5 สาเหตุที่ใช้ยาคุมฉุกเฉินไม่ได้ผล

5 สาเหตุที่ใช้ยาคุมฉุกเฉินไม่ได้ผล

        มีหลายสาเหตุที่อาจลดประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินได้ โดยในบทความนี้จะแนะนำปัญหาซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (LNG-EC) ไม่ได้ผล รวมถึงวิธีป้องกันและแก้ไขค่ะ

 

  1. รับประทานไม่ครบ

 

         วิธีดั้งเดิมในการรับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (LNG-EC) ก็คือ ใช้รูปแบบที่มีแผงละ 2 เม็ด ซึ่งมีตัวยาสำคัญเม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม มาแบ่งรับประทานครั้งละ 1 เม็ดห่างกัน 12 ชั่วโมง แต่ปัญหาที่พบได้บ่อยก็คือ การลืมใช้เม็ดที่สอง จึงรับประทานช้ากว่าเวลาที่ระบุไว้ หรืออาจไม่ได้รับประทานเลย

 

         เพื่อป้องกันการรับประทานไม่ครบ แนะนำให้ใช้ตามวิธีใหม่ โดยรับประทานแบบครบขนาดในครั้งเดียว ซึ่งในปัจจุบัน หลาย ๆ แนวทางได้กำหนดไว้เป็นวิธีใช้มาตรฐานแล้ว1-7

         นั่นคือ ใช้ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด ซึ่งมีตัวยาสำคัญเม็ดละ 1.5 มิลลิกรัม ได้แก่ เมเปิ้ล ฟอร์ท (Maple forte), แทนซี วัน (Tansy one), มาดอนน่า วัน (Madonna one), รีโวค-1.5 (Revoke-1.5) และ โพสต์ 1 ฟอร์ต (Post 1 forte) แล้วรับประทานเม็ดเดียวครั้งเดียว

         หรือถ้าใช้ยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด ซึ่งมีตัวยาสำคัญเม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม ได้แก่ โพสตินอร์ (Postinor), มาดอนน่า (Madonna), แมรี่ พิงค์ (Mary pink), แอปคาร์ นอร์แพก (ABCA Norpak), เลดี้นอร์ (Ladynore), แจนนี่ (Janny) และ เอ-โพสน็อกซ์ (A-Posnox) ก็ให้รับประทาน ทั้ง 2 เม็ดพร้อมกันในครั้งเดียวเลยนะคะ

 

  1. รับประทานล่าช้า

 

         อสุจิที่ผ่านเข้าสู่ช่องคลอด สามารถอยู่รอดในร่างกายได้นานถึง 5 วัน จึงอาจปฏิสนธิกับไข่ที่ตกในระหว่างนั้น และถ้าตัวอ่อนจากการผสม เคลื่อนไปฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูกได้สำเร็จ ก็หมายถึงมีการตั้งครรภ์นั่นเอง ซึ่งการเลื่อนระยะเวลาตกไข่ให้ห่างออกไป เพื่อไม่ให้มีไข่มาผสมกับอสุจิได้ ถือเป็นกลไกหลักในการป้องกันการตั้งครรภ์ของยาคุมฉุกเฉิน

         แต่หากใช้ล่าช้าเกินไป ก็อาจเลื่อนการตกไข่ไม่ทันนะคะ โดยยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (LNG-EC) จะไม่มีประสิทธิภาพในการชะลอการตกไข่ เมื่อใช้หลังจากที่ระดับฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่เริ่มสูงขึ้น หรือที่เรียกว่าเข้าสู่ช่วง LH Surge นั่นเอง

 

         จากข้อมูลที่ว่า การตกไข่มักเกิดขึ้นตามหลัง LH Surge ประมาณ 36 ชั่วโมง ในทางทฤษฎี การใช้ยาคุมฉุกเฉินก่อนวันที่คาดว่าจะมีไข่ตกไม่น้อยกว่า 2 วัน จึงน่าจะยังได้ผลอยู่

         แต่ในทางปฏิบัติ วันเวลาที่มีไข่ตกจริง อาจคลาดเคลื่อนไปจากที่คำนวณหรือใช้แอปพลิเคชันหาวันไข่ตก จึงไม่อาจมั่นใจได้ว่า มีการใช้ยาคุมฉุกเฉินก่อนเกิด LH Surge หรือไม่

 

