มีเพศสัมพันธ์ในช่วงหลังไข่ตก จากนั้นก็มีซ้ำอีกใน 2 และ 4 วันถัดมา โดยใช้วิธีหลั่งนอกทุกครั้ง และไม่ได้รับประทานยาคุมฉุกเฉิน ถ้าผ่านวันที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดไปแล้ว 1 วัน จะยังสามารถใช้ยาคุมฉุกเฉินได้มั้ย
จากกรณีตัวอย่าง มีข้อควรพิจารณาใน 4 ประเด็น ดังนี้นะคะ
- การมีเพศสัมพันธ์แบบหลั่งนอกในช่วงหลังไข่ตก มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์หรือไม่
- ถ้ามีความเสี่ยง การรับประทานยาคุมฉุกเฉินสามารถลดความเสี่ยงได้หรือเปล่า
- การรับประทานยาคุมฉุกเฉินในครั้งนี้ จะป้องกันเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์รอบล่าสุด หรือทุก ๆ รอบ
- ถ้าผลป้องกันไม่ครอบคลุมถึงการมีเพศสัมพันธ์รอบก่อน จะรับประทานยาคุมฉุกเฉินดีมั้ย
การมีเพศสัมพันธ์แบบหลั่งนอก ในช่วงหลังไข่ตก มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์หรือไม่
ไข่ที่ตกมาแล้ว สามารถอยู่รอดได้ประมาณ 24 ชั่วโมง เพื่อรอการปฏิสนธิกับอสุจิ1 และสลายตัวไปเมื่อไม่ได้รับการผสม หลังจากนั้นไปจนถึงวันที่มีประจำเดือนมา ในทางทฤษฎี จึงเป็นช่วงที่มีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่ทำให้ตั้งครรภ์
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ วันที่มีไข่ตกจริง อาจคลาดเคลื่อนไปจากวันที่คำนวณหรือคาดการณ์ไว้ได้ค่ะ โดยเฉพาะผู้ที่มีรอบประจำเดือนไม่ปกติหรือไม่สม่ำเสมอ ซึ่งอาจพบมากในบางวัย หรือเกิดจากภาวะทางสุขภาพบางอย่าง รวมไปถึงการใช้ยาบางชนิด
ดังนั้น หากผู้ถามคำนวณหรือใช้แอปพลิเคชันเพื่อหาวันไข่ตก แล้วมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือป้องกันด้วยวิธีที่มีประสิทธิต่ำ หลังจากที่คาดว่าไข่ตกไปแล้ว ก็ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ได้มาก
การหลั่งนอก หากทำได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์แบบทุก ๆ ครั้ง (Perfect use) จะมีโอกาสตั้งครรภ์ 4% แต่ถ้าไม่ชำนาญ ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้ทั่วไป (Typical use) ถือว่ามีโอกาสตั้งครรภ์สูงถึง 20%2 จึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีในการป้องกันการตั้งครรภ์นะคะ
ถ้ามีความเสี่ยง การรับประทานยาคุมฉุกเฉิน สามารถลดความเสี่ยงได้หรือเปล่า
ยาคุมฉุกเฉินที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ 1 เม็ด เช่น เมเปิ้ลฟอร์ท (Maple forte), แทนซีวัน (Tansy one), มาดอนน่าวัน (Madonna one), รีโวค-1.5 (Revoke-1.5) หรือ โพสต์ 1 ฟอร์ต (Post 1 forte) หรือรูปแบบ 2 เม็ด เช่น โพสตินอร์ (Postinor), มาดอนน่า (Madonna), แมรี่ พิงค์ (Mary pink), แอปคาร์ นอร์แพก (ABCA Norpak), เลดี้นอร์ (Ladynore), แจนนี่ (Janny) หรือ เอ-โพสน็อกซ์ (A-Posnox) ก็ถือเป็นยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel) เหมือนกัน
หากรับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลอย่างถูกต้องและเหมาะสม อาจลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ให้เหลือเป็น 1 ใน 8 ค่ะ2
กลไกหลักที่ยาคุมฉุกเฉินใช้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ ก็คือ ไปชะลอการตกไข่ ซึ่งหากรับประทานใกล้เวลาที่ไข่กำลังจะตก ก็อาจเลื่อนการตกไข่ไม่ทัน โอกาสป้องกันล้มเหลวจึงมีมากกว่าวิธีคุมกำเนิดปกติ แม้จะรับประทานยาคุมฉุกเฉินถูกต้อง และใช้ทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือเร็วที่สุดที่จะทำได้ภายในเวลาที่แนะนำแล้วก็ตาม
การนำยาคุมฉุกเฉินมาใช้ เพียงเพราะไม่อยากสวมถุงยางอนามัยหรือไม่อยากรับประทานยาคุมรายเดือน จึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนะคะ
การรับประทานยาคุมฉุกเฉินในครั้งนี้ จะป้องกันเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์รอบล่าสุด หรือทุก ๆ รอบ
