กินยาคุมแบบ 28 เม็ดย้อนศร ประจำเดือนมาน้อย

กินยาคุมแบบ 28 เม็ดย้อนศร ประจำเดือนมาน้อย

                ใช้ยาคุมแบบ 28 เม็ดอยู่ แต่ตอนที่เริ่มแผงใหม่ ดันรับประทานผิด โดยไปเริ่มจากเม็ดสุดท้ายของแผงก่อน กว่าจะรู้ตัวก็ใช้ไป  5 เม็ดแล้ว ก็เลยกลับมาเริ่มใช้จากเม็ดแรกแทน แต่พอถึงเวลาที่ประจำเดือนควรจะมาก็กลับไม่มา พอจะครบรอบเดือนที่สอง กลับมีเลือดออกกะปริบกะปรอย แบบนี้ผิดปกติมั้ย

 

                ยาคุมแบบ 28 เม็ดมีอยู่หลายลักษณะ บางยี่ห้อจะเม็ดทั้งเม็ดฮอร์โมนและเม็ดหลอกอยู่ในแผง แต่บางยี่ห้อก็มีเฉพาะเม็ดฮอร์โมน ซึ่งผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย และผลกระทบจากการรับประทานย้อนศร ก็จะแตกต่างกันไปตามลักษณะของยาคุมที่ใช้ค่ะ

  1. ยาคุมแบบ 28 เม็ด ที่มีทั้งเม็ดฮอร์โมนและเม็ดหลอกอยู่ในแผง
  2. ยาคุมแบบ 28 เม็ด ที่มีเฉพาะเม็ดฮอร์โมนอยู่ในแผง ไม่มีเม็ดหลอก

 

 

ยาคุมแบบ 28 เม็ด ที่มีทั้งเม็ดฮอร์โมนและเม็ดหลอกอยู่ในแผง

 

                ยาคุมที่มีลักษณะเช่นนี้ เกือบทุกยี่ห้อจะเป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ยกเว้น “สลินดา” (Slinda) ที่เป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

                โดยส่วนใหญ่จะมีเม็ดฮอร์โมน 21 เม็ดและเม็ดหลอก 7 เม็ด

                แต่ก็มีบางยี่ห้อ เช่น “ยาส” (Yaz), “ซินโฟเนีย” (Synfonia), “เฮอร์ซ” (Herz), “มินิดอซ” (Minidoz), “ไมนอซ” (Minoz) และ “สลินดา” (Slinda) ที่มีเม็ดฮอร์โมน 24 เม็ดและเม็ดหลอก 4 เม็ด

                และบางยี่ห้อ เช่น “ไคลรา” (Qlaira) ที่มีเม็ดฮอร์โมน 26 เม็ดและเม็ดหลอก 2 เม็ด

 

                ซึ่งผู้ผลิตจะจัดเรียงเม็ดฮอร์โมนไว้ก่อนเม็ดหลอก เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับฮอร์โมนติดต่อกันในช่วงแรก ตามจำนวนเม็ดฮอร์โมนที่มีในแผง แล้วจึงค่อยใช้เม็ดหลอกต่อจนครบรอบ 28 วัน จากนั้นก็เริ่มแผงใหม่ในวันถัดมา

                หากรับประทานถูกต้อง จะมีช่วงที่ได้รับฮอร์โมน สลับด้วยช่วงปลอดฮอร์โมน ในสัดส่วนที่เหมาะสม เช่น ถ้าใช้ยาคุมสูตร 21/7 ก็จะได้รับฮอร์โมน 21 วัน สลับด้วยช่วงปลอดฮอร์โมน 7 วัน ต่อเนื่องกันเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ

 

                หรือถ้าใช้ยาคุมสูตร 24/4 ก็จะได้รับฮอร์โมน 24 วัน สลับด้วยช่วงปลอดฮอร์โมน 4 วันนั่นเอง

 

                แต่จากข้อมูลที่ว่า ผู้ถามต่อแผงที่สอง โดยใช้เม็ดยาในลำดับที่ 28 – 24 ใน 5 วันแรก จากนั้นจึงต่อด้วยเม็ดยาในลำดับที่ 1 – 23 นั้น

                ถ้ายาคุมแบบ 28 เม็ดที่ผู้ถามใช้ เป็นยาคุมสูตร 21/7 ซึ่งเม็ดฮอร์โมนจะอยู่ในลำดับที่ 1 – 21 ส่วนเม็ดหลอก จะอยู่ในลำดับที่ 22 – 28 จะทำให้มีช่วงปลอดฮอร์โมนระหว่างแผงนานถึง 12 วัน (จากปกติที่ควรเป็น 7 วัน) หรือถ้านับจากวันที่เริ่มใช้เม็ดฮอร์โมนในแผงที่สอง ก็เท่ากับว่ามีการเริ่มแผงใหม่ช้าไป 5 วัน

blank

 

