ต้องกินยาคุม 28 เม็ดกี่วัน จึงจะมีเพศสัมพันธ์ได้

                ยาคุม 28 เม็ดมีหลากหลายชนิดและรูปแบบการใช้ค่ะ การพิจารณาว่าจะต้องรับประทานกี่วันจึงมีผลป้องกันการตั้งครรภ์ได้ อาจยุ่งยากกว่าการหาคำตอบว่าต้องกินยาคุม 21 เม็ดกี่วัน จึงจะมีเพศสัมพันธ์ได้ตามที่เคยกล่าวไปแล้ว โดยจะต้องแยกตามชนิดและรูปแบบของยาคุม 28 เม็ดที่ใช้อยู่ ดังนี้

  1. ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยว ซึ่งไม่มีเม็ดยาหลอก
  2. ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยว ซึ่งมีทั้งเม็ดยาฮอร์โมนและเม็ดยาหลอก
  3. ยาคุมฮอร์โมนรวม

 

  1. ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยว ซึ่งไม่มีเม็ดยาหลอก

 

                เมื่อเทียบกับยาคุมฮอร์โมนรวมแล้ว ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวที่ใช้ตัวยาฮอร์โมนไลเนสทรีนอล (Lynestrenol) ได้แก่ “เอ็กซ์ลูตอน” (Exluton) และ “เดลิต้อน” (Dailyton) จะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการตกไข่ได้ต่ำกว่ามากค่ะ

                ด้วยเหตุนี้ การทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น เพื่อที่อสุจิจะผ่านไปได้ยาก และการเปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อให้ไม่เหมาะสมกับการฝังตัวของตัวอ่อน จึงเป็นกลไกที่สำคัญมากสำหรับยาคุมชนิดนี้

                โดยหลังรับประทาน “เอ็กซ์ลูตอน” หรือ “เดลิต้อน” เพียง 2 วัน (หรือเท่ากับ 48 ชั่วโมง) ก็จะเพิ่มปริมาตรและความหนืดของมูกที่ปากมดลูก เพียงพอที่จะคุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว

 

                อย่างไรก็ตาม ผลคุมกำเนิดที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของมูกที่ปากมดลูกก็มีอายุสั้นเช่นกัน จึงจำเป็นที่จะต้องรับประทานยาคุมติดต่อกันทุกวันให้ตรงเวลาสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถป้องกันได้อย่างต่อเนื่อง

                ซึ่งระยะเวลายืดหยุ่นที่ยอมให้รับประทานช้ากว่าเวลาที่กำหนด โดยที่ยังคงมีผลคุมกำเนิดต่อเนื่อง ของยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว จะสั้นกว่ายาคุมชนิดฮอร์โมนรวมนะคะ

 

                แม้ว่าประสิทธิภาพในการยับยั้งการตกไข่ของไลเนสทรีนอลจะไม่สูงนัก แต่ถ้าผู้ใช้รับประทานยาคุมถูกต้องและตรงเวลาสม่ำเสมอ ก็มีโอกาสตั้งครรภ์น้อยมาก เช่นเดียวกับยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมนั่นเอง

                ส่วนยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวที่ใช้ตัวยาฮอร์โมนรุ่นใหม่อย่างดีโซเจสตริล (Desogestrel) ได้แก่ “ซีราเซท” (Cerazette) แม้จะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการตกไข่ได้สูงขึ้นจนใกล้เคียงกับยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมแล้ว แต่ในการพิจารณาว่ายาจะเริ่มมีผลป้องกันการตั้งครรภ์เมื่อไหร่ ก็ยังใช้กรอบเวลาเดียวกันกับไลเนสทรีนอลค่ะ

 

                นั่นคือ ถ้าเริ่มใช้ยาคุมแผงแรกไม่ทัน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน ก็จะต้องรับประทาน “เอ็กซ์ลูตอน” หรือ “เดลิต้อน” หรือ “ซีราเซท” ติดต่อกันให้ครบ 2 วันก่อน จึงจะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น หากไม่มีผลคุมกำเนิดใด ๆ อยู่ ก็ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันไปอีก 48 ชั่วโมงหลังจากเริ่มรับประทาน

                แต่ถ้าเริ่มรับประทานยาคุมแผงแรกภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน ก็จะถือว่ามีผลคุมกำเนิดได้เลย

 

