กินยาคุม 28 เม็ด ประจำเดือนจะมาตอนไหน

                แม้จะมีจำนวนเม็ดยาในแผงเท่ากัน แต่ยาคุม 28 เม็ดก็มีหลายรูปแบบ ซึ่งส่งผลให้ช่วงเวลาที่คาดว่าจะมีประจำเดือนมาของแต่ละยี่ห้ออาจแตกต่างกันได้

                โดยในบทความนี้ จะจัดแบ่งยาคุม 28 เม็ดออกเป็น 3 กลุ่ม ตามจำนวนของ “เม็ดยาฮอร์โมน” กับ “เม็ดยาหลอก” ที่มีอยู่ในแผง ดังนี้

 

  1. “เม็ดยาฮอร์โมน” 21 เม็ด + “เม็ดยาหลอก” 7 เม็ด

                เมื่อรับประทานถูกต้องและไม่มีการตั้งครรภ์ ผู้ใช้ยาคุม 28 เม็ด สูตร 21/7 ควรมีประจำเดือนในระหว่างที่ใช้ “เม็ดยาหลอก” ในแผง

                โดยประจำเดือนมักจะมาหลังจากที่รับประทาน “เม็ดยาฮอร์โมน” หมดไปแล้วประมาณ 2 – 3 วัน ซึ่งตรงกับช่วงที่ใช้ “เม็ดยาหลอก” เม็ดที่ 3 หรือ 4 นั่นเอง (หรืออาจคลาดเคลื่อนไปจากที่คาดการณ์ไว้บ้างเล็กน้อย)

 

                หากในแผงระบุลำดับการใช้เป็นตัวเลข 1 – 28 เช่นยาคุมยี่ห้อ “แอนนี่ ลินน์ 28” (Annylyn 28), “คาเมลล่า 28” (Camella 28), “คลาเรนซ์ 28” (Clarenz 28), “ดิออร์รา 28” (Diora 28), “ฟีมีน 30” (Femine 30), “โกวานา อีดี” (Govana ED), “เลสซิลอน 28” (Lescilon 28), “มาร์กาเร็ต เอ็กซ์โอ” (Margaret X.O.), “มาร์วีลอน 28” (Marvelon 28), “เมลลิแอน อีดี” (Meliane ED), “เมอซิลอน 28” (Mercilon 28), “ไมโครเลนิน 30 ท.ว.” (Microlenyn 30 ED), “มินนี่ 28” (Minny 28), “ออนเจล 20” (Onjel 20), “พรีม 28” (Preme 28), “ริเกวิดอน” (Rigevidon), “ริต้า 28” (Rita 28), “โซฟี่ 28” (Sophie 28) และ “ซูซี่ 28” (Sucee 28) ก็คาดการณ์ได้ว่าน่าจะมีประจำเดือนมาตรงกับเม็ดยาในลำดับที่ 24 หรือ 25 ของแผง

                ถ้าใช้ไปจนหมดแผงแล้วแต่ยังไม่มีประจำเดือนมา แนะนำให้ตรวจการตั้งครรภ์ด้วยชุดทดสอบทางปัสสาวะ ในตอนเช้าหลังตื่นนอน ของวันที่ครบกำหนดต่อยาคุมแผงใหม่

                และหากผลตรวจออกมาเป็นไม่ตั้งครรภ์ ก็ควรต่อยาคุมแผงใหม่ตามกำหนด เพื่อให้มีผลคุมกำเนิดที่ต่อเนื่องค่ะ

 

                แต่ถ้ามีเพียงลูกศรระบุลำดับการใช้ เช่นยาคุมยี่ห้อ “อานาไม” (Anamai), “แอนนา” (Anna), “เจนนี่ เอฟ.เอ็ม.พี.” (Jeny F.M.P.), “มาร์นอน” (Marnon), “วันเดย์” (Oneday) และ “อาร์เดน” (R-den) ก็คาดคะเนแบบง่าย ๆ ได้ว่า ประจำเดือนน่าจะมาในช่วงกลางแถวสุดท้ายของแผง

                หากรับประทานครบ 28 เม็ดแล้วก็ยังไม่มีประจำเดือนมา ในวันรุ่งขึ้นควรตรวจการตั้งครรภ์ด้วยชุดทดสอบทางปัสสาวะหลังตื่นนอนตอนเช้า แล้วจึงค่อยต่อยาคุมแผงใหม่ตามกำหนดหากผลตรวจออกมาเป็นไม่ตั้งครรภ์

 

                ส่วนยาคุม 28 เม็ดที่กำหนดให้เริ่มรับประทานเม็ดยาในแถบสีแดงก่อนส่วนอื่น ได้แก่ ยาคุมยี่ห้อ “ไมโครไกนอน 30 ทว.” (Microgynon 30 ED) ประจำเดือนก็จะมาในช่วงที่เป็นแถบสีแดง โดยน่าจะมาตรงกับวันจันทร์หรือวันอังคารค่ะ

blank

                ถ้าไม่มีประจำเดือนมาในช่วงที่รับประทานเม็ดสีขาว ควรตรวจการตั้งครรภ์ด้วยชุดทดสอบทางปัสสาวะในตอนเช้าหลังตื่นนอน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้มีการตั้งครรภ์ ก่อนที่จะเริ่มใช้เม็ดสีเหลืองตามกำหนดนะคะ