         หากเลื่อนการตกไข่ไม่สำเร็จ หรือมีไข่ตกก่อนรับประทานยา ก็มีความเสี่ยงมากที่จะตั้งครรภ์ เนื่องจากกลไกป้องกันอื่น ๆ ของยาคุมฉุกเฉิน ได้แก่ การเพิ่มความข้นเหนียวของเมือกปากมดลูก เพื่อขัดขวางการผ่านของอสุจิเข้าไปผสมกับไข่, การทำให้ท่อนำไข่เคลื่อนไหวผิดปกติ เพื่อให้ไข่ที่ผสมกับอสุจิแล้ว เดินทางไปถึงเยื่อบุโพรงมดลูกในเวลาที่ไม่เหมาะสมต่อการฝังตัว, และการเปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อให้ยากต่อการฝังตัวของตัวอ่อน อาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะป้องกันได้

         ดังนั้น แม้จะมีกรอบเวลาว่าสามารถใช้ยาคุมฉุกเฉินได้ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์1,4,7 หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์2,3,5,6 แต่หากจำเป็นจะต้องใช้ยาคุมฉุกเฉิน ก็ควรรับประทานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายหลังการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเลื่อนการตกไข่ไม่ทันค่ะ

 

  1. อาเจียนหลังรับประทาน

 

         อาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นผลข้างเคียงที่อาจพบได้หลังใช้ยาคุมฉุกเฉิน แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ใช้ทุกรายนะคะ สำหรับยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (LNG-EC)  มีผู้ใช้ 15% ที่รู้สึกคลื่นไส้ และมีเพียง 8.5% ที่อาเจียนหลังรับประทานยา

         โดยมีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะรับประทานแบบครบขนาด 1.5 มิลลิกรัมในครั้งเดียว หรือจะแยกรับประทานในขนาด 0.75 มิลลิกรัมสองครั้งห่างกัน 12 ชั่วโมง

         แต่เนื่องจากผลข้างเคียงนี้มีความรุนแรงน้อย อีกทั้งสามารถหายเองได้ จึงไม่จำเป็นจะต้องรับประทานยาแก้อาเจียนก่อนใช้ยาคุมฉุกเฉิน

 

         การอาเจียนภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังรับประทาน อาจทำให้การดูดซึมยาไม่สมบูรณ์และไม่เพียงพอที่จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ จึงควรรับประทานซ้ำเพื่อทดแทนยาที่อาจปนออกมากับอาเจียน

         สำหรับยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (LNG-EC) ซึ่งเป็นชนิดที่มีใช้ในประเทศไทย มีคำแนะนำให้รับประทานซ้ำ เมื่ออาเจียนภายใน 2 ชั่วโมงหลังรับประทาน2,4,6 หรืออาจเป็นภายใน 3 ชั่วโมงหลังรับประทาน3,5,7 ขึ้นอยู่กับว่าอ้างอิงจากแนวทางใด

         โดยข้อมูลในฉลากหรือเอกสารกำกับยา และตำราวิชาการส่วนใหญ่ในบ้านเรา มักยึดตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก นั่นคือ หากอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมงหลังรับประทาน ก็ควรรับประทานซ้ำทันทีที่ทำได้ค่ะ

 

  1. ยาตีกัน

 

         ยาหรือสมุนไพรบางชนิด จะเหนี่ยวนำให้ยาคุมฉุกเฉินถูกทำลายมากขึ้น จนอาจทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ลดลง

 

         ตัวอย่างของยาหรือสมุนไพรที่อาจลดประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (LNG-EC)7,8

ยากันชัก

Carbamazepine, Eslicarbazepine, Oxcarbazepine, Phenobarbital, Phenytoin, Primidone, Rufinamide, Topiramate

ยาปฏิชีวนะ

Rifabutin, Rifampicin

ยาต้านไวรัสเอชไอวี

Efavirenz, Nevirapine, Etravirine

ยาอื่น ๆ/สมุนไพร

Modafinil, Bosentan, Aprepitant, St John’s wort

 

         ดังนั้น หากใช้ยา/สมุนไพรดังกล่าวอยู่ หรือหยุดใช้ยังไม่เกิน 28 วัน แล้วจำเป็นจะต้องคุมกำเนิดฉุกเฉิน ควรใช้วิธีใส่ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดง (Cu-IUD) ภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือภายใน 5 วันหลังตกไข่ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหายาตีกันนะคะ4,7,8  

         หากไม่สามารถทำได้ อาจต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (LNG-EC) เพิ่มเป็น 2 เท่า นั่นคือ ใช้ในขนาด 3 มิลลิกรัม4,7,8 แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลว่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์มากหรือน้อยเพียงไร

 