                ทั้ง 28 เม็ดในแผงของ “เอ็กซ์ลูตอน”, “เดลิต้อน” หรือ “ซีราเซท” เป็นเม็ดยาฮอร์โมนทั้งหมด ไม่ได้มีเม็ดยาหลอกอยู่ในแผงนะคะ

ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวที่ไม่มีเม็ดยาหลอก

                ซึ่งการใช้ยาคุมในกลุ่มนี้ จะไม่มีช่วงปลอดฮอร์โมน นั่นคือ เมื่อรับประทานแผงเดิมหมดแล้วก็ให้ต่อแผงใหม่ในวันถัดมาได้เลย ไม่ต้องเว้นว่างเพิ่มเติม จึงคาดการณ์ได้ยากว่าประจำเดือนจะมาในช่วงใดของแผง อีกทั้ง การมีเลือดออกกะปริบกะปรอย, ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือไม่มีประจำเดือน ก็ถือเป็นผลข้างเคียงเด่นของยาคุมในกลุ่มนี้ค่ะ

 

                สำหรับผู้ที่ใช้ “เอ็กซ์ลูตอน” หรือ “เดลิต้อน” หรือ “ซีราเซท” อยู่แล้ว หากต่อยาคุมแผงใหม่ตรงตามกำหนด จะถือว่ามีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องกันทุกวัน

                แต่ถ้าต่อ “เอ็กซ์ลูตอน” หรือ “เดลิต้อน” แผงใหม่ช้าเกิน 3 ชั่วโมง หรือถ้าต่อ “ซีราเซท” แผงใหม่ช้าเกิน 12 ชั่วโมง ก็ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันร่วมด้วย ไปอีก 2 วัน หรือนับไปอีก 48 ชั่วโมงจากเวลาที่เริ่มใช้

                หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันไปแล้วในช่วงที่ไม่มีผลคุมกำเนิดใด ๆ อยู่ ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมง หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ไม่พร้อมด้วยนะคะ

 

จะต้องรับประทาน “เอ็กซ์ลูตอน”, “เดลิต้อน” หรือ “ซีราเซท” กี่วัน จึงมีผลป้องกันการตั้งครรภ์ได้

การเริ่มยาคุมแผงแรก

การต่อยาคุมแผงใหม่

ถ้าใช้ภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน ก็ถือว่ามีผลป้องกันได้ทันที

 

แต่ถ้าเริ่มไม่ทัน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน ต้องรับประทานยาคุมติดต่อกันให้ครบ 2 วันจึงจะมีผลป้องกันได้

ถ้าต่อแผงใหม่ตรงเวลา ก็ถือว่ามีผลป้องกันทุกวัน

 

แต่ถ้าต่อ “เอ็กซ์ลูตอน” หรือ “เดลิต้อน” แผงใหม่ช้าเกิน 3 ชั่วโมง หรือต่อ “ซีราเซท” แผงใหม่ช้าเกิน 12 ชั่วโมง ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางป้องกันร่วมด้วยไปอีก 2 วัน

 

 

  1. ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยว ซึ่งมีทั้งเม็ดยาฮอร์โมนและเม็ดยาหลอก

 

                แม้ว่ายาคุมฮอร์โมนเดี่ยวจะมีความปลอดภัยสูงกว่ายาคุมฮอร์โมนรวม อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงเด่นในเรื่องการมีเลือดออกกะปริบกะปรอย, ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือไม่มีประจำเดือน กลับทำให้ไม่เป็นที่นิยมใช้เท่าที่ควร

                “สลินดา” (Slinda) ซึ่งเป็นยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวรูปแบบใหม่ล่าสุด ที่ใช้ตัวยาฮอร์โมนรุ่นใหม่อย่างดรอสไพรีโนน (Drospirenone) จึงอาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ทนผลข้างเคียงดังกล่าวไม่ได้ เนื่องจากมีช่วงที่รับประทานเม็ดยาหลอกเป็นช่วงปลอดฮอร์โมนให้ประจำเดือนมา จึงคาดคะเนช่วงเวลาที่จะมีประจำเดือนได้เช่นเดียวกับการใช้ยาคุมฮอร์โมนรวมนั่นเอง

ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวที่มีทั้งเม็ดยาฮอร์โมนและเม็ดยาหลอก

 

                นอกจากนั้น ประสิทธิภาพในการยับยั้งไข่ตกก็สูงขึ้นอีก และใช้เป็นกลไกหลักในการป้องกันการตั้งครรภ์เหมือนกับยาคุมฮอร์โมนรวมค่ะ