 

  1. “เม็ดยาฮอร์โมน” 24 เม็ด + “เม็ดยาหลอก” 4 เม็ด

                ยาคุม 28 เม็ด สูตร 24/4 ได้แก่ ยาคุมยี่ห้อ “เฮอร์ซ” (Herz), “มินิดอซ” (Minidoz), “ไมนอซ” (Minoz), “สลินดา” (Slinda), “ซินโฟเนีย” (Synfonia) และ “ยาส” (Yaz) จะจัดเรียง “เม็ดยาฮอร์โมน” ไว้เป็น 24 ลำดับแรก แล้วจึงต่อด้วย “เม็ดยาหลอก”เป็น 4 ลำดับสุดท้าย

                และเนื่องจากประจำเดือนของผู้ใช้มักจะมาตรงกับ “เม็ดยาหลอก” เม็ดที่ 3 หรือ 4 ดังนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่า ประจำเดือนของผู้ใช้น่าจะมาตรงกับเม็ดยาในลำดับที่ 27 หรือ 28 ของแผงนั่นเอง

blank

 

                อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นยาคุมสูตร 24/4 เหมือนกัน แต่ผู้ใช้ “สลินดา” ก็อาจจะพบปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอย ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือไม่มีประจำเดือน ซึ่งเป็นผลข้างเคียงเด่น ๆ ของยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ได้มากกว่าผู้ใช้ “เฮอร์ซ”, “มินิดอซ”, “ไมนอซ”, “ซินโฟเนีย” และ “ยาส” ซึ่งเป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม

                แต่เพื่อความชัดเจนว่าไม่ได้มีการตั้งครรภ์อยู่ หากใช้ยาคุมสูตร 24/4 ยี่ห้อใดก็ตามจนครบ 28 เม็ดแล้วก็ยังไม่มีประจำเดือนมา แนะนำให้ตรวจการตั้งครรภ์ด้วยชุดทดสอบทางปัสสาวะ ในตอนเช้าหลังตื่นนอน ของวันที่ครบกำหนดต่อยาคุมแผงใหม่ค่ะ

 

  1. “เม็ดยาฮอร์โมน” 28 เม็ด / ไม่มี “เม็ดยาหลอก”

                “ซีราเซท” (Cerazette), “เดลิต้อน” (Dailyton) และ “เอ็กซ์ลูตอน” (Exluton) เป็นยาคุม 28 เม็ดที่ทุก ๆ เม็ดในแผงคือ “เม็ดยาฮอร์โมน”

                เมื่อต้องรับประทานยาคุมต่อเนื่องกันทุกวันโดยไม่เว้นว่าง และไม่มี “เม็ดยาหลอก” อยู่ในแผงเลย จึงถือว่าการใช้ยาคุมในกลุ่มนี้จะไม่มีช่วงปลอดฮอร์โมนนะคะ

                และผลข้างเคียงเด่นที่พบได้จากการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ซึ่งมีเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสติน คือ การมีเลือดออกกะปริบกะปรอย ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือไม่มีประจำเดือน (แต่ยาคุมชนิดนี้ก็ถือมีความปลอดภัยสูง และพบผลข้างเคียงอื่น ๆ น้อยกว่ายาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งมีทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสติน)

 

                ผู้ใช้ “ซีราเซท”, “เดลิต้อน” และ “เอ็กซ์ลูตอน จึงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีประจำเดือนมาหรือไม่ และน่าจะมาตรงกับเม็ดใดในแผง

blank

                อย่างไรก็ตาม ถ้ารับประทานยาคุมถูกต้องและตรงเวลาสม่ำเสมอ ก็มีความเสี่ยงน้อยมากที่จะตั้งครรภ์ จึงไม่ต้องกังวลหากใช้ยาคุมชนิดนี้ไปจนหมดแผงแล้วแต่ยังไม่มีประจำเดือนมา และสามารถต่อแผงใหม่ได้ตามกำหนดเพื่อให้มีผลคุมกำเนิดที่ต่อเนื่องกันค่ะ

 

                แต่ในกรณีที่รับประทานยาคุมไม่ค่อยตรงเวลา โดยเฉพาะเมื่อใช้ “เดลิต้อน” หรือ “เอ็กซ์ลูตอน” ช้ากว่าปกติมากกว่า 3 ชั่วโมง หรือ ใช้ “ซีราเซท” ช้ากว่าปกติมากกว่า 12 ชั่วโมง ก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ได้นะคะ หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางป้องกันร่วมด้วย ในช่วงที่ไม่มีผลคุมกำเนิดจากยาคุมรายเดือนแล้ว

                จึงควรตรวจการตั้งครรภ์ด้วยชุดทดสอบทางปัสสาวะ ในตอนเช้าหลังตื่นนอน ห่างจากวันที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดอย่างน้อย 14 วันค่ะ