  1. น้ำหนักเกิน/อ้วน

 

         เมื่อศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (LNG-EC) ในคนอ้วน หรือผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) ตั้งแต่ 30 กิโลกรัม/ตารางเมตรขึ้นไป พบว่ามีระดับยาในเลือดน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับผู้ใช้ที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ

         จึงมีความกังวลว่า ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินชนิดนี้อาจลดลงเมื่อใช้กับผู้ที่มีน้ำหนักเกิน (BMI 25 – 29.9 kg/m2) หรืออ้วน (BMI > 30 kg/m2)

         การใส่ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดง (Cu-IUD) ภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือภายใน 5 วันหลังตกไข่ นอกจากจะเป็นวิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดแล้ว ยังไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำหนักเกินอีกด้วย จึงเป็นทางเลือกแรกที่แนะนำให้ใช้เพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉินในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน/อ้วน

 

         ถ้าไม่สามารถทำได้ และจำเป็นจะต้องใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (LNG-EC) บางแนวทางแนะนำให้ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน/อ้วน รับประทานเพิ่มเป็น 2 เท่า นั่นคือ ใช้ในขนาด 3 มิลลิกรัม เพื่อให้ได้ระดับยาในเลือดใกล้เคียงกับผู้ที่มีน้ำหนักปกติ

         แต่เพราะยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่า ระดับยาในเลือดที่น้อยกว่า จะทำให้ยาคุมฉุกเฉินชนิดนี้ไม่สามารถยับยั้งไข่ตก หรือไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน อีกทั้งมีข้อมูลว่าแม้จะเพิ่มขนาดเป็น 2 เท่า ถ้ารับประทานในช่วงที่ไข่กำลังจะตก ก็ไม่ได้ลดความเสี่ยงของการตกไข่แตกต่างไปจากการใช้ในขนาดปกติเลย หลายแนวทางจึงยังไม่ได้แนะนำให้เพิ่มขนาดการใช้ค่ะ

 

         คำแนะนำในการคุมกำเนิดฉุกเฉินสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกิน/อ้วน

แนวทาง

หลักเกณฑ์

คำแนะนำ

ขนาดยา  LNG-EC

ACOG1

BMI > 30 kg/m2

การใส่ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดง (Cu-IUD) ควรเป็นทางเลือกแรกในการคุมกำเนิดฉุกเฉิน

 

หากไม่สามารถทำได้ ให้รับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยายูริพริสทอล อะซิเตท (UPA-EC)

 

ถ้าไม่มี จึงค่อยพิจารณาการใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (LNG-EC)

ปกติ

WHO2

ปกติ

CDC3

ปกติ

ICEC/FIGO4

2 เท่า

AAP5

BMI > 25 kg/m2

หรือมีน้ำหนัก > 75 kg

ปกติ

FSRH7

BMI > 26 kg/m2

หรือมีน้ำหนัก > 70 kg

2 เท่า

 

         เมื่ออ้างอิงจากแนวทางขององค์การอนามัยโลก โดยตัดทางเลือกในการใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยายูริพริสทอล อะซิเตท (UPA-EC) ออกเนื่องจากไม่มีใช้ในประเทศไทย ก็จะได้คำแนะนำดังนี้นะคะ

         ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 กิโลกรัม/ตารางเมตรขึ้นไป หากมีความจำเป็นที่จะต้องคุมกำเนิดฉุกเฉิน ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อพิจารณาการใส่ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดงภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือภายใน 5 วันหลังตกไข่

         แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ ก็ให้รับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (LNG-EC) ทันที หรือเร็วที่สุดที่ทำได้ ภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ โดยรับประทานแบบครบขนาด 1.5 มิลลิกรัมในครั้งเดียวค่ะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Emergency contraception. Practice Bulletin No.152. American College of Obstetricians and Gynecologists, 2015.
  2. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016. 
  3. U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 2016.
  4. Emergency Contraceptive Pills: Medical and Service Delivery Guidance, 4th edition. International Consortium for Emergency Contraception (ICEC); International Federation of Gynecology and Obstetrics (FIGO), 2018.
  5. Emergency Contraception. Pediatrics Vol.144 (6). American Academy of Pediatrics, 2019.
  6. Family Planning: A Global Handbook for Providers, 4th edition. World Health Organization, 2022.
  7. FSRH Guideline: Emergency Contraception, March 2017 (Amended July 2023).
  8. FSRH Clinical Guidance: Drug Interactions between HIV Antiretroviral Therapy (ART) and Contraception, February 2023.