เนื่องด้วยประสิทธิภาพที่ไม่สูงนัก ผู้ที่ใช้ยาคุมฉุกเฉินจึงมักจะ ‘ลุ้นระทึก’ และรอคอยการมาของเลือดประจำเดือน เพื่อยืนยันว่าไม่มีการตั้งครรภ์แน่นอนแล้ว
เมื่อยาคุมฉุกเฉินถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ข้อสงสัยที่ว่า “หลังกินยาคุมฉุกเฉิน ประจำเดือนจะมาตอนไหน” ก็ยิ่งถูกถามซ้ำมากขึ้น ซึ่งบ่อยครั้งที่มีการบอกต่อกันว่า “ถ้าไม่มีเลือดออกมาภายใน 1 สัปดาห์ ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะท้อง และต้องรีบทดสอบการตั้งครรภ์”
จริงหรือมั่ว? ชัวร์หรือไม่? …มาหาคำตอบจากข้อมูลทางวิชาการกันค่ะ
‘ยาคุมฉุกเฉิน’ ที่มีใช้ในอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน มีด้วยกันหลายชนิดนะคะ แต่ในบทความนี้ จะเน้นเฉพาะยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล ซึ่งมีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทยหลายยี่ห้อ ทั้งรูปแบบ 2 เม็ด ได้แก่ โพสตินอร์, มาดอนน่า, แมรี่พิงค์, นอร์แพก, เลดี้นอร์, แจนนี่ และ เอ-โพสน็อกซ์ หรือรูปแบบ 1 เม็ด ได้แก่ เมเปิ้ลฟอร์ท, แทนซีวัน, มาดอนน่าวัน, รีโวค-1.5 และ โพสต์ 1 ฟอร์ต
แม้ว่าปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ จะเป็นผลข้างเคียงหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้ยาคุมฉุกเฉิน แต่พบว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่จะมีประจำเดือนมาตรงเวลา หรือคลาดเคลื่อนไปจากวันที่คาดไว้ไม่เกิน 7 วัน1, 2, 3
งานวิจัยเรื่อง Menstrual bleeding patterns following levonorgestrel emergency contraception ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.20064 ได้ทำการศึกษาในกลุ่มผู้มีประวัติประจำเดือนมาตรงเวลาสม่ำเสมอใน 3 รอบเดือนที่ผ่านมา ที่รับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลแบบครบขนาดในครั้งเดียว ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์
พบว่า หากไม่มีการตั้งครรภ์ มากกว่า 50% ของผู้ใช้ จะมีประจำเดือนมาค่อนข้างตรงเวลา อาจเร็วหรือช้ากว่าวันที่คาดไว้ไม่เกิน 1 วัน
โดยมีไม่ถึง 10% ที่ประจำเดือนคลาดเคลื่อนมากกว่า 4 วัน
และต่อให้ประจำเดือนในรอบนี้จะคลาดเคลื่อนไปหลังใช้ยาคุมฉุกเฉิน แต่แทบจะไม่ส่งผลกระทบกับประจำเดือนในรอบถัดไปค่ะ
ผลการศึกษาดังกล่าว เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับงานวิจัยเรื่อง Low dose mifepristone and two regimens of levonorgestrel for emergency contraception ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.20025
ซึ่งพบว่าการใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล ไม่ว่าจะรับประทานครั้งละ 0.75 มิลลิกรัม 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง หรือจะรับประทานครั้งเดียวในขนาด 1.5 มิลลิกรัม ภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หากไม่มีการตั้งครรภ์ กว่าครึ่งของผู้ใช้จะมีประจำเดือนมาไม่เร็วหรือช้าเกิน 2 วันจากที่คาดไว้
และมีผู้ใช้เพียง 5% ที่ประจำเดือนมาช้ากว่าปกติเกิน 7 วัน
นอกจากนี้ งานวิจัยทั้งสองยังชี้ให้เห็นอีกว่า อาจมีเลือดออกกะปริบกะปรอยภายใน 7 วันหลังรับประทานยาคุมฉุกเฉิน แต่ก็พบเพียง 14.7%4 หรือ 16%5 ของผู้ใช้เท่านั้น
จึงไม่ต้องกังวลหากไม่มีเลือดออกภายใน 7 วันหลังรับประทาน โดยเฉพาะถ้ายังไม่ถึงช่วงเวลาที่ประจำเดือนจะมาตามปกติ เพราะเลือดกะปริบกะปรอยหลังใช้ยาคุมฉุกเฉิน เป็นเพียงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้
