กินยาคุมฉุกเฉินแล้วจำเป็นต้องมีประจำเดือนใน 7 วันมั้ย

กินยาคุมฉุกเฉินแล้วจำเป็นต้องมีประจำเดือนใน 7 วันมั้ย

                หลังกินยาคุมฉุกเฉินแล้ว จำเป็นมั้ยว่าจะต้องมีประจำเดือนมาภายใน 7 วัน ถึงจะแปลว่าไม่ท้อง

 

                งานวิจัยเกี่ยวกับผลจากการใช้ยาคุมฉุกเฉิน ทั้งกลุ่มที่รับประทานตามวิธีดั้งเดิม นั่นคือ ใช้ยาคุมแบบสองเม็ด โดยแบ่งรับประทานครั้งละเม็ดห่างกัน 12 ชั่วโมง และกลุ่มที่รับประทานตามวิธีใหม่ เช่น ใช้ยาคุมแบบ 2 เม็ด โดยรับประทานทั้ง 2 เม็ดพร้อมกันครั้งเดียว หรือรับประทานยาคุมแบบเม็ดเดียว โดยใช้เม็ดเดียวครั้งเดียว

                พบว่า มากกว่าครึ่งของผู้ใช้ มีประจำเดือนมาก่อนกำหนด หรือช้ากว่ากำหนด ไม่เกิน 2 วัน1,2 และมีเพียง 5% เท่านั้น ที่ประจำเดือนมาช้ากว่ากำหนดเกิน 7 วัน2

 

                จึงใช้เป็นข้อแนะนำว่า หลังรับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (ซึ่งเป็นยาคุมฉุกเฉินชนิดที่มีจำหน่ายในประเทศไทย และอีกหลายประเทศทั่วโลก) หากไม่ตั้งครรภ์ ประจำเดือนของผู้หญิงส่วนใหญ่จะมาภายใน 7 วันนับจากวันที่คาดไว้ และมีไม่ถึง 10% ที่ประจำเดือนล่าช้าเกิน 7 วัน

                หรือ… The majority of women menstruate within 7 days of the expected time after LNG-EC. Menstruation is delayed for over 7 days in fewer than 10% of women.3

                ต้องเน้นย้ำนะคะว่า หลังข้อความ “ประจำเดือนจะมาภายใน 7 วัน” นั้น จะต่อท้ายด้วย “นับจากวันที่คาดไว้”

                เพราะถ้าส่วนหลังถูกตัดออกไป จนเหลือเพียง “ประจำเดือนจะมาภายใน 7 วัน” อาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่า “ประจำเดือนจะมาภายใน 7 วันหลังรับประทาน”

 

                ยกตัวอย่างเช่น หากมีวงรอบประจำเดือนเป็น 28 วัน และประจำเดือนรอบล่าสุดมาตรงกับวันที่ 1 สิงหาคม วันที่คาดไว้ว่าประจำเดือนจะมาในรอบต่อไป ก็จะตรงกับวันที่ 29 สิงหาคม

                ถ้าประจำเดือนมาก่อนกำหนด 7 วัน ก็จะตรงกับวันที่ 22 สิงหาคม หรือถ้าประจำเดือนมาช้าเกินกำหนด 7 วัน ก็จะตรงกับวันที่ 5 กันยายน

                ดังนั้น สมมติว่ามีการรับประทานยาคุมฉุกเฉินในวันที่ 10 สิงหาคม หากไม่มีการตั้งครรภ์ ประจำเดือนก็น่าจะมา “ภายใน 7 วันนับจากวันที่คาดไว้” หรือในระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม – 5 กันยายนนั่นเอง

                ไม่ใช่ระหว่างวันที่ 10 – 17 สิงหาคม ซึ่งเป็น “ภายใน 7 วันหลังรับประทานยาคุมฉุกเฉิน” ค่ะ

 

                และเนื่องจากมีเพียงผู้ใช้ส่วนน้อย ที่ประจำเดือนจะมาช้าเกิน 7 วันนับจากวันที่คาดไว้ จึงควรตรวจการตั้งครรภ์หากยังไม่มีประจำเดือนมา

                หรือ… If her next monthly bleeding is more than 7 days later than expected after she takes ECPs, assess for pregnancy.4

 

                อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงจากยาคุมฉุกเฉิน เช่น คลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, ปวดเกร็งท้อง, คัดตึงเต้านม หรือมีเลือดออกกะปริบกะปรอย อาจเกิดขึ้นภายใน 7 วันหลังรับประทาน

                โดยพบปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ 14.7%1 หรือ 16%2 ซึ่งก็คือ มีน้อยกว่า 1 ใน 5 ของผู้ใช้ยาคุมฉุกเฉิน ที่อาจมีเลือดออกกะปริบกะปรอยภายใน 7 วันหลังรับประทานนะคะ

                แต่ไม่ว่าจะมี หรือไม่มีเลือดออกกะปริบกะปรอย รวมถึงผลข้างเคียงอื่น ๆ ภายหลังรับประทาน ก็ไม่ใช่สิ่งบ่งชี้ว่าการใช้ยาคุมฉุกเฉินในครั้งนั้น จะป้องกันได้ผลหรือเปล่า

 

                สรุปก็คือ ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีประจำเดือนมาภายใน 7 วันหลังรับประทานยาคุมฉุกเฉินค่ะ และไม่ว่าจะมีเลือดออกกะปริบกะปรอยภายใน 7 วันหลังรับประทานหรือไม่ ก็ไม่ได้แปลว่ามีการตั้งครรภ์หรือเปล่า

                จากตัวอย่างข้างต้น หากมีวงรอบประจำเดือนเป็น 28 วัน และประจำเดือนรอบล่าสุดมาตรงกับวันที่ 1 สิงหาคม เมื่อรับประทานยาคุมฉุกเฉินไปในวันที่ 10 สิงหาคม ก็อาจมีเลือดออกกะปริบกะปรอย หรืออาจไม่มีก็ได้ ภายในวันที่ 10 – 17 สิงหาคม

                หากไม่มีการตั้งครรภ์ ประจำเดือนก็น่าจะมาในระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม – 5 กันยายน ซึ่งถ้าพ้นระยะเวลานี้แล้วแต่ยังไม่มีประจำเดือน ก็ควรตรวจการตั้งครรภ์ด้วยนะคะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Gainer E, Kenfack B, Mboudou E, Doh AS, Bouyer J. Menstrual bleeding patterns following levonorgestrel emergency contraception. Contraception. 2006 Aug; 74(2) :118-24.
  2. Von Hertzen H, Piaggio G, Ding J, Chen J, Song S, Bártfai G, Ng E, Gemzell-Danielsson K, Oyunbileg A, Wu S, Cheng W, Lüdicke F, Pretnar-Darovec A, Kirkman R, Mittal S, Khomassuridze A, Apter D, Peregoudov A; WHO Research Group on Post-ovulatory Methods of Fertility Regulation. Low dose mifepristone and two regimens of levonorgestrel for emergency contraception: a WHO multicentre randomised trial. Lancet. 2002 Dec 7; 360(9348) :1803-10.
  3. Faculty for Sexual and Reproductive Health (FSRH) guideline: Emergency contraception. March 2017 (Amended December 2020).
  4. Family planning: A Global Handbook for Providers, 2022 edition.