แนะนำให้รับประทานยาคุมฉุกเฉินทันที หรือเร็วที่สุดที่ทำได้ ภายใน 72 ชั่วโมง3 หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมง2,4 หลังมีเพศสัมพันธ์
โดยรับประทานตามวิธีใหม่ ซึ่งหลาย ๆ แนวทางถือเป็นวิธีใช้มาตรฐานในปัจจุบัน นั่นคือ สำหรับยาคุมฉุกเฉินรูปแบบ 1 เม็ด ก็รับประทานเม็ดเดียวครั้งเดียว ส่วนยาคุมฉุกเฉินรูปแบบ 2 เม็ด ก็รับประทานสองเม็ดพร้อมกันในครั้งเดียว2-4
หรือจะรับประทานยาคุมฉุกเฉินรูปแบบ 2 เม็ดตามวิธีดั้งเดิมก็ได้ โดยรับประทานครั้งละเม็ด ห่างกัน 12 ชั่วโมง4 แต่ควรระวังว่าถ้าลืม แล้วรับประทานเม็ดที่สองช้า หรือลืมรับประทาน ก็อาจทำให้ประสิทธิภาพลดลง หรือไม่สามารถป้องกันได้
หากการมีเพศสัมพันธ์ทั้ง 3 รอบของผู้ถาม อยู่ภายใน 120 ชั่วโมงก่อนรับประทาน ยาคุมฉุกเฉินก็อาจช่วยลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้ทั้งหมดค่ะ
ถึงเช่นนั้น ประสิทธิภาพก็อาจลดลงตามเวลาที่ผ่านไป ซึ่งถ้านับจากเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ในรอบแรก มาจนถึงเวลาที่รับประทานยา ก็ต้องถือว่ามีการใช้ที่ล่าช้ามาก โดยเฉพาะถ้าห่างกันเกิน 96 ชั่วโมงไปแล้ว ประสิทธิภาพก็ยิ่งลดลงมากนะคะ4
แต่การมีเพศสัมพันธ์รอบใดที่ไม่ได้อยู่ภายใน 120 ชั่วโมงก่อนรับประทาน ยาคุมฉุกเฉินก็ไม่สามารถป้องกันได้ จึงยังคงเสี่ยงมากที่จะตั้งครรภ์จากการมีเพศสัมพันธ์ในรอบนั้นค่ะ
ถ้าผลป้องกันไม่ครอบคลุมถึงการมีเพศสัมพันธ์รอบก่อน จะรับประทานยาคุมฉุกเฉินดีมั้ย
ในอดีต เคยมีความกังวลว่า หากยาคุมฉุกเฉินไม่สามารถป้องกันได้ หรือหากใช้หลังมีการตั้งครรภ์ไปแล้ว อาจทำให้แท้งบุตร หรือเสี่ยงที่จะเกิดความพิการในทารก
แต่ข้อมูลที่มีในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยา ยูลิพริสทอล อะซีเตท (Ulipristal acetate) หรือจะเป็น ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยา ลีโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel) หากล้มเหลวในการป้องกันจนเกิดการตั้งครรภ์ตามมา หรือได้รับในช่วงแรกเริ่มของการตั้งครรภ์ ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของการแท้งบุตรหรือพัฒนาการผิดปกติ3
ดังนั้น ในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ทั้งที่ผ่านมามากกว่า 5 วันแล้ว และภายใน 5 วันที่ผ่านมา ก็สามารถรับประทานยาคุมฉุกเฉินได้นะคะ3
เพราะแม้ว่ายาคุมฉุกเฉินจะไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ผ่านมามากกว่า 5 วันได้ แต่การใช้ในช่วงแรกเริ่มของการตั้งครรภ์ ก็ไม่ได้ทำให้แท้งหรือเกิดความพิการตามมา
และหากไม่ตั้งครรภ์ไปก่อนแล้ว การรับประทานยาคุมฉุกเฉินในวันนี้ ก็อาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ จากการมีเพศสัมพันธ์ภายใน 5 วันที่ผ่านมาได้ค่ะ
แต่ถ้ามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ที่ผ่านมามากกว่า 21 วัน แล้วยังไม่มีประจำเดือนมา ควรตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนว่าไม่มีการตั้งครรภ์ ก่อนที่จะรับประทานยาคุมฉุกเฉินด้วยนะคะ3
สรุปก็คือ การหลั่งนอกในวันที่คาดว่าผ่านช่วงไข่ตกไปแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ได้มาก ผู้ถามจึงควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินโดยเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 120 ชั่วโมงที่ผ่านมา
และแม้ว่ายาคุมฉุกเฉินจะไม่มีผลป้องกัน การมีเพศสัมพันธ์ที่ผ่านมานานกว่านั้นได้ แต่ก็ไม่เป็นอันตรายต่อทารก หากผู้ถามเกิดการตั้งครรภ์ค่ะ
เอกสารอ้างอิง / แหล่งข้อมูล
- FAQs: Fertility Awareness Based Methods of Family Planning. American College of Obstetricians and Gynecologists, January 2019. (Last reviewed August 2022)
- Family planning: A Global Handbook for Providers, 2022 edition.
- FSRH guideline: Emergency Contraception, March 2017. (Amended July 2023)
- U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.