“ยาส” ไม่ใช่ “ยาสมิน” แบบ 28 เม็ด

                อาจเป็นเพราะชื่อที่คล้ายกัน ทำให้บางคนคิดไปว่า “ยาส” (Yaz) ก็คือ “ยาสมิน” (Yasmin) ในรูปแบบ 28 เม็ด ซึ่งนั่นเป็นความเข้าใจที่ผิดนะคะ

                ในบางประเทศ “ยาสมิน” จะมีจำหน่ายทั้งรูปแบบ 21 เม็ดและ 28 เม็ด โดยรูปแบบ 28 เม็ดจะมี “เม็ดยาฮอร์โมน” 21 เม็ดเท่ากันกับรูปแบบ 21 เม็ด ส่วน 7 เม็ดที่เหลือเป็นเพียง “เม็ดยาหลอก” ที่ไม่มีตัวยาสำคัญใด ๆ

                แต่ในประเทศไทย “ยาสมิน” มีจำหน่ายเฉพาะรูปแบบ 21 เม็ดค่ะ

yasmin and yasmin28 Pharma-Bayer AByasmin21 and yasmin28 Canadian Pharmacy King

ในบางประเทศ “ยาสมิน” จะมีทั้งรูปแบบ 21 และ 28 เม็ด

(ขอบคุณภาพประกอบจาก Pharma-Bayer AB และ Canadian Pharmacy King)

 

                และแม้ว่าจะเคยมีการขึ้นทะเบียนตำรับ “ยาสมิน พลัส” (Yasmin Plus) ที่เป็นยาคุมรูปแบบ 28 เม็ดในบ้านเรา แต่ก็มีความแตกต่างไปจาก “ยาสมิน” เนื่องจากในแต่ละเม็ดของ “ยาสมิน พลัส” ไม่ว่าจะเป็น “เม็ดยาฮอร์โมน” 21 เม็ด หรือ “เม็ดยาหลอก” 7 เม็ด จะมีการเสริมตัวยา Levomefolate calcium 0.451 มิลลิกรัม เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับกรดโฟลิควันละ 0.4 มิลลิกรัมไปด้วย

                “ยาสมิน พลัส” เป็นยาควบคุมพิเศษ จึงต้องจ่ายตามใบสั่งแพทย์ และถูกยกเลิกทะเบียนตำรับไปแล้วเมื่อ 21 ตุลาคม พ.ศ.2562 นะคะ เนื่องจากไม่ได้มีการผลิตหรือนำเข้า 2 ปีติดต่อกัน

 

                ยาคุม “ยาส” และ “ยาสมิน” เป็นยานอก ที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศโดยบริษัทไบเออร์ไทย จำกัด ทั้งคู่มีตัวยาสำคัญ 2 ชนิดเหมือนกัน ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ชื่อว่า Ethinyl estradiol กับฮอร์โมนโปรเจสตินที่ชื่อว่า Drospirenone

                และด้วยคุณสมบัติของ Drospirenone ในการต้านฤทธิ์แอนโดรเจนนี่เอง ที่ทำให้ “ยาส” และ “ยาสมิน” มีจุดเด่นตรงกันในการต้านสิวและต้านการบวมน้ำค่ะ

 

                แม้ว่าจะมีตัวยาชนิดเดียวกัน โดยปริมาณของ Drospirenone ใน “เม็ดยาฮอร์โมน” ของทั้ง 2 ยี่ห้อยังเท่ากันอีก แต่ “ยาส” ก็แตกต่างไปจาก “ยาสมิน” นะคะ

                ประการแรก ปริมาณ Ethinyl estradiol ใน “เม็ดยาฮอร์โมน” ของ “ยาส” คือ 0.02 มิลลิกรัม (ถือเป็นยาคุมฮอร์โมนต่ำมาก หรือ Ultra low dose pills) ส่วน “ยาสมิน” จะมีเม็ดละ 0.03 มิลลิกรัม (ถือเป็นยาคุมฮอร์โมนต่ำ หรือ Low dose pills)

                ดังนั้น ผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน ไม่ว่าจะเป็นอาการคลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, บวมน้ำ หรือการเกิดฝ้า จะพบจากการใช้ “ยาส” ได้น้อยกว่า “ยาสมิน” ค่ะ

 

                ประการต่อมาก็คือ ในแผงของ “ยาส” จะมี “เม็ดยาฮอร์โมน” 24 เม็ด รวมกับ “เม็ดยาหลอก” 4 เม็ด เมื่อใช้หมดแผงแล้วก็ให้ต่อแผงใหม่ในวันถัดมา จึงทำให้ผู้ใช้ได้รับฮอร์โมน 24 วัน สลับด้วยช่วงปลอดฮอร์โมน 4 วัน