 

                โดยผู้ผลิตแนะนำให้เริ่มใช้ “สลินดา” แผงแรก ในวันแรกของการมีประจำเดือน และจะถือว่ามีผลคุมกำเนิดได้ทันที เนื่องจากยาคุมสามารถยับยั้งการตกไข่ในรอบเดือนนั้นได้เลย

                แต่ถ้าเริ่มรับประทานช้ากว่านั้น (ซึ่งสามารถใช้ได้ หากไม่มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ก่อนใช้ยาคุม) ก็ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันร่วมด้วย ไปจนกว่าจะรับประทานเม็ดยาฮอร์โมนติดต่อกันครบ 7 วันก่อน

 

                “สลินดา” เป็นยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวที่มีช่วงปลอดฮอร์โมน ประจำเดือนจึงควรจะมาในช่วงที่รับประทานเม็ดยาหลอก โดยมักจะมาประมาณเม็ดที่ 27 หรือ 28 ของแผง

                เมื่อรับประทานแผงเดิมหมดแผงแล้วก็ให้ต่อแผงใหม่ในวันถัดมาได้เลยนะคะ หากต่อยาคุมแผงใหม่ตรงตามกำหนด จะถือว่ามีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องกันทุกวัน

                แต่ถ้าต่อ “สลินดา” แผงใหม่ช้าเกิน 24 ชั่วโมง ก็ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันร่วมด้วย ไปจนกว่าจะรับประทานเม็ดยาฮอร์โมนติดต่อกันครบ 7 วัน

                และในช่วงที่ไม่มีผลคุมกำเนิดใด ๆ อยู่ หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันไปแล้ว ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมง หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ไม่พร้อมค่ะ

 

จะต้องรับประทาน “สลินดา” กี่วัน จึงมีผลป้องกันการตั้งครรภ์ได้

การเริ่มยาคุมแผงแรก

การต่อยาคุมแผงใหม่

ถ้าใช้ในวันแรกของการมีประจำเดือน ถือว่าป้องกันได้ทันที

 

แต่ถ้าเริ่มไม่ทันวันแรกของการมีประจำเดือน ต้องรับประทานยาคุมติดต่อกันให้ครบ 7 วันจึงจะมีผลป้องกันได้

ถ้าต่อแผงใหม่ตรงเวลา ก็ถือว่ามีผลป้องกันทุกวัน

 

แต่ถ้าต่อแผงใหม่ช้าเกิน 24 ชั่วโมง ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางป้องกันร่วมด้วยจนใช้ยาคุมติดต่อกันครบ 7 วัน

               

 

  1. ยาคุมฮอร์โมนรวม

 

                ยาคุมฮอร์โมนรวมแบบ 28 เม็ดนั้นมีหลายรูปแบบนะคะ ส่วนใหญ่จะแบบฮอร์โมนแบบระดับเดียว (Monophasic combined pill) โดยที่พบมากก็คือ สูตร 21/7 ซึ่งมีเม็ดยาฮอร์โมน 21 เม็ดและเม็ดยาหลอก 7 เม็ด และที่เริ่มพบมากขึ้น ก็คือสูตร 24/4 ซึ่งมีเม็ดยาฮอร์โมน 24 เม็ดและเม็ดยาหลอก 4 เม็ด

ยาคุมฮอร์โมนรวมที่มีเม็ดยาหลอก 7 เม็ด และ 4 เม็ด

                และก็ยังมียาคุมฮอร์โมนรวมแบบฮอร์โมนหลายระดับ ซึ่งเม็ดยาฮอร์โมนแต่ละเม็ดในแผงจะมีเอสโตรเจนและโปรเจสตินในปริมาณที่แตกต่างกัน โดยยี่ห้อที่เคยมีการใช้ในประเทศไทยแต่ปัจจุบันได้ยกเลิกการขึ้นทะเบียนไปแล้วก็เช่น “ไตรควีล่าร์ อีดี” (Triquilar ED) และ “ไตรเจสเทล” (Trigestrel) ส่วนยี่ห้อที่ยังมีการขึ้นทะเบียนอยู่ ได้แก่ “ไคลรา” (Qlaira) แต่เป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ต้องให้แพทย์สั่งใช้เท่านั้น

 

                และเช่นเดียวกับยาคุมฮอร์โมนรวมแบบ 21 เม็ด นั่นคือ การยับยั้งการตกไข่ถือเป็นกลไกหลักที่ยาคุมฮอร์โมนรวมแบบ 28 เม็ดใช้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ค่ะ

