ใช้ยาคุมแบบ 21 เม็ดมา 3 – 4 แผงแล้ว ต่อมาก็ไปฉีดยาคุมแบบ 1 เดือน ทั้งที่ยาคุมยังไม่หมดแผง ต้องรับประทานยาคุมต่ออีกมั้ย และควรรอกี่วันถึงจะมีอะไรกันได้
การเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิด จากยาเม็ดรับประทาน ไปเป็นการฉีดยาคุม อาจมีคำแนะนำที่แตกต่างกัน ขึ้นกับแหล่งข้อมูลที่นำมาอ้างอิง รวมถึงชนิดของยาคุมที่ใช้ด้วยค่ะ
โดยแนวทางปฏิบัติที่มีส่วนใหญ่ จะใช้สำหรับยาคุมที่ฉีดทุก 2 เดือนและ 3 เดือน ซึ่งเป็นยาฉีดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว แต่ไม่ครอบคลุมถึงยาคุมที่ฉีดทุก 1 เดือน ซึ่งเป็นยาฉีดชนิดฮอร์โมนรวม
ในขณะที่ คู่มือการวางแผนของครอบครัว ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) มีคำแนะนำไว้สำหรับยาฉีดคุมกำเนิดทั้ง 2 ชนิด
โดยการเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนรูปแบบใด ๆ ไปเป็นยาคุมชนิดที่ฉีดทุก1 เดือน มีคำแนะนำว่า หากใช้วิธีคุมกำเนิดดังกล่าวอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ หรือมีเหตุให้เชื่อได้ว่าไม่มีการตั้งครรภ์ สามารถฉีดยาคุมแบบ 1 เดือนได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ประจำเดือนมาก่อน และไม่จำเป็นจะต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ร่วมด้วยค่ะ
อย่างไรก็ตาม หากนำแนวทางปฏิบัติในการฉีดยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ซึ่งต้องฉีดทุก 2 หรือ 3 เดือน ที่ระบุไว้ในคู่มือการวางแผนครอบครัวขององค์การอนามัยโลก มาเปรียบเทียบกับคำแนะนำของ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention; CDC), สมาคมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Family Physicians; AAFP) และ คณะอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ สหราชอาณาจักร (Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare; FSRH) จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันดังนี้
การเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดจาก ยาคุมฮอร์โมนรวมแบบ 21 เม็ด ไปเป็น ยาฉีดฮอร์โมนเดี่ยว (ยาคุมที่ฉีดทุก 2 หรือ 3 เดือน) |
||
WHO1 |
ถ้ารับประทานยาคุมถูกต้องสม่ำเสมอ หรือเชื่อได้ว่าไม่ตั้งครรภ์ ก็เริ่มฉีดยาคุมได้เลย ไม่ต้องรอจนหมดแผง และไม่ต้องรอประจำเดือนมาก่อน
มีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ โดยไม่จำเป็นจะต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย |
|
AAFP2 |
ถ้าเชื่อได้ว่าไม่ตั้งครรภ์ ก็เริ่มฉีดยาคุมได้เลย ไม่ต้องรอจนหมดแผง และไม่ต้องรอประจำเดือนมาก่อน
แต่ให้รับประทานยาคุมต่อ หรือ ใช้ถุงยางป้องกัน หรือ งดมีเพศสัมพันธ์ ไปอีก 7 วัน |
|
CDC3 |
ถ้าเชื่อได้ว่าไม่ตั้งครรภ์ ก็เริ่มฉีดยาคุมได้เลย ไม่ต้องรอจนหมดแผง และไม่ต้องรอประจำเดือนมาก่อน
แต่ถ้าไม่ได้ฉีดเข็มแรกภายใน 7 วันแรกที่มีประจำเดือน ให้รับประทานยาคุมต่อ หรือ ใช้ถุงยางป้องกัน หรือ งดมีเพศสัมพันธ์ ไปอีก 7 วัน |
|
FSRH4 |
ถ้าเริ่มฉีดเข็มแรกตรงกับ วันที่ 1 – 2 ของการเว้นว่าง |
มีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ โดยไม่จำเป็นจะต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย |
ถ้าเริ่มฉีดเข็มแรกตรงกับ วันที่ 3 – 7 ของการเว้นว่าง หรือ เม็ดที่ 1 – 7 ของแผง |
ถ้าในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันไปแล้ว ให้รับประทานยาคุมต่ออีก 7 วัน |
|
ถ้ายังไม่มีเพศสัมพันธ์ ให้รับประทานยาคุมต่อ หรือ ใช้ถุงยางป้องกัน หรือ งดมีเพศสัมพันธ์ ไปอีก 7 วัน |
||
ถ้าเริ่มฉีดเข็มแรกตรงกับ เม็ดที่ 8 – 21 ของแผง |
ถ้ารับประทานยาคุมถูกต้องสม่ำเสมอ ติดต่อกันอย่างน้อย 7 วันก่อนฉีดยาคุม ก็มีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ โดยไม่จำเป็นจะต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย |
แม้แนวทางปฏิบัติในตารางข้างต้น จะเป็นคำแนะนำสำหรับยาฉีดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงการใช้ยาฉีดชนิดฮอร์โมนรวมที่ผู้ถามได้ใช้ แต่ก็มีข้อสังเกต 2 ประการนะคะ
ประการแรก ถ้าเทียบจากแหล่งอ้างอิงเดียวกัน คือ คู่มือการวางแผนครอบครัวขององค์การอนามัยโลก ซึ่งกำหนดแนวทางปฏิบัติไว้สำหรับยาฉีดคุมกำเนิดทั้ง 2 ชนิด ก็มีคำแนะนำที่ตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนยาเม็ดคุมกำเนิด ไปเป็นยาฉีดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวหรือฮอร์โมนรวม
และประการที่สอง ถ้าเทียบจากยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวเหมือนกัน คำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา, สมาคมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งสหรัฐอเมริกาและคณะอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ สหราชอาณาจักร จะใช้หลักเกณฑ์ที่มีความเข้มงวดมากกว่าองค์การอนามัยโลก
ดังนั้น แม้ถ้ายึดตามคู่มือการวางแผนครอบครัว ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานในการให้บริการทางสาธารณสุข จะสามารถแนะนำได้ว่า หากผู้ถามรับประทานยาคุมถูกต้องสม่ำเสมอ หลังฉีดยาคุมแบบ 1 เดือนแล้วก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เลย และไม่จำเป็นจะต้องรับประทานยาคุมต่อ
แต่ผู้ให้คำปรึกษา อาจนำแนวทางปฏิบัติของยาคุมแบบที่ฉีดทุก 3 เดือนจากแหล่งอ้างอิงอื่น มาปรับใช้ในกรณีนี้เพื่อให้มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยหวังว่าจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการตั้งครรภ์ เช่น แนะนำให้งดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน หรือมีเพศสัมพันธ์ได้โดยใช้วิธีป้องกันสำรอง เช่น รับประทานยาคุมต่อ หรือใช้ถุงยางทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไปอีก 7 วันหลังฉีดยาคุมเข็มแรกค่ะ
เอกสารอ้างอิง
- Family planning: A Global Handbook for Providers, 2022 edition.
- How to switch birth control methods. Am Fam Physician. 2011 Mar 1; 83(5): 575 – 6.
- U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
- FSRH CEU Guidance: Progestogen-only Injectable Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, December 2014. (Amended July 2023)