                ในขณะที่ในแผงของ “ยาสมิน” มี “เม็ดยาฮอร์โมน” 21 เม็ด ไม่มี “เม็ดยาหลอก” เมื่อใช้หมดแผงแล้วจะเว้นว่าง 7 วันก่อนต่อยาคุมแผงใหม่ ผู้ใช้จึงได้รับฮอร์โมน 21 วัน สลับด้วยช่วงปลอดฮอร์โมน 7 วัน

blank blank

 

                การที่ “ยาส” มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำกว่าและมีช่วงปลอดฮอร์โมนที่สั้นกว่า ทำให้ระดับฮอร์โมนในช่วงที่ได้รับฮอร์โมนและช่วงที่ปลอดฮอร์โมนไม่แปรปรวนมาก จึงช่วยลดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome; PMS) เช่น อารมณ์แปรปรวน, หงุดหงิด, ซึมเศร้า, เครียด, ปวดศีรษะ, ปวดประจำเดือน หรือเจ็บคัดตึงเต้านม รวมถึงลดปัญหาประจำเดือนมามากผิดปกติ ได้ดีกว่า “ยาสมิน”

 

                และเนื่องจากประจำเดือนมักจะมาหลังจากใช้เม็ดยาฮอร์โมนหมดไปแล้ว 2 – 3 วัน ดังนั้น ประจำเดือนของผู้ใช้ “ยาส” ซึ่งมีจำนวน “เม็ดยาฮอร์โมน” มากกว่า จึงมาช้ากว่าผู้ใช้ “ยาสมิน” นะคะ

                โดยหากนับวันที่รับประทานยาคุมเม็ดแรกของแผงเป็นวันที่ 1 ประจำเดือนของผู้ใช้ “ยาส” จะมาประมาณวันที่ 27 หรือ 28 (ตรงกับช่วงที่ใช้ “เม็ดยาหลอก” เม็ดที่ 3 หรือ 4 ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 27 หรือ 28 ของแผงนั่นเอง) ส่วนประจำเดือนของผู้ใช้ “ยาสมิน” จะมาประมาณวันที่ 24 – 25 (ซึ่งตรงกับวันที่ 3 หรือ 4 ของการเว้นว่างค่ะ)

 

                แม้ว่ายาคุมที่มีช่วงปลอดฮอร์โมนสั้นอย่าง “ยาส” ในทางทฤษฎีแล้วน่าจะยับยั้งไข่ตกได้ดีกว่า แต่ถ้ารับประทานถูกต้องและตรงเวลาสม่ำเสมอ ก็ถือว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ของ “ยาส” และ “ยาสมิน” ไม่ได้แตกต่างกันนะคะ

                อย่างไรก็ตาม หากลืมหรือรับประทานยาคุมไม่ตรงเวลา รวมไปถึงการใช้ยาหรือสมุนไพรบางอย่างที่อาจลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิด นอกจากทำให้มีเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ง่ายแล้ว ก็ยังเสี่ยงที่จะล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะยาคุมที่มีปริมาณฮอร์โมนต่ำมากซึ่งมีความยืดหยุ่นน้อยกว่า

               

                การที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า ทำให้ “ยาส” มีราคาแพงกว่า “ยาสมิน” โดย “ยาส” มีราคาแผงละ 420 – 460 บาทโดยประมาณ ส่วน “ยาสมิน” มีราคาแผงละ 370 – 420 บาทโดยประมาณค่ะ

 

ยาสมิน (Yasmin)

ยาสมิน 28 (Yasmin 28)

ยาส (Yaz)

รูปแบบ :

ยาคุมแบบ 21 เม็ด

รูปแบบ :

ยาคุมแบบ 28 เม็ด

เม็ดยาฮอร์โมน 21 เม็ด

แต่ละเม็ดมี Ethinyl estradiol 0.03 มิลลิกรัม + Drospirenone 3 มิลลิกรัม

เม็ดยาฮอร์โมน 24 เม็ด

แต่ละเม็ดมี Ethinyl estradiol 0.02 มิลลิกรัม + Drospirenone 3 มิลลิกรัม

ไม่มีเม็ดยาหลอก

เม็ดยาหลอก 7 เม็ด

ซึ่งไม่มีตัวยาสำคัญใด ๆ

เม็ดยาหลอก 4 เม็ด

ซึ่งไม่มีตัวยาสำคัญใด ๆ

วิธีใช้ :

ใช้หมดแล้ว เว้น 7 วันก่อนต่อแผงใหม่

วิธีใช้ :