                หรือถ้ายาคุมแบบ 28 เม็ดที่ผู้ถามใช้เป็นยาคุมสูตร 24/4 ซึ่งเม็ดฮอร์โมนจะอยู่ในลำดับที่ 1 – 24 ส่วนเม็ดหลอก จะอยู่ในลำดับที่ 25 – 28 จะทำให้มีช่วงปลอดฮอร์โมนระหว่างแผงนาน 8 วัน (จากปกติที่ควรเป็น 4 วัน) หรือถ้านับจากวันที่เริ่มใช้เม็ดฮอร์โมนในแผงที่สอง ก็เท่ากับได้เริ่มแผงใหม่ช้าไป 4 วัน

blank

 

                จะเห็นได้ว่าสำหรับยาคุมที่มีทั้งเม็ดฮอร์โมนและเม็ดหลอกอยู่ในแผง ถ้าต่อแผงใหม่โดยใช้แบบย้อนศร ก็จะได้รับเม็ดหลอกของแผงใหม่ ต่อจากเม็ดหลอกของแผงเดิม และการมีช่วงปลอดฮอร์โมนยาวนานเกินไป ก็อาจส่งผลให้ยาคุมไม่สามารถยับยั้งไข่ที่กำลังจะตกในรอบนี้ได้นะคะ

                จึงควรงดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะได้รับประทานเม็ดฮอร์โมนในแผงนี้ติดต่อกันครบ 7 วันค่ะ (หรือ 9 วันสำหรับ “ไคลรา”)

 

 

                หากไม่มีการตั้งครรภ์ ประจำเดือนมักจะมาหลังรับประทานเม็ดฮอร์โมนหมดไปแล้ว 2 – 3 วันนะคะ เช่น ถ้าใช้ยาคุมสูตร 21/7 ประจำเดือนก็มักจะมาตรงกับเม็ดที่ 24 หรือ 25 ของแผง หรือคลาดเคลื่อนเล็กน้อย แต่ถ้าใช้ยาคุมสูตร 24/4 ประจำเดือนก็มักจะมาตรงกับเม็ดที่ 27 หรือ 28 หรือคลาดเคลื่อนเล็กน้อยค่ะ

                ซึ่งผู้ที่ใช้ยาคุมสูตรเดิมอย่างต่อเนื่อง ถ้านับจากวันแรกที่ประจำเดือนมาในรอบหนึ่ง ไปหาวันแรกที่ประจำเดือนมาในรอบถัดมา ก็จะห่างกันประมาณ 28 วัน

                เช่น ถ้าใช้ยาคุมสูตร 21/7 และมีประจำเดือนมาตรงกับวันที่ใช้เม็ดที่ 24 ของแผงเสมอ ระยะห่างระหว่างวันที่ใช้เม็ดที่ 24 ของแผงหนึ่ง ไปหาวันที่ใช้เม็ดที่ 24 ของอีกแผงหนึ่ง ก็จะห่างกัน 28 วัน

                หรือ ถ้าใช้ยาคุมสูตร 24/4 และมีประจำเดือนมาตรงกับวันที่ใช้เม็ดที่ 27 ของแผงเสมอ ระยะห่างระหว่างวันที่ใช้เม็ดที่ 27 ของแผงหนึ่ง ไปหาวันที่ใช้เม็ดที่ 27 ของอีกแผงหนึ่ง ก็จะห่างกัน 28 วันเช่นกัน

 

                การที่ผู้ถามไม่มีประจำเดือนมาตามช่วงเวลาที่คาดไว้เดิม ก็อาจเป็นเพราะว่ารับประทานเม็ดฮอร์โมนในแผงนี้ยังไม่หมดก็ได้นะคะ

                เพราะถ้าใช้ยาคุมสูตร 21/7 โดยรับประทานแผงแรกจากลำดับ 1 – 28 แต่กลับรับประทานแผงที่สอง ดังนี้ 28 – 27 – 26 – 25 – 24 – 1 – 2 – 3 – 4 – 5 – 6 – 7 – 8 – 9 – 10 – 11 – 12 – 13 – 14 – 15 – 16 – 17 – 18 – 19 – 20 – 21 – 22 – 23 จะเห็นได้ว่า เมื่อนับจากเม็ดที่ 24 ของแผงแรกไปอีก 28 วัน จะตรงกับวันที่ผู้ถามรับประทานเม็ดที่ 19 ในแผงที่สอง ซึ่งเป็นเม็ดฮอร์โมนค่ะ

blank

 

                หรือถ้าใช้ยาคุมสูตร 24/4 เมื่อนับจากเม็ดที่ 27 ของแผงแรกไปอีก 28 วัน ก็จะตรงกับวันที่ผู้ถามรับประทานเม็ดที่ 22 ซึ่งเป็นเม็ดฮอร์โมนเช่นกัน

blank

 

                ส่วนเลือดกะปริบกะปรอยที่พบใกล้ครบรอบเดือนที่สอง ก็อาจเป็นเพียงผลข้างเคียงจากยา ซึ่งมักพบในช่วงแรก ๆ ที่เริ่มใช้ หรือเมื่อรับประทานยาคุมไม่ตรงเวลา

