เริ่มใช้ยาคุมแผงแรก เป็นแบบ 21 เม็ด ก่อนวันที่คาดว่าจะมีไข่ตกประมาณ 5 วัน และหลังรับประทานได้ 5 วัน ก็มีเพศสัมพันธ์โดยใส่ถุงยางและหลั่งนอก แต่ไม่ได้ตรวจสอบหลังใช้ จึงกังวลว่า จะท้องหรือไม่ถ้าถุงยางรั่ว เพราะอยู่ในช่วงไข่ตกพอดี
ยาคุมแบบ 21 เม็ดเป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งหากเริ่มรับประทานแผงแรกไม่ทัน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน ก็อาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะยับยั้งการตกไข่ในเดือนแรก จึงควรงดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะรับประทานยาคุมแผงนี้ติดต่อกันครบ 7 วันค่ะ
การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีผลป้องกันจากยาคุมรายเดือน อ้างอิงจาก Trussell J. Contraceptive Technology, 2018. ก็คือ ถ้าใช้ถูกต้อง, เหมาะสม และตรงเวลาสม่ำเสมอ (Perfect use) มีโอกาสตั้งครรภ์เพียงแค่ 0.3% แต่การใช้ทั่ว ๆ ไป ที่ไม่เคร่งครัดนัก (Typical use) จะมีโอกาสตั้งครรภ์ 7%
แต่เมื่อเริ่มแผงแรกไม่ทัน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน และใช้ต่อเนื่องไม่ครบ 7 วัน ก็ยังไม่มีผลป้องกันยาคุมรายเดือนนะคะ จึงต้องพิจารณาว่า การป้องกันด้วยวิธีอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมกัน จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้เพียงไร
สำหรับถุงยางอนามัยชาย หากใช้ได้ถูกต้องและสมบูรณ์แบบ ทุก ๆ ครั้ง (Perfect use) โอกาสตั้งครรภ์ก็เพียง 2% ในขณะที่การใช้โดยทั่วไป (Typical use) มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ 13%
ส่วนการหลั่งนอก หากทำได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์แบบทุก ๆ ครั้ง (Perfect use) มีโอกาสตั้งครรภ์ 4% แต่โดยทั่วไป (Typical use) ถือว่ามีโอกาสตั้งครรภ์ได้ 20%
ดังนั้น หากไม่มั่นใจว่าใช้ถุงยางถูกวิธี หรือไม่ได้ตรวจสอบการรั่วซึมหลังใช้งาน การหลั่งนอกก็ยังไม่ใช่ทางเลือกที่ดี สำหรับป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อม เพราะไม่ใช่วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงค่ะ
ในกรณีนี้ จึงควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินเป็นวิธีป้องกันสำรอง โดยรับประทานทันที หรือเร็วที่สุดที่ทำได้ ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์นะคะ
โดยสามารถรับประทานแบบครบขนาดในครั้งเดียวได้เลย ซึ่งถือเป็นวิธีใช้มาตรฐานในปัจจุบันจากการแนะนำของหลาย ๆ หน่วยงาน นั่นคือ ถ้าใช้ยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด ก็รับประทาน 2 เม็ดพร้อมกันในครั้งเดียว และถ้าใช้ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด ก็รับประทานเม็ดเดียวครั้งเดียว
หรือจะรับประทานตามวิธีดั้งเดิมก็ได้ นั่นคือ ใช้ยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด โดยแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เม็ด ห่างกัน 12 ชั่วโมง แต่ควรระวังว่าอาจลืมรับประทานครั้งที่สอง เพราะหากใช้ไม่ครบขนาด ก็จะไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ค่ะ
ยาคุมฉุกเฉินชนิดที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทย (และอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก) เป็นยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel) ซึ่งสามารถใช้ร่วมกับยาคุมรายเดือนได้ โดยไม่ทำให้ประสิทธิภาพลดลง และสามารถรับประทานยาคุมแบบ 21 เม็ดต่อได้ตามปกตินะคะ
แต่ยิ่งใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลใกล้เวลาไข่ตกมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นที่ยาคุมจะชะลอการตกไข่ไม่ทัน จึงอาจล้มเหลวในการป้องกันมากกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ
หากมีความเสี่ยงมาก การคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น ให้สูตินรีแพทย์ใส่ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดง ภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งผู้ใช้มีโอกาสตั้งครรภ์เพียงแค่ 0.6% (Perfect use) หรือ 0.8% (Typical use) เท่านั้น ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และยังสามารถใช้เพื่อคุมกำเนิดต่อไป แทนการรับประทานยาคุมรายเดือนได้ด้วยค่ะ
แต่ถ้าไม่สามารถเลือกวิธีที่ดีกว่าได้ การรับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลให้เร็วและครบขนาด ก็ดีกว่าที่จะไม่ใช้เสียเลยนะคะ อีกทั้ง ผู้ถามเพียงการคาดการณ์ล่วงหน้าเท่านั้นว่าน่าจะมีไข่ตกในวันใด ซึ่งวันที่ไข่ตกจริงอาจคลาดเคลื่อนไปจากนี้ ความเสี่ยงที่จะป้องกันล้มเหลว จึงอาจไม่สูงอย่างที่กังวลก็ได้ค่ะ
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ใช้ยาคุมแบบ 21 เม็ดหมด ก็จะเว้นว่างก่อนต่อแผงใหม่ หากเว้นว่างจนครบ 7 วันแล้วแต่ยังไม่มีประจำเดือนมา ควรตรวจการตั้งครรภ์ด้วยชุดทดสอบทางปัสสาวะ ในตอนเช้าหลังตื่นนอนของวันที่ครบกำหนดต่อยาคุมแผงใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการตั้งครรภ์นะคะ
เอกสารอ้างอิง
- Trussell J, Aiken ARA, Mickes E, Guthrie K. Efficacy, Safety, and Personal Considerations. In: Contraceptive Technology, 21st ed, Hatcher RA, Nelson AL, Trussell J, et al (Eds), Ayer Company Publishers, Inc., New York 2018.
- Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
- U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
- FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraceptive. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, 2019. (Amended November 2020)
- FSRH Guideline: Emergency contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, March 2017. (Amended December 2020)