ดังนั้น ผู้ที่เคยมีประจำเดือนมาตรงเวลาสม่ำเสมอ หากไม่มีการตั้งครรภ์ หลังรับประทานยาคุมฉุกเฉินไปแล้ว ประจำเดือนก็ควรจะมาตามกำหนดเดิม หรือหากคลาดเคลื่อน ก็เร็วหรือช้ากว่าที่คาดไว้เพียงไม่กี่วัน
ถ้าเกินกำหนดไปมากกว่า 7 วันแล้วยังไม่มีประจำเดือนมา แนะนำให้ตรวจการตั้งครรภ์3นะคะ
ยกตัวอย่างเช่น สำหรับผู้ที่มีรอบประจำเดือนเป็น 28 วัน หากวันแรกที่ประจำเดือนในรอบล่าสุดมาตรงกับวันที่ 1 มกราคม ประจำเดือนในรอบถัด ๆ ไปก็จะมาในวันที่ 29 มกราคม และ 26 กุมภาพันธ์ ตามลำดับ
สมมติว่ามีการรับประทานยาคุมฉุกเฉินในช่วงกลางเดือนมกราคม หากไม่มีการตั้งครรภ์ ประจำเดือนก็น่าจะมาตามวันที่คาดไว้ นั่นคือ 29 มกราคม หรืออาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่เร็วหรือช้ากว่ากำหนดไม่เกิน 7 วัน ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 22 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์
สมมติอีกว่าประจำเดือนมาในวันที่ 28 มกราคม ซึ่งเร็วกว่ากำหนด 1 วัน แต่ประจำเดือนในรอบถัดไป ก็น่าจะมาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ โดยคาดการณ์จากระยะห่างที่เป็น 28 วันตามรอบประจำเดือนปกติ
แต่สำหรับผู้ที่ประจำเดือนมาไม่ตรงเวลาอยู่แล้ว ประจำเดือนในรอบที่ใช้ยาคุมฉุกเฉินก็อาจล่าช้าหรือมาไม่ปกติ ซึ่งเป็นผลจากปัญหาเดิมก็ได้
เพื่อความชัดเจนจึงควรตรวจการตั้งครรภ์ โดยอาจใช้ชุดทดสอบด้วยตนเอง ตรวจจากปัสสาวะแรกหลังตื่นนอนตอนเช้า ห่างจากวันที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดอย่างน้อย 14 วันค่ะ
และถ้าประจำเดือนมาไม่ปกติอยู่เรื่อย ๆ หรือไม่มีประจำเดือนมาติดต่อกันตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ทั้งที่ไม่มีการตั้งครรภ์ ก็ควรไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของความผิดปกติดังกล่าวด้วยนะคะ
เอกสารอ้างอิง
- Emergency contraception. Practice Bulletin No. 152. American College of Obstetricians and Gynecologists. Obstet Gynecol 2015;126:e1–11.
- International Consortium for Emergency Contraception (ICEC); International Federation of Gynecology and Obstetrics (FIGO). Emergency Contraceptive Pills: Medical and Service Delivery Guidance, 4th ed.; International Consortium for Emergency Contraception: New York, NY, USA, 2018.
- Faculty for Sexual and Reproductive Health (FSRH) guideline: Emergency contraception. March 2017 (Amended December 2020).
- Gainer E, Kenfack B, Mboudou E, Doh AS, Bouyer J. Menstrual bleeding patterns following levonorgestrel emergency contraception. Contraception. 2006 Aug;74(2):118-24. doi: 10.1016/j.contraception.2006.02.009. Epub 2006 Apr 27. PMID: 16860049; PMCID: PMC1934349.
- Von Hertzen H, Piaggio G, Ding J, Chen J, Song S, Bártfai G, Ng E, Gemzell-Danielsson K, Oyunbileg A, Wu S, Cheng W, Lüdicke F, Pretnar-Darovec A, Kirkman R, Mittal S, Khomassuridze A, Apter D, Peregoudov A; WHO Research Group on Post-ovulatory Methods of Fertility Regulation. Low dose mifepristone and two regimens of levonorgestrel for emergency contraception: a WHO multicentre randomised trial. Lancet. 2002 Dec 7;360(9348):1803-10. doi: 10.1016/S0140-6736(02)11767-3. PMID: 12480356.