ใช้หมดแล้ว ต่อแผงใหม่ในวันถัดมา

การขึ้นทะเบียนยา :

ยานำเข้าจากต่างประเทศ

การขึ้นทะเบียนยา :

ไม่มีการขึ้นทะเบียนยาในประเทศไทย

การขึ้นทะเบียนยา :

ยานำเข้าจากต่างประเทศ

ราคา :

370 – 420 บาท

ราคา :

ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย

ราคา :

420 – 460 บาท

 

 

เปลี่ยนจาก “ยาสมิน” ไปใช้ “ยาส”

                การเปลี่ยนยาคุมจาก “ยาสมิน” ไปเป็น “ยาส” สามารถเปลี่ยนได้ทันทีที่ต้องการ โดยไม่จำเป็นจะต้องรอให้ยาคุมแผงเดิมหมดก่อน แต่ถ้าใช้ “เม็ดยาฮอร์โมน” ต่อเนื่องกันโดยไม่มีช่วงเว้นว่าง ประจำเดือนรอบนี้ก็จะถูกเลื่อนออกไป แล้วมาในช่วงปลอดฮอร์โมนของรอบถัดมาแทน

                หรืออาจรอให้ใช้ “ยาสมิน” ครบ 21 เม็ด แล้วเว้นว่าง 7 วันเพื่อเป็นช่วงปลอดฮอร์โมนให้ประจำเดือนมา จากนั้นจึงเริ่มรับประทาน “ยาส” ในวันที่ครบกำหนดต่อยาคุมแผงใหม่ก็ได้เช่นกัน

 

                การเปลี่ยนจาก “ยาสมิน” ไปใช้ “ยาส” จะเพิ่มค่าใช้จ่ายจากแผงละ 370 – 420 บาท ไปเป็น 420 – 460 บาท แต่ก็ช่วยลดผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน (เช่น คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, บวมน้ำ หรือฝ้า), ลดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (เช่น อารมณ์แปรปรวน, หงุดหงิด, ซึมเศร้า, เครียด, ปวดศีรษะ, ปวดประจำเดือน หรือเจ็บคัดตึงเต้านม) และช่วยลดปัญหาประจำเดือนมามากผิดปกติ

 

                อย่างไรก็ตาม การใช้ยาคุมที่มีปริมาณฮอร์โมนต่ำมากอย่าง “ยาส” อาจพบปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะถ้ารับประทานยาคุมไม่ตรงเวลาสม่ำเสมอ

                และยาคุมที่มีปริมาณฮอร์โมนต่ำมากอาจไม่สามารถยับยั้งการตกไข่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ที่ใช้ยาบางตัวในกลุ่มของยากันชัก, ยารักษาวัณโรค และยาต้านไวรัสสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือสมุนไพรอย่างเซนต์จอห์นเวิร์ต, ผู้ที่มีปัญหาลืมรับประทานยาคุมอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงผู้ที่มีน้ำหนักเกิน โดยมีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) ตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป จึงควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อพิจารณาวิธีการคุมกำเนิดหรือสูตรยาคุมที่เหมาะสมนะคะ

 

 

เปลี่ยนจาก “ยาส” ไปใช้ “ยาสมิน”

                การเปลี่ยนยาคุมจาก “ยาส” ไปเป็น “ยาสมิน” สามารถเปลี่ยนได้ทันทีที่ต้องการ โดยไม่จำเป็นจะต้องรอให้ยาคุมแผงเดิมหมดก่อน แต่ถ้าใช้ “เม็ดยาฮอร์โมน” ต่อเนื่องกันโดยไม่มีการใช้ “เม็ดยาหลอก” ประจำเดือนรอบนี้ก็จะถูกเลื่อนออกไป แล้วมาในช่วงปลอดฮอร์โมนของรอบถัดมาแทน

                หรือใช้ “ยาส” ต่อไปจนครบ 28 เม็ด ประจำเดือนก็จะมาในช่วงปลอดฮอร์โมน ซึ่งก็คือช่วงที่ใช้ “เม็ดยาหลอก” นั่นเอง และเมื่อใช้ “ยาส” หมดแผงไปแล้วจึงเริ่มรับประทาน “ยาสมิน” ในวันถัดมา

 

                การเปลี่ยนจาก “ยาส” ไปใช้ “ยาสมิน” จะช่วยให้ค่าใช้จ่ายลดลง แต่ผลข้างเคียงก็อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งหากทนผลข้างเคียงดังกล่าวไม่ได้ ก็สามารถเปลี่ยนกลับไปใช้ “ยาส” ได้อีก หรือเปลี่ยนไปใช้ยาคุมยี่ห้ออื่นที่มีราคาย่อมเยากว่าค่ะ