รับประทานยาคุมเม็ดแรกหลังประจำเดือนหมดได้ไหม

รับประทานยาคุมเม็ดแรกหลังประจำเดือนหมดได้ไหม

                เราสามารถรับประทานยาคุมหลังจากที่ประจำเดือนหมดได้ไหม แล้วต้องรับประทานกี่วันขึ้นไป จึงจะสามารถมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ใส่ถุงยางได้

 

                สำหรับการใช้ยาคุมแผงแรก จะแนะนำให้เริ่มรับประทานในวันแรก หรือภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน ทั้งเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้ไม่ได้ตั้งครรภ์อยู่ และเพื่อให้ยาคุมมีประสิทธิภาพสูงสุดที่จะยับยั้งการตกไข่ในรอบเดือนนั้นได้เลย โดยถือว่ามีผลคุมกำเนิดทันทีที่เริ่มใช้

 

                การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดตามปกติ (Typical use) มีโอกาสตั้งครรภ์ 7% ส่วนการใช้อย่างสมบูรณ์แบบ (Perfect use) มีโอกาสตั้งครรภ์เพียงแค่ 0.3% จะเห็นได้ว่า หากรับประทานถูกต้องและตรงเวลาสม่ำเสมอ การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีผลป้องกันจากยาคุมรายเดือน ก็ถือว่ามีความเสี่ยงน้อยมากที่จะตั้งครรภ์นะคะ

                สำหรับการต่อยาคุมแผงใหม่ จึงแนะนำให้รับประทานตามกำหนด โดยไม่ต้องสนใจว่าจะเป็นวันที่เท่าไหร่ของการมีประจำเดือน เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีช่วงปลอดฮอร์โมนที่นานเกินไป จนเสี่ยงที่ยาคุมอาจไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะยับยั้งการตกไข่ในรอบเดือนนั้น ๆ ค่ะ

 

                กำหนดต่อแผงใหม่ ถ้าเป็นยาคุมแบบ 21 เม็ด เมื่อรับประทานหมดแล้วก็จะเว้นว่าง 7 วันก่อนต่อแผงใหม่ (เริ่มรับประทานแผงใหม่ในวันที่ 8 ของการเว้นว่าง)

                ส่วน “ออยเลซ” ซึ่งเป็นยาคุมแบบ 22 เม็ด เมื่อรับประทานหมดแล้วก็ให้เว้นว่าง 6 วันก่อนต่อแผงใหม่ (เริ่มรับประทานแผงใหม่ในวันที่ 7 ของการเว้นว่าง)

                ในขณะที่ยาคุมแบบ 28 เม็ด ไม่ว่าจะเป็นสูตร 21/7 (นั่นคือ มีเม็ดยาฮอร์โมน 21 เม็ด และมีเม็ดยาหลอก 7 เม็ด) หรือสูตร 24/4 (นั่นคือ มีเม็ดยาฮอร์โมน 24 เม็ด และมีเม็ดยาหลอก 4 เม็ด) เมื่อรับประทานหมดทั้ง 28 เม็ดแล้ว ก็ต้องต่อแผงใหม่ในวันถัดมา

 

                ประจำเดือนของผู้ใช้ยาคุมแบบ 21 เม็ดและ 22 เม็ด จะมาในช่วงที่เว้นว่าง โดยมักจะมาประมาณวันที่ 3 – 4 ของการเว้นว่าง หรืออาจคลาดเคลื่อนจากนั้นเล็กน้อย

                ส่วนประจำเดือนของผู้ใช้ยาคุมแบบ 28 เม็ดสูตร 21/7 และ 24/4 จะมาในช่วงที่รับประทานเม็ดยาหลอก โดยมักจะมาตรงกับวันที่ใช้เม็ดยาหลอกเม็ดที่ 3 – 4 โดยประมาณ หรืออาจคลาดเคลื่อนจากนั้นเล็กน้อย

 

