ใช้ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวแล้วมีประจำเดือนมากลางแผง

ใช้ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวแล้วมีประจำเดือนมากลางแผง

                หากใช้ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยว ยี่ห้อที่ทั้ง 28 เม็ดเป็นเม็ดยาฮอร์โมน ไม่มีเม็ดยาหลอกอยู่เลย แล้วมีประจำเดือนมากลางแผง จะต้องทิ้งยาคุมแผงเดิมเลยมั้ย หรือควรทำอย่างไรดี

               

                บทความนี้จะกล่าวถึงยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวที่ในแผงมีเฉพาะเม็ดยาฮอร์โมน ได้แก่ “เอ็กซ์ลูตอน” (Exluton), “เดลิต้อน” (Dailyton) และ “ซีราเซท” (Cerazette) นะคะ

                สำหรับผู้ใช้ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวที่ในแผงมีทั้งเม็ดยาฮอร์โมนและเม็ดยาหลอก อย่าง “สลินดา” (Slinda) แนะนำให้อ่านบทความเรื่อง “ใช้ยาคุม 28 เม็ดแล้วมีประจำเดือนมาก่อนถึงเม็ดแป้ง” แทนค่ะ

 

                สำหรับยาคุม 28 เม็ดแบบที่ไม่มีเม็ดยาหลอก เช่น “เอ็กซ์ลูตอน”, “เดลิต้อน” และ “ซีราเซท” ซึ่งทั้ง 28 เม็ดในแผงล้วนเป็นเม็ดยาฮอร์โมน อาจทำให้ผู้ใช้ไม่มีประจำเดือนมา หรือมาในช่วงใดของแผงก็ได้

                สามารถรับประทานยาคุมต่อเนื่องกันทุกวัน หมดแผงเดิมแล้วก็ต่อแผงใหม่ในวันถัดมา ไม่ว่าประจำเดือนจะมาหรือไม่มาก็ตาม

                และแม้ว่าประจำเดือนจะมากลางแผง ก็สามารถใช้ยาคุมแผงนั้นต่อได้ตามปกติ ไม่จำเป็นจะต้องทิ้งแผงเดิมแล้วไปเริ่มแผงใหม่แทน

                เพราะแม้ว่าจะเหลือไม่เต็มแผง แต่ทุกเม็ดก็คือเม็ดยาฮอร์โมน ไม่ได้มีเม็ดยาหลอกอยู่ด้วย ดังนั้น การรับประทานเม็ดยาที่เหลืออยู่ในแผงเดิมจนหมดแล้วค่อยใช้ยาคุมแผงใหม่ ก็ทำให้ได้รับฮอร์โมนต่อเนื่องกันทุกวัน ไม่ต่างไปจากการเริ่มแผงใหม่ทันที

                การทิ้งยาคุมที่เหลืออยู่ไม่เต็มแผง แล้วไปใช้แผงใหม่แทน จึงทำให้สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

            ซึ่งจะต่างไปจากยาคุม 21 เม็ด หรือยาคุม 28 เม็ดที่มีเม็ดยาหลอก ในกรณีที่ลืมใช้แล้วทำให้ประจำเดือนมาก่อนกำหนด ที่ผู้ให้คำปรึกษาบางรายอาจไม่แนะนำให้ใช้ยาคุมที่เหลือไม่เต็มแผง ถ้าเม็ดยาฮอร์โมนเหลืออยู่ไม่มากพอที่จะให้ผลคุมกำเนิดต่อเนื่องเมื่อผ่านเข้าสู่ช่วงปลอดฮอร์โมนอีกครั้ง

 

                แต่ในกรณีที่ลืมใช้ แล้วรับประทาน “เอ็กซ์ลูตอน” และ “เดลิต้อน” ช้ากว่าเวลาปกติเกิน 3 ชั่วโมง หรือรับประทาน “ซีราเซท” ช้ากว่าเวลาปกติเกิน 12 ชั่วโมง

                หรือเกิดปัญหาที่ทำให้ยาคุมถูกดูดซึมน้อยลงหรือขับออกเร็วขึ้น เช่น อาเจียนและถ่ายเหลว โดยเฉพาะภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังรับประทาน หรือมีความรุนแรงและเป็นอยู่นาน (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ “อาเจียนหลังกินยาคุมรายเดือน” และ “ถ่ายเหลวหลังกินยาคุม”)

                นอกจากอาจทำให้มีเลือดออกผิดปกติแล้ว ก็ยังทำให้ไม่มีผลป้องกันจากยาคุมอีกด้วยนะคะ

                จึงควรปฏิบัติตามแนวทางแก้ไขเมื่อลืมรับประทานยา โดยหนึ่งในนั้นก็คือ ให้งดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะได้รับประทานยาคุมติดต่อกันครบ 2 วัน (หรือเท่ากับ 48 ชั่วโมงนับจากเวลาที่กลับมาใช้ต่อ)

                และควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาบางตัวในกลุ่มของยากันชัก, ยารักษาวัณโรค, ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือสมุนไพรที่มีชื่อว่าเซนต์จอห์นเวิร์ต เพราะอาจลดประสิทธิภาพของยาคุมค่ะ

 

                เมื่อใช้ยาคุมที่มีเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างต่อเนื่อง เยื่อบุโพรงมดลูกอาจบางมากจนไม่เกิดการหลุดลอก จึงไม่มีการฉีกขาดของหลอดเลือดในเยื่อบุ และทำให้ไม่มีเลือดออก โดยเฉพาะเมื่อไม่มีช่วงปลอดฮอร์โมนในแผง จึงเหมือนว่าผู้ใช้ไม่มีประจำเดือนมานะคะ

                หรือเยื่อบุโพรงมดลูกที่บางมาก ก็อาจเกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดในเยื่อบุ ทำให้มีเลือดออกมาในช่วงใดของแผงก็ได้ ซึ่งมักพบแบบกะปริบกะปรอยมากกว่าที่จะออกมาในปริมาณมาก ๆ

                ปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอย, ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือไม่มีประจำเดือน จึงเป็นผลข้างเคียงเด่นที่พบได้จากการใช้ยาคุมในกลุ่มนี้

                ซึ่งมักจะมีเลือดออกน้อยลงเมื่อใช้ต่อไปเรื่อย ๆ ในขณะที่สัดส่วนของผู้ใช้ที่ไม่มีประจำเดือนเพิ่มมากขึ้น

                แต่การที่ไม่มีประจำเดือนมาหรือมาน้อยลงในระหว่างที่ใช้ยาคุม ไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ จึงไม่จำเป็นจะต้องหยุดใช้หรือเปลี่ยนยาคุมค่ะ

 

                อย่างไรก็ตาม หากมีเลือดออกมามาก, นาน หรือถี่ผิดปกติ หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตกขาวผิดปกติ คันหรือมีกลิ่นเหม็นคาวที่ช่องคลอด ปวดท้องรุนแรง แสบขัดเวลาปัสสาวะ เจ็บขณะร่วมเพศ หรือมีเลือดออกทุกครั้งหลังมีเพศสัมพันธ์ ควรไปพบแพทย์พิจารณาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมนะคะ

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare (FSRH). FSRH Guideline: Progestogen-only Pills. 2022.
  2. World Health Organization (WHO). Selected Practice Recommendations forContraceptive Use, 3rd edition. 2016.
  3. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. 2016.