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคา : 290 – 330 บาท |
-
ยาคุมสูตร Ethinyl estradiol 0.030 มิลลิกรัม + Chlormadinone acetate 2 มิลลิกรัม
ยาคุมสูตร Ethinyl estradiol 0.030 มิลลิกรัม + Chlormadinone acetate 2 มิลลิกรัม (EE 0.030 mg + CMA 2 mg) ที่ขึ้นทะเบียนและจำหน่ายอยู่ในประเทศไทย มี 2 ยี่ห้อ ซึ่งเป็นยาคุมแบบ 21 เม็ดทั้งคู่ โดยอาจเรียกยาคุมในกลุ่มนี้ว่า “ยาคุมสูตรบีลาร่า” ตามยี่ห้อ “บีลาร่า” (Belara) ซึ่งเป็นต้นแบบค่ะ
Chlormadinone acetate มีผลต้านฤทธิ์แอนโดรเจน แต่ไม่มีผลต้านการบวมน้ำ ยาคุมสูตรนี้จึงอาจเป็นทางเลือกสำหรับใช้เพื่อคุมกำเนิด ในผู้หญิงที่มีปัญหาสิวในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งไม่มีข้อห้ามใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม
ยาคุมสูตรบีลาร่า จัดเป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนต่ำ (Low dose pills) ผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ บวมน้ำ หรือการเกิดฝ้า จึงน้อยกว่ายาคุมชนิดฮอร์โมนสูง (High dose pills)
ตัวอย่างของยาคุมสูตร EE 0.030 mg + CMA 2 mg มีดังนี้
ยี่ห้อ : บีลาร่า (Belara) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ ราคา : 300 – 350 บาท |
|
ยี่ห้อ : ชาริว่า (Chariva) รูปแบบ : ยาคุม 21 เม็ด การขึ้นทะเบียนยา : ยานำเข้าจากต่างประเทศ ราคา : 240 – 280 บาท |
แม้ว่ายาคุมจะมีประโยชน์ในการป้องกันการตั้งครรภ์ อีกทั้งบางสูตรก็สามารถลดปัญหาเรื่องสิว, หน้ามัน หรือขนดกได้ด้วย แต่ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดนะคะ
โดยองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicines Agency; EMA) ชี้ว่า1 ในขณะที่ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งไม่ได้ใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม และไม่ได้อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอดบุตร พบการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด 2 ราย ต่อ 10,000 คนต่อปี
ผู้ใช้ยาคุมสูตร Ethinyl estradiol + Cyproterone acetate (กลุ่มที่ 1) หรือ Ethinyl estradiol +Drospirenone (กลุ่มที่ 2 และ 3) จะพบการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดที่สูงกว่ามาก นั่นคือ 9 – 12 ราย ต่อ 10,000 คนต่อปี
ส่วนผู้ใช้ยาคุมสูตร Ethinyl estradiol + Levonorgestrel (D-norgestrel) และ Ethinyl estradiol + Norethisterone (Norethindrone) ที่มีปริมาณ Ethinyl estradiol ไม่เกินเม็ดละ 0.030 มิลลิกรัม ซึ่งแนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกแรกสำหรับการคุมกำเนิดด้วยยาเม็ดฮอร์โมนรวม พบการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดได้น้อยกว่า นั่นคือ 5 – 7 ราย ต่อ 10,000 คนต่อปี
สำหรับยาคุมสูตร Ethinyl estradiol + Clormadinone acetate (กลุ่มที่ 4) แม้ว่ายังไม่มีข้อสรุปจากองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม มีบางการศึกษาที่ระบุว่า อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับยาคุมสูตร Ethinyl estradiol + Levonorgestrel2
จะเห็นได้ว่า การใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ซึ่งอาจสูงกว่าที่กล่าวไปข้างต้น หากมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือมีการใช้ยาคุมอย่างไม่เหมาะสม
เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว รวมถึงการเกิดมะเร็งบางชนิดที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ หรือการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง/โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือไม่มั่นใจว่ามีข้อจำกัดในการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์/สูตินรีแพทย์ก่อนใช้ด้วยนะคะ
เอกสารอ้างอิง
- FSRH Guideline: Combined hormonal contraception. January 2019 (Amended November 2020).
- Schink T, Princk C, Braitmaier M, Haug U. Use of combined oral contraceptives and risk of venous thromboembolism in young women: a nested case-control analysis using German claims data. BJOG. 2022; 129(13): 2107 – 2116.