                และยังมียาคุมแบบ 28 เม็ดบางยี่ห้อ ที่ไม่มีเม็ดยาหลอกอยู่ในแผงเลยนะคะ ได้แก่ “เอ็กซ์ลูตอน”, “เดลิต้อน” และ “ซีราเซท” โดยหลังจากที่รับประทานหมดทั้ง 28 เม็ดแล้ว ก็ให้ต่อแผงใหม่ในวันถัดมา เช่นเดียวกับยาคุมแบบ 28 เม็ดทั่ว ๆ ไป

                แต่ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าประจำเดือนจะมาหรือไม่ และจะมาในช่วงใดของแผง เนื่องจากผลข้างเคียงเด่นของยาคุมรูปแบบนี้ก็คือ การมีเลือดออกกะปริบกะปรอย, ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือไม่มีประจำเดือน ซึ่งก็ไม่ควรกังวล เพราะการที่ประจำเดือนไม่มา หรือมาน้อยกว่าปกติ ในระหว่างที่ใช้ยาคุมรูปแบบนี้ ไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพค่ะ

 

 

                จะเห็นได้ว่า มีเพียงกรณีของยาคุมแผงแรก ที่แนะนำให้เริ่มรับประทานในวันแรก หรือภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน เพื่อคัดกรองความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ก่อนที่จะใช้ยาคุม

                แต่ถ้ามั่นว่าไม่ตั้งครรภ์แน่นอน จะเริ่มยาคุมแผงแรกเมื่อไหร่ก็ได้นะคะ นั่นคือ สามารถรับประทานหลังจากที่ประจำเดือนหมดไปแล้วก็ได้

                อย่างไรก็ตาม ถ้าวันที่เริ่มยาคุมแผงแรก ไม่ตรงกับวันแรกของการมีประจำเดือน หรือไม่อยู่ในช่วงเวลา 5 วันแรกของการมีประจำเดือน (ขึ้นกับกรอบเวลาที่ยาคุมแต่ละยี่ห้อกำหนดไว้) ก็จะต้องรับประทานยาคุมแผงนั้นติดต่อกันให้ครบ 7 วันก่อน (9 วันสำหรับ “ไคลรา” และ 48 ชั่วโมงสำหรับ “เอ็กซ์ลูตอน”, “เดลิต้อน” หรือ “ซีราเซท”) จึงจะสามารถมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ใส่ถุงยางได้ค่ะ

 

                การเริ่มรับประทานยาคุมในระหว่างที่มีประจำเดือน ไม่ได้ทำให้ประจำเดือนผิดปกติ หรือส่งผลเสียใด ๆ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรอให้ประจำเดือนหายดีก่อน แล้วจึงค่อยเริ่มใช้

                ซึ่งหากจะรอต่อยาคุมแผงใหม่หลังจากที่ประจำเดือนหมดแล้ว ก็ต้องระวังว่าจะช้าเกินกำหนดไปหรือเปล่าด้วยนะคะ

                ถ้าต่อยาคุมแผงใหม่ช้าจนเกินกรอบเวลายืดหยุ่น (อาจแตกต่างกันสำหรับยาคุมแต่ละยี่ห้อ) ก็ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไปจนกว่าจะรับประทานยาคุมแผงใหม่ติดต่อกันครบ 7 วันก่อนค่ะ (9 วันสำหรับ “ไคลรา” และ 48 ชั่วโมงสำหรับ “เอ็กซ์ลูตอน”, “เดลิต้อน” หรือ “ซีราเซท”)

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Trussell J, Aiken ARA, Mickes E, Guthrie K. Efficacy, Safety, and Personal Considerations. In: Contraceptive Technology, 21st ed, Hatcher RA, Nelson AL, Trussell J, et al (Eds), Ayer Company Publishers, Inc., New York 2018.
  2. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
  3. U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  4. FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraceptive. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, 2019. (Amended November 2020)
  5. FSRH CEU Guidance: Progestogen-only Pills, August 2022. (Amended October 2022)