“ยาส” (Yaz) เป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมแบบ 28 เม็ด สูตร 24/4 นั่นคือ มี “เม็ดยาฮอร์โมน” (เม็ดสีชมพู) จำนวน 24 เม็ด โดยที่แต่ละเม็ดจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจน Ethinyl estradiol 0.02 มิลลิกรัม รวมกับฮอร์โมนโปรเจสติน Drospirenone 3 มิลลิกรัม
และมี “เม็ดยาหลอก” (เม็ดสีขาว) จำนวน 4 เม็ด ซึ่งเป็นเพียงเม็ดแป้งที่ไม่มีตัวยาใด ๆ
จุดเด่นของ “ยาส” ได้แก่…
- คุณสมบัติของ Drospirenone ในการต้านสิวและต้านการบวมน้ำ
- มีปริมาณ Ethinyl estradiol ต่ำมาก ช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน, ปวดเวียนศีรษะ และการเกิดฝ้า
- นอกจากปริมาณฮอร์โมนที่ต่ำมากแล้ว ยังเป็นยาคุมสูตร 24/4 ซึ่งมีช่วงปลอดฮอร์โมนสั้น จึงลดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome; PMS) เช่น เจ็บเต้านม ท้องอืด ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน และเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาประจำเดือนมามากผิดปกติ
หากมีความจำเป็นในการใช้ยาคุมที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กล่าวไปข้างต้น ในกรณีที่หาซื้อ “ยาส” มาใช้ต่อไม่ได้ ก็สามารถใช้ “ซินโฟเนีย” (Synfonia) หรือ “เฮอร์ซ” (Herz) ซึ่งมีตัวยาฮอร์โมนชนิดเดียวกัน, มีปริมาณฮอร์โมนเท่ากัน, และเป็นยาคุมสูตร 24/4 เหมือนกัน แทนได้ค่ะ
โดย “ซินโฟเนีย” เป็นยานำเข้าจากต่างประเทศเช่นเดียวกันกับ “ยาส” แต่มีราคาถูกกว่า นั่นคือ แผงละ 350 – 390 บาทโดยประมาณ
ส่วน “เฮอร์ซ” เป็นยาที่ผลิตภายในประเทศ มีราคาถูกกว่าเช่นกัน นั่นคือ แผงละ 290 – 330 บาท
ดังนั้น การเปลี่ยนจาก “ยาส” ไปใช้ “ซินโฟเนีย” หรือ “เฮอร์ซ” ก็จะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าเดิมนะคะ
ยาคุมทั้ง 3 ยี่ห้อนี้ จะมี “เม็ดยาฮอร์โมน” เป็นสีชมพู ส่วน “เม็ดยาหลอก” จะเป็นสีขาว และยังมีการจัดวางเม็ดยาเป็น 4 แถว โดยมีแถวละ 7 เม็ดเหมือนกัน
ซึ่ง “ซินโฟเนีย” โฉมใหม่ จะมีการเรียงลำดับในแผงเหมือนกับ “ยาส” อีกทั้งยังมี “แถบสติกเกอร์สำหรับวันที่เริ่มรับประทานยาวันแรก” แถมมาในกล่องด้วยเช่นกัน จึงง่ายสำหรับผู้ใช้ที่จะตรวจสอบความถูกต้องในการรับประทานยาคุม
แต่สำหรับผู้ที่ใช้ “ซินโฟเนีย” โฉมเก่า ทิศทางของลูกศร และการเรียงตัวเลขลำดับการใช้จะแตกต่างไปจาก “ยาส”
โดยหากมองจากด้านที่เห็นเม็ดยา จะเห็นว่าทุก ๆ แถวของ “ยาส” มีการเรียงลำดับจากซ้ายไปขวา เพื่อให้สอดคล้องกับการลำดับวันที่อยู่ใน “แถบช่วยจำ” นั่นเอง
ส่วน “ซินโฟเนีย” โฉมเก่า ซึ่งไม่มี “แถบช่วยจำ” แถมมาด้วย ก็จะเรียงลำดับในแถวคู่และแถวคี่สลับทิศทางกัน อยู่ในลักษณะของงูกินหาง เพื่อให้เม็ดล่าสุดที่ใช้ อยู่ติดกับเม็ดถัดไปเสมอ
ดังนั้น ถ้า “ซินโฟเนีย” ที่ใช้ยังเป็นโฉมเก่าก็ควรระมัดระวังการรับประทานย้อนศร (โดยเฉพาะในแถวสุดท้าย ซึ่งอาจทำให้รับประทาน “เม็ดยาหลอก” แทน “เม็ดยาฮอร์โมน”) และการรับประทานไม่ครบหรือซ้ำซ้อนเกินขนาด (เพราะการที่ไม่มีแถบช่วยจำ ทำให้ตรวจสอบประจำวันได้ยากกว่า)
อย่างไรก็ตาม หากผู้ใช้พิจารณาตัวเลขที่ระบุไว้ในแผงทุก ๆ ครั้งที่จะแกะเม็ดยา และรับประทานตรงเวลาสม่ำเสมอ ก็น่าจะช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าวได้ค่ะ
สำหรับ “เฮอร์ซ” จะมีรูปแบบการจัดเรียงลำดับในแผงคล้ายกับ “ซินโฟเนีย” โฉมเก่า แต่มีเพียงตัวเลข 1 – 28 ระบุไว้ในแผงยาด้านที่ไม่เห็นเม็ดยาเท่านั้น
โดยให้เริ่มจากเม็ดที่ 1 แล้วรับประทานต่อตามลำดับวันละเม็ด ไปจนถึงเม็ดที่ 28
เมื่อไม่มี “แถบช่วยจำ” ทำให้ตรวจสอบการใช้ประจำวันได้ยากกว่า “ยาส” และ “ซินโฟเนีย” โฉมใหม่
ดังนั้น หากหาซื้อ “ยาส” ไม่ได้ แล้วต้องการจะใช้ “เฮอร์ซ” แทน ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ เพื่อไม่ให้รับประทานผิดนะคะ
(อ่านเพิ่มเติม วิธีรับประทานยาคุม “ซินโฟเนีย”, วิธีรับประทานยาคุม “เฮอร์ซ”)
…(((ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 22 มิถุนายน 2565)))…