ถ้าใช้ยาคุมรายเดือนอยู่แล้ว จำเป็นจะต้องใช้ยาคุมฉุกเฉินร่วมด้วยหรือเปล่า หรือในกรณีใดที่ควรใช้ร่วมกัน และหากเป็นเช่นนั้น ประจำเดือนจะมาในช่วงเวลาใด
หากรับประทานอย่างถูกต้อง, เหมาะสม และตรงเวลาสม่ำเสมอ การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีผลป้องกันจากยาคุมรายเดือนอยู่นั้น ผู้ใช้จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียงแค่ 0.3% ซึ่งถือว่าน้อยมากจนไม่น่ากังวลค่ะ
แม้ว่าจะมีหลายกลไกที่ออกฤทธิ์ร่วมกัน แต่กลไกหลักที่ใช้ก็คือยับยั้งการตกไข่ ซึ่งยาคุมรายเดือนเกือบทั้งหมดจะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งไข่ตกได้มากกว่า 98 – 99% (ยกเว้นยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวรุ่นเก่าที่อาจยับยั้งไข่ตกได้ไม่ดีนัก แต่ก็มีกลไกอื่นที่ช่วยให้ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดีเช่นกัน หากรับประทานตรงเวลาสม่ำเสมอ)
และเมื่อไม่มีไข่ตกในระหว่างที่ใช้ยาคุมรายเดือน ต่อให้มีเพศสัมพันธ์หลั่งใน อสุจิที่ผ่านเข้าไปในช่องคลอดก็ไม่สามารถผสมกับไข่ได้อยู่ดี จึงไม่เกิดการตั้งครรภ์นั่นเองนะคะ
แต่ถ้าไม่มีผลยับยั้งการตกไข่ เช่น ผู้ที่ไม่ได้ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดใด ๆ อยู่, ผู้ที่เลิกใช้ยาคุมรายเดือนไปแล้ว และแม้กระทั่งผู้ที่ยังใช้ยาคุมรายเดือนอยู่ แต่ลืมรับประทานหรือใช้ไม่ถูกต้อง จนทำให้ไม่มีผลคุมต่อเนื่อง ก็สามารถมีไข่ตกได้
ในช่วงไข่สุก (Fertile window) และมีไข่ตก ถ้ามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือป้องกันด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพต่ำ เช่น การหลั่งนอก/การนับวันปลอดภัย รวมไปถึงในกรณีที่เกิดความผิดพลาดจากวิธีคุมกำเนิดที่ใช้ เช่น ถุงยางฉีกขาด ก็มีความเสี่ยงที่อสุจิจะผสมกับไข่ได้สำเร็จ จนเกิดการตั้งครรภ์ตามมา
การใช้ยาคุมฉุกเฉิน ซึ่งในปัจจุบันเชื่อว่ามีกลไกหลักโดยการชะลอไข่ตก ก็อาจช่วยเลื่อนการตกไข่ออกไปให้พ้นไปจากช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อไม่ให้มีการผสมกับอสุจินั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินไม่ได้สูงนัก การใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel Emergency Contraceptive Pills; LNG-ECPs) แบบครบขนาดในครั้งเดียวภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ราว 85% และจะยิ่งลดต่ำลงอีกหากใช้ล่าช้าไปกว่านี้
แต่แม้ว่าจะรับประทานทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้เร็วเพียงใดก็ตาม หากใกล้เวลาที่ไข่จะตกมากเกินไป ยาคุมฉุกเฉินก็อาจชะลอการตกไข่ไม่สำเร็จ หรืออาจมีไข่ตกมาแล้วก่อนที่ยาจะทำงาน
และการคำนวณว่าไข่จะตกในวันใด ก็เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น ซึ่งวันและเวลาที่มีไข่ตกจริง อาจคลาดเคลื่อนเร็วหรือช้ากว่าที่คำนวณไว้ก็ได้
ดังนั้น หากจำเป็นต้องใช้ยาคุมฉุกเฉิน จึงควรรับประทานให้เร็วที่สุดที่ทำได้หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อหวังให้เร็วพอที่ยาจะชะลอการตกไข่ได้ทันค่ะ
และไม่ควรนำยาคุมฉุกเฉินมาใช้แทนการคุมกำเนิดปกติ เช่น ใช้ยาคุมฉุกเฉินเพราะไม่อยากสวมถุงยางอนามัย หรือไม่อยากรับประทานยาคุมรายเดือน เพราะแม้ว่าจะรับประทานยาคุมฉุกเฉินครบขนาด และใช้เร็วที่สุดที่ทำได้ภายในเวลาที่กำหนดแล้วก็ตาม แต่ก็อาจไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ถ้ายาไปชะลอการตกไข่ไม่ทันนะคะ
อีกทั้ง ยาคุมฉุกเฉินเพียงแค่ชะลอการตกไข่ให้พ้นไปจากช่วงเวลาที่ใช้เท่านั้น จึงอาจมีไข่ตกมาได้ในภายหลัง ซึ่งต่างจากยาคุมรายเดือนที่น่าจะไม่มีไข่ตกเลยในระหว่างที่ใช้ยา
ดังนั้น หลังจากที่ใช้ยาคุมฉุกเฉินไปแล้ว แม้จะยังอยู่ในรอบเดือนเดียวกัน (นับจากวันแรกที่ประจำเดือนมาในรอบล่าสุด ไปหาวันแรกที่ประจำเดือนมาในรอบถัดไป) ถ้ามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันอีก ก็มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ได้ค่ะ
