ใช้ยาคุมแบบ 21 เม็ด แต่รับประทานไปแค่ 3 เม็ดแรกแล้วก็หยุดไป 1 สัปดาห์ วันนี้มีเพศสัมพันธ์หลั่งนอก จะใช้ยาคุมที่เหลือต่อเลยได้ไหม หรือต้องใช้ยาคุมฉุกเฉิน
ยาคุมที่รับประทานไปเพียง 3 เม็ด จะเริ่มใช้ภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือนหรือไม่ก็ตาม ไม่สามารถคุมกำเนิดได้นะคะ ดังนั้น นับจากวันแรกที่มีประจำเดือนในรอบล่าสุด มาจนถึงปัจจุบัน หากผู้ถามมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ก็มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ได้
การหลั่งนอก ซึ่งใช้ป้องกันในวันนี้ เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพต่ำค่ะ นั่นคือ การใช้โดยทั่วไป (Typical use) จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ 20% หรือต่อให้ใช้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์แบบทุก ๆ ครั้ง (Perfect use) ก็ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ 4%1, 2
ในขณะที่การใช้ยาคุมรายเดือน ถ้าไม่เคร่งครัดนัก (Typical use) จะมีโอกาสตั้งครรภ์ 7% แต่ถ้ารับประทานถูกต้อง, เหมาะสม และตรงเวลาสม่ำเสมอ (Perfect use) ก็มีโอกาสตั้งครรภ์เพียงแค่ 0.3%1, 2 จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่ามากนะคะ
แต่การรับประทานยาคุมแบบรายเดือน ไม่สามารถคุมกำเนิดฉุกเฉินได้ค่ะ หากผู้ถามเริ่มใช้ในตอนนี้ โดยหวังว่าจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ผ่านมาแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์นะคะ
เพื่อลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินทันที หรือเร็วที่สุดที่ทำได้ภายใน 72 ชั่วโมง3 หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมง2, 4, 5 หลังมีเพศสัมพันธ์ค่ะ
การนำยาคุมรายเดือนมารับประทานในขนาดสูงเพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉิน มีประสิทธิภาพต่ำกว่า และมีผลข้างเคียงสูงกว่า จึงไม่แนะนำ ยกเว้นไม่สามารถหายาคุมฉุกเฉินมาใช้ได้
ส่วนการมีเพศสัมพันธ์ที่ผ่านมาเกิน 120 ชั่วโมง ยาคุมฉุกเฉินจะใช้ไม่ได้ผลนะคะ ซึ่งถ้ามีการตั้งครรภ์ไปแล้ว ต่อให้วันนี้จะรับประทานยาคุมฉุกเฉิน หรือจะเริ่มใช้ยาคุมรายเดือน ก็ไม่สามารถทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลงได้
หากผู้ถามมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันครั้งอื่น ที่ผ่านมามากกว่า 21 วันแล้ว แต่ยังไม่มีประจำเดือนมา ก็ควรตรวจให้ชัดเจนก่อนว่าไม่ตั้งครรภ์ จึงค่อยรับประทานยาคุมฉุกเฉิน3
การรับประทานยาคุมฉุกเฉิน อาจทำให้ประจำเดือนมาเร็วหรือช้าก็ได้ แต่มักจะคลาดเคลื่อนไม่เกิน 1 สัปดาห์นับจากวันที่คาดไว้ (ไม่จำเป็นจะต้องมีประจำเดือนภายใน 7 วันหลังรับประทานยาคุมฉุกเฉิน)
ดังนั้น หลังรับประทานยาคุมฉุกเฉินไปแล้ว หากประจำเดือนมาช้าผิดปกติ หรือไม่มีประจำเดือนมาภายใน 3 สัปดาห์2 – 4 ก็ควรตรวจการตั้งครรภ์เช่นกันค่ะ
สำหรับการใช้ยาคุมแบบรายเดือน แม้จะไม่สามารถป้องกันย้อนหลังได้ แต่หากคาดว่าต่อจากนี้ น่าจะมีเพศสัมพันธ์อีกเรื่อย ๆ ก็สามารถเริ่มใช้ยาคุมรายเดือนได้เลย โดยไม่ต้องรอให้ประจำเดือนมาก่อนนะคะ แต่ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันร่วมด้วย ไปจนกว่าจะใช้ยาคุมแบบ 21 เม็ดติดต่อกันครบ 7 วัน
ซึ่งสามารถนำยาคุมแผงเก่าที่เหลือ มาเริ่มรับประทานใหม่ได้ค่ะ โดยให้รับประทานวันละเม็ดติดต่อกันไปจนหมด แต่ตัวย่อของวันที่ระบุไว้ในแผง อาจไม่ตรงกับวันที่ใช้จริง ซึ่งก็ไม่เป็นไร เพราะสำหรับยาคุมแบบ 21 เม็ดแล้ว ทุก ๆ เม็ดในแผงจะมีตัวยาสำคัญเหมือนกัน จึงสามารถแกะเม็ดใดมารับประทานก็ได้
อย่างไรก็ตาม ควรเพิ่มความระมัดระวังด้วยนะคะ เพราะการการแกะเม็ดยามาใช้ไม่ตรงวัน จะทำให้ตรวจสอบได้ยาก จึงอาจรับประทานซ้ำซ้อนมากกว่า 1 เม็ดต่อวัน หรืออาจลืมรับประทานในวันใดวันหนึ่งโดยไม่รู้ตัว
การซื้อแผงใหม่ ซึ่งสามารถแกะเม็ดยามาใช้ตรงตามวัน จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าถ้ากังวลว่าจะรับประทานผิด ส่วนยาคุมแผงเก่า ก็เก็บไว้เป็นแผงสำรอง เผื่อใช้กรณีที่ทำเม็ดยาในแผงหลักหล่นหาย หรืออาเจียนหลังรับประทาน
หากเลือกใช้ยาคุมแผงเก่าที่เหลือ เมื่อรับประทานหมด ก็ให้ซื้อแผงที่สองมาใช้ต่ออีก 3 วัน เพื่อให้ได้รับฮอร์โมนติดต่อกันครบ 21 วัน ซึ่งจะมั่นใจได้ว่ามีประสิทธิภาพในคุมกำเนิด แล้วจึงเว้นว่าง 7 วันก่อนต่อแผงที่สาม (โดยเก็บยาคุมที่เหลือไว้เป็นแผงสำรอง)
หรือจะใช้ให้คุ้มค่า โดยรับประทานแผงที่สองไปเรื่อย ๆ หมดแล้วค่อยเว้นว่าง 7 วันก่อนต่อแผงที่สามก็ได้ค่ะ การได้รับฮอร์โมนต่อเนื่องกันนานขึ้น ไม่ได้ลดประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด แต่ก็ทำให้ประจำเดือนถูกเลื่อนออกไปนานขึ้น จึงควรตรวจการตั้งครรภ์หลังใช้ยาคุมไปแล้ว 3 สัปดาห์3 ด้วยนะคะ
เอกสารอ้างอิง
- Trussell J, Aiken ARA, Mickes E, Guthrie K. Efficacy, Safety, and Personal Considerations. In: Contraceptive Technology, 21st ed, Hatcher RA, Nelson AL, Trussell J, et al (Eds), Ayer Company Publishers, Inc., New York 2018.
- Family planning: A Global Handbook for Providers, 2022 edition.
- FSRH Guideline: Emergency Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, March 2017. (Amended July 2023)
- U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
- Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.