 

                และถ้าผู้ถามต่อแผงถัดไป โดยไม่ได้เว้นว่างเพิ่มเพื่อทดแทนเม็ดหลอกที่แกะไปใช้ผิดในช่วงแรก ก็จะไม่มีช่วงปลอดฮอร์โมน หรือมีไม่นานพอ ที่จะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกเกิดการหลุดลอกได้ จึงอาจไม่มีประจำเดือนมาในรอบนี้เลยนะคะ

                นั่นคือ เมื่อรับประทานเม็ดที่ 23 ในแผงที่สองไปแล้ว และไม่มีเม็ดยาอื่น ๆ เหลืออยู่อีก ถ้าผู้ถามเริ่มแผงที่สามในวันถัดมา โดยใช้ตามลำดับ 1 – 28 ตามปกติ

                สำหรับยาคุมสูตร 21/7 จะทำให้มีช่วงปลอดฮอร์โมนระหว่างแผงที่สองกับสามเพียง 2 วัน นั่นคือ วันที่รับประทานเม็ดที่ 22 และ 23 ของแผงที่สอง แต่สำหรับยาคุมสูตร 24/4 ก็จะไม่มีช่วงปลอดฮอร์โมนระหว่างแผงที่สองและสามเลย

 

                อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีช่วงปลอดฮอร์โมนนานเกินไป จากการใช้แผงที่สองแบบย้อนศรในช่วงแรก ดังนั้น หากผู้ถามมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย ในช่วงที่ไม่มีผลป้องกันจากยาคุมอยู่ ก็มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ได้

                หากไม่มั่นใจ โดยเฉพาะในกรณีที่มีความเสี่ยง แนะนำให้ตรวจการตั้งครรภ์เพื่อความชัดเจน ก่อนที่ผู้ถามจะต่อยาคุมแผงที่สามค่ะ

 

 

ยาคุมแบบ 28 เม็ด ที่มีเฉพาะเม็ดฮอร์โมนอยู่ในแผง ไม่มีเม็ดหลอก

 

                 “เอ็กซ์ลูตอน” (Exluton), “เดลิต้อน” (Dailyton) และ “ซีราเซท” (Cerazette) เป็นตัวอย่างของยาคุมแบบ 28 เม็ด ที่ทุก ๆ เม็ดในแผงก็คือเม็ดฮอร์โมน โดยไม่มีเม็ดหลอกอยู่เลยนะคะ

                และเช่นเดียวกับยาคุมแบบ 28 เม็ดอื่น ๆ ที่เมื่อใช้แผงเดิมหมดแล้วก็จะต้องต่อแผงใหม่ในวันถัดมา แต่เนื่องจากไม่มีช่วงปลอดฮอร์โมน ทำให้คาดการณ์ได้ยากว่าประจำเดือนของผู้ใช้ยาคุม “เอ็กซ์ลูตอน”, “เดลิต้อน” หรือ “ซีราเซท” จะมาสม่ำเสมอทุกรอบหรือไม่ และจะมาตรงกับเม็ดที่เท่าไหร่ในแผง

                ผลข้างเคียงที่อาจพบจากการใช้ยาคุมในกลุ่มนี้ จึงได้แก่ การมีเลือดออกกะปริบกะปรอย, ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือไม่มีประจำเดือน

 

                อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทั้ง 28 เม็ดมีตัวยาสำคัญเหมือนกัน การรับประทานย้อนศร จึงไม่ทำให้ประสิทธิภาพลดลง ถ้ารับประทานต่อเนื่องและตรงเวลาสม่ำเสมอ

 

                ดังนั้น ถ้ายาคุมแบบ 28 เม็ดที่ผู้ถามใช้ เป็นยาคุมที่มีเฉพาะเม็ดฮอร์โมนอยู่ในแผง แม้จะรับประทานแผงที่สองแบบย้อนศรก็ไม่เป็นไรค่ะ

                และการที่ไม่มีประจำเดือนมาตามรอบปกติ รวมไปถึงการมีเลือดออกกะปริบกะปรอย ก็อาจเป็นผลข้างเคียงของยาคุมชนิดนี้เอง ซึ่งไม่ได้มีอันตรายใด ๆ

                ยกเว้นในกรณีที่มีเลือดออกมากหรือนานเกินไป หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตกขาวผิดปกติ, คันหรือมีกลิ่นเหม็นคาวที่ช่องคลอด, ปวดท้องรุนแรง, แสบขัดเวลาปัสสาวะ, เจ็บขณะร่วมเพศ หรือมีเลือดออกทุกครั้งหลังมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งควรพบสูตินรีแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่เหมาะสมนะคะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare (FSRH). FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception. January 2019 (Amended July 2023).
  2. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare (FSRH). FSRH Guideline: Progestogen – only Pills. August 2022 (Amended July 2023).
  3. World Health Organization (WHO). Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. 2016.
  4. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. 2016.