โดยการศึกษาชี้ว่า หลังรับประทานยาคุมฉุกเฉินไปแล้ว ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันซ้ำอีกภายในรอบเดือนเดียวกัน มีความเสี่ยงที่ตั้งครรภ์สูงกว่าผู้ที่ไม่มี
จึงควรป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และเลือกใช้วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นะคะ
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่ายาคุมรายเดือนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงกว่ายาคุมฉุกเฉินมาก
และในเมื่อไม่มีไข่ตกอยู่แล้วในระหว่างที่ยาคุมรายเดือนออกฤทธิ์อยู่ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะใช้ยาคุมฉุกเฉินไปชะลอการตกไข่ในช่วงเวลาดังกล่าว
ในระหว่างที่มีผลป้องกันจากยาคุมรายเดือน จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาคุมฉุกเฉินร่วมด้วย เพราะไม่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ และอาจทำให้ได้รับผลข้างเคียงจากยามากขึ้นค่ะ
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีผลป้องกันจากยาคุมรายเดือน ยกตัวอย่างเช่น เริ่มใช้ยาคุมรายเดือนแผงแรก โดยใช้ไม่ทัน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน แล้วรับประทานเม็ดฮอร์โมนของยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมติดต่อกันยังไม่ครบ 7 วัน
หรือในกรณีที่ลืมรับประทานยาคุม รวมถึงการต่อแผงใหม่ช้า จนเกินกรอบเวลายืดหยุ่น และกลับมาใช้ต่อยังไม่ครบเวลาที่แนะนำ (ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามชนิดและปริมาณของฮอร์โมนในยาคุมแต่ละยี่ห้อ) ก็ควรจะงดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน หรือใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์นะคะ
แต่ถ้ามีเพศสัมพันธ์ไปแล้วโดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย หรือเกิดความผิดพลาดจากการใช้ เช่น ถุงยางฉีกขาด ก็จำเป็นที่จะต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉินเป็นวิธีป้องกันสำรอง โดยผู้ใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล ไม่ต้องหยุดยาคุมรายเดือนที่ใช้อยู่ค่ะ
ซึ่งการลืมรับประทานยาคุมรายเดือน และการรับประทานยาคุมฉุกเฉินร่วมด้วยนั้น อาจทำให้มีเลือดออกกะปริบกะปรอยในอีกไม่กี่วันถัดมา แต่ก็มักจะหายเองได้เมื่อรับประทานยาคุมรายเดือนต่อให้ตรงเวลาสม่ำเสมอ
หรือในกรณีที่ลืมรับประทานยาคุมรายเดือนติดต่อกันหลายวัน โดยเฉพาะหลังจากที่ใช้ถึงช่วงกลางแผงไปแล้ว อาจทำให้ประจำเดือนในรอบนั้นมาก่อนเวลาก็เป็นได้
แต่แม้จะไม่มีประจำเดือนมาก่อนกำหนด ถ้าหากไม่มีการตั้งครรภ์ ประจำเดือนก็ควรจะมาในช่วงปลอดฮอร์โมนเหมือนเดิมนะคะ นั่นคือ ช่วงที่เว้นว่าง 7 วันของยาคุม 21 เม็ด หรือช่วงที่ใช้เม็ดยาหลอกของยาคุม 28 เม็ด
ยกเว้นว่ายาคุมที่ใช้เป็นยาคุมแบบ 28 เม็ดที่ไม่มีเม็ดยาหลอก ได้แก่ เอ็กซ์ลูตอน (Exluton), เดลิต้อน (Dailyton) และซีราเซท (Cerazette) ประจำเดือนก็อาจมาไม่ปกติ หรือไม่มีประจำเดือนเลยก็ได้ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงเด่นของยาคุมชนิดนี้นั่นเอง
หากมีความกังวลใจ ก็สามารถซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์ทางปัสสาวะ มาตรวจด้วยตนเองได้ โดยตรวจหลังตื่นนอนตอนเช้า ห่างจากวันที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดอย่างน้อย 14 วัน
และไม่จำเป็นจะต้องหยุดยาคุมก่อนทำการทดสอบ เพราะการใช้ยาคุมไม่ได้รบกวนผลตรวจการตั้งครรภ์ค่ะ
เอกสารอ้างอิง
- Faculty for Sexual and Reproductive Health (FSRH) guideline: Emergency contraception. March 2017 (Amended December 2020).
- Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
- U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.