                ดังนั้น ในกรณีที่ใช้ยาคุมแผงแรก โดยเริ่มรับประทานเม็ดยาฮอร์โมนภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน และใช้ต่อเนื่องตรงเวลาสม่ำเสมอ ยาคุมก็จะสามารถยับยั้งการตกไข่ในรอบเดือนนั้นได้เลย จึงถือว่ามีผลคุมกำเนิดได้ทันทีที่เริ่มใช้

                แต่ถ้ารับประทานเม็ดยาฮอร์โมนไม่ทัน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน (ซึ่งสามารถใช้ได้ หากไม่มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ก่อนใช้ยาคุม) ก็อาจยับยั้งไข่ที่กำลังจะตกในรอบเดือนนั้นไม่ทัน จึงควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย ไปจนกว่าจะได้รับประทานเม็ดยาฮอร์โมนติดต่อกันครบ 7 วันก่อน

 

                อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิต “ไคลรา” แนะนำให้เริ่มรับประทานยาคุมแผงแรกในวันแรกของการมีประจำเดือน จึงจะถือว่ามีผลคุมกำเนิดได้ทันทีที่เริ่มใช้      หากเริ่มรับประทานหลังจากนั้น ก็ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย ไปจนกว่าจะรับประทานยาคุมติดต่อกันครบ 9 วันก่อน

                เนื่องจากเม็ดที่ 1 และ 2 ในแผงของ “ไคลรา” นั้นมีเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่วนเม็ดยาที่รวมทั้งเอสโตรเจนและโปรเจสตินไว้ในเม็ดเดียวกันจะเริ่มจากเม็ดที่ 3 ของแผง ดังนั้น หลักการที่ให้นับว่าใช้เม็ดยาฮอร์โมนครบ 7 วันหรือยัง ในกรณีของ “ไคลรา” จึงต้องนับตั้งแต่เม็ดที่ 3 ไปหาเม็ดที่ 9 ของแผงนั่นเอง

 

                และสำหรับ “ไมโครไกนอน 30 ทว.” ซึ่งเม็ดยาฮอร์โมนเม็ดแรกในแถบสีแดงจะตรงกับวันเสาร์ การกำหนดให้เริ่มรับประทานเม็ดยาในแถบสีแดงก่อน โดยเลือกเม็ดยาให้ตรงตามวัน ด้วยเหตุนี้ แม้จะเริ่มยาคุมแผงแรกภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน แต่ผู้ใช้บางรายก็อาจได้รับเม็ดยาฮอร์โมนไม่ทันภายใน 5 วันดังกล่าว

                ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะต้องงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย ไปจนกว่าจะได้รับประทานเม็ดยาฮอร์โมนในแผงของ “ไมโครไกนอน 30 ทว.” ติดต่อกันครบ 7 วันก่อนนะคะ

 

 

                ยาคุมแบบ 28 เม็ดจะมีการรับประทานต่อเนื่องกันทุกวัน ดังนั้น เมื่อใช้เม็ดสุดท้ายของแผงเดิมไปแล้ว ก็ให้ต่อแผงใหม่ในวันถัดมาได้เลย

                ถ้าต่อยาคุมแผงใหม่ตรงตามกำหนด หรือช้ากว่ากำหนดไม่มากนัก และใช้ต่อเนื่องตรงเวลาสม่ำเสมอ ก็สามารถจะยับยั้งการตกไข่ในรอบเดือนใหม่ได้ทัน จึงถือว่ามีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องกันทุกวันค่ะ

                การต่อยาคุมแผงใหม่ช้า โดยเฉพาะเมื่อเกินกรอบเวลายืดหยุ่นที่อนุโลมให้รับประทานช้าได้โดยจะยังมีผลคุมกำเนิดอยู่ (แต่ประสิทธิภาพก็อาจลดลงหากเทียบกับการรับประทานตรงเวลาสม่ำเสมอ) จะทำให้มีช่วงปลอดฮอร์โมนนานเกินกว่าที่ควรเป็น จึงอาจทำให้ไปยับยั้งการตกไข่ในรอบเดือนใหม่ไม่ทัน

 

                ในกรณีที่ต่อยาคุมฮอร์โมนรวมแผงใหม่ช้า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) และคณะอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ สหราชอาณาจักร (FSRH) กำหนดแนวทางปฏิบัติไว้ว่า หากเริ่มแผงใหม่ช้าเกินกำหนดตั้งแต่ 48 ชั่วโมงขึ้นไปนับจากเวลาที่ควรใช้ ให้รีบรับประทาน 1 เม็ดทันทีที่ทำได้ แล้วรอรับประทานเม็ดต่อ ๆ ไปตามเวลาปกติ

                แต่ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือหรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันร่วมด้วย ไปจนกว่าจะได้รับประทานเม็ดยาฮอร์โมนติดต่อกันครบ 7 วันก่อน

                และหากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันไปแล้วในช่วงที่ไม่มีการรับประทานเม็ดยาฮอร์โมน หากยังไม่เกิน 72 ชั่วโมง หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ ควรพิจารณาการใช้ยาคุมฉุกเฉินเพื่อลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ไม่พร้อมด้วยนะคะ

 

                ส่วนแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) จะใช้กรอบเวลายืดหยุ่นที่ 48 ชั่วโมงเช่นกัน สำหรับยาคุมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน Ethinyl estradiol ไม่เกิน 0.020 มิลลิกรัม

                แต่สำหรับยาคุมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน Ethinyl estradiol มากกว่า 0.020 มิลลิกรัม แต่ไม่ถึง 0.050 มิลลิกรัม องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ปรับกรอบเวลายืดหยุ่นจาก 48 ชั่วโมง ไปเป็น 72 ชั่วโมง

 

                ดังนั้น ในกรณีที่ทราบว่ายาคุมฮอร์โมนรวมที่ใช้มี Ethinyl estradiol 0.030 – 0.035 มิลลิกรัม อาจใช้กรอบเวลายืดหยุ่นเมื่อต่อแผงใหม่ช้าที่ 48 ชั่วโมง หรือ 72 ชั่วโมงก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าอ้างอิงจากแนวทางใด

                โดยจะพิจารณาว่าการต่อแผงใหม่ช้านั้น ทำให้มีช่วงปลอดฮอร์โมนนานเกินกว่าที่ควรจะเป็น และเกินกรอบเวลายืดหยุ่นหรือไม่ จากการใช้เม็ดยาฮอร์โมนที่รวมทั้งเอสโตรเจนและโปรเจสตินเป็นหลักค่ะ

 

จะต้องรับประทานยาคุมฮอร์โมนรวมแบบ 28 เม็ดกี่วัน จึงมีผลป้องกันการตั้งครรภ์ได้

การเริ่มยาคุมแผงแรก

การต่อยาคุมแผงใหม่

ถ้าใช้เม็ดยาฮอร์โมนภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน ก็ถือว่ามีผลป้องกันได้ทันที

 

แต่ถ้าเริ่มเม็ดยาฮอร์โมนไม่ทัน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางป้องกันร่วมด้วย จนกว่าจะใช้เม็ดยาฮอร์โมนติดต่อกันครบ 7 วัน

 

 

สำหรับ “ไคลรา” ให้เริ่มใช้ภายในวันแรกของการมีประจำเดือน มิฉะนั้นก็จะต้องรอให้ใช้ครบ 9 วันก่อน จึงจะมีผลป้องกันได้

ถ้าต่อแผงใหม่ตรงเวลา ก็ถือว่ามีผลป้องกันทุกวัน

 

แต่ถ้าต่อแผงใหม่ช้าตั้งแต่ 48 ชั่วโมงขึ้นไป (หรือ 72 ชั่วโมงในกรณีของยาคุมที่มี Ethinyl estradiol 0.030 – 0.035 มิลลิกรัม หากอ้างอิงตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก) ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางป้องกันร่วมด้วย จนกว่าจะใช้เม็ดยาฮอร์โมนติดต่อกันครบ 7 วัน

 

 

สำหรับ “ไคลรา” ถ้าต่อแผงใหม่ช้าเกิน 12 ชั่วโมง ก็จะต้องรอให้ใช้ครบ 9 วันก่อน จึงจะมีผลป้องกันได้

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. FSRH CEU Guidance: Recommended Actions after Incorrect Use of Combined Hormonal Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, 2020.
  2. FSRH CEU Guidance: Progestogen-only Pills, 2015. (Updated April 2019)
  3. S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  4. Selected Practice Recommendationsfor Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
  5. เอกสารกำกับยา Slinda®
  6. เอกสารกำกับยา Qlaira®