เอายาคุมแผงเก่าที่เหลือ มากินต่อได้ไหม

เอายาคุมแผงเก่าที่เหลือ มากินต่อได้ไหม

                ใช้ยาคุมแบบ 21 เม็ด แต่รับประทานไปแค่ 3 เม็ดแรกแล้วก็หยุดไป 1 สัปดาห์ วันนี้มีเพศสัมพันธ์หลั่งนอก จะใช้ยาคุมที่เหลือต่อเลยได้ไหม หรือต้องใช้ยาคุมฉุกเฉิน

 

                ยาคุมที่รับประทานไปเพียง 3 เม็ด จะเริ่มใช้ภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือนหรือไม่ก็ตาม ไม่สามารถคุมกำเนิดได้นะคะ ดังนั้น นับจากวันแรกที่มีประจำเดือนในรอบล่าสุด มาจนถึงปัจจุบัน หากผู้ถามมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ก็มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ได้

 

                การหลั่งนอก ซึ่งใช้ป้องกันในวันนี้ เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพต่ำค่ะ นั่นคือ การใช้โดยทั่วไป (Typical use) จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ 20% หรือต่อให้ใช้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์แบบทุก ๆ ครั้ง (Perfect use) ก็ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ 4%1, 2  

                ในขณะที่การใช้ยาคุมรายเดือน ถ้าไม่เคร่งครัดนัก (Typical use) จะมีโอกาสตั้งครรภ์ 7% แต่ถ้ารับประทานถูกต้อง, เหมาะสม และตรงเวลาสม่ำเสมอ (Perfect use) ก็มีโอกาสตั้งครรภ์เพียงแค่ 0.3%1, 2 จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่ามากนะคะ

 

                แต่การรับประทานยาคุมแบบรายเดือน ไม่สามารถคุมกำเนิดฉุกเฉินได้ค่ะ หากผู้ถามเริ่มใช้ในตอนนี้ โดยหวังว่าจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ผ่านมาแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์นะคะ

                เพื่อลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินทันที หรือเร็วที่สุดที่ทำได้ภายใน 72 ชั่วโมง3 หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมง2, 4, 5 หลังมีเพศสัมพันธ์ค่ะ

            การนำยาคุมรายเดือนมารับประทานในขนาดสูงเพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉิน มีประสิทธิภาพต่ำกว่า และมีผลข้างเคียงสูงกว่า จึงไม่แนะนำ ยกเว้นไม่สามารถหายาคุมฉุกเฉินมาใช้ได้

 

                ส่วนการมีเพศสัมพันธ์ที่ผ่านมาเกิน 120 ชั่วโมง ยาคุมฉุกเฉินจะใช้ไม่ได้ผลนะคะ ซึ่งถ้ามีการตั้งครรภ์ไปแล้ว ต่อให้วันนี้จะรับประทานยาคุมฉุกเฉิน หรือจะเริ่มใช้ยาคุมรายเดือน ก็ไม่สามารถทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลงได้

                หากผู้ถามมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันครั้งอื่น ที่ผ่านมามากกว่า 21 วันแล้ว แต่ยังไม่มีประจำเดือนมา ก็ควรตรวจให้ชัดเจนก่อนว่าไม่ตั้งครรภ์ จึงค่อยรับประทานยาคุมฉุกเฉิน3

 

                การรับประทานยาคุมฉุกเฉิน อาจทำให้ประจำเดือนมาเร็วหรือช้าก็ได้ แต่มักจะคลาดเคลื่อนไม่เกิน 1 สัปดาห์นับจากวันที่คาดไว้ (ไม่จำเป็นจะต้องมีประจำเดือนภายใน 7 วันหลังรับประทานยาคุมฉุกเฉิน)

                ดังนั้น หลังรับประทานยาคุมฉุกเฉินไปแล้ว หากประจำเดือนมาช้าผิดปกติ หรือไม่มีประจำเดือนมาภายใน 3 สัปดาห์2 – 4 ก็ควรตรวจการตั้งครรภ์เช่นกันค่ะ

 

                สำหรับการใช้ยาคุมแบบรายเดือน แม้จะไม่สามารถป้องกันย้อนหลังได้ แต่หากคาดว่าต่อจากนี้ น่าจะมีเพศสัมพันธ์อีกเรื่อย ๆ ก็สามารถเริ่มใช้ยาคุมรายเดือนได้เลย โดยไม่ต้องรอให้ประจำเดือนมาก่อนนะคะ แต่ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันร่วมด้วย ไปจนกว่าจะใช้ยาคุมแบบ 21 เม็ดติดต่อกันครบ 7 วัน

                ซึ่งสามารถนำยาคุมแผงเก่าที่เหลือ มาเริ่มรับประทานใหม่ได้ค่ะ โดยให้รับประทานวันละเม็ดติดต่อกันไปจนหมด แต่ตัวย่อของวันที่ระบุไว้ในแผง อาจไม่ตรงกับวันที่ใช้จริง ซึ่งก็ไม่เป็นไร เพราะสำหรับยาคุมแบบ 21 เม็ดแล้ว ทุก ๆ เม็ดในแผงจะมีตัวยาสำคัญเหมือนกัน จึงสามารถแกะเม็ดใดมารับประทานก็ได้

                อย่างไรก็ตาม ควรเพิ่มความระมัดระวังด้วยนะคะ เพราะการการแกะเม็ดยามาใช้ไม่ตรงวัน จะทำให้ตรวจสอบได้ยาก จึงอาจรับประทานซ้ำซ้อนมากกว่า 1 เม็ดต่อวัน หรืออาจลืมรับประทานในวันใดวันหนึ่งโดยไม่รู้ตัว

            การซื้อแผงใหม่ ซึ่งสามารถแกะเม็ดยามาใช้ตรงตามวัน จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าถ้ากังวลว่าจะรับประทานผิด ส่วนยาคุมแผงเก่า ก็เก็บไว้เป็นแผงสำรอง เผื่อใช้กรณีที่ทำเม็ดยาในแผงหลักหล่นหาย หรืออาเจียนหลังรับประทาน

 

                หากเลือกใช้ยาคุมแผงเก่าที่เหลือ เมื่อรับประทานหมด ก็ให้ซื้อแผงที่สองมาใช้ต่ออีก 3 วัน เพื่อให้ได้รับฮอร์โมนติดต่อกันครบ 21 วัน ซึ่งจะมั่นใจได้ว่ามีประสิทธิภาพในคุมกำเนิด แล้วจึงเว้นว่าง 7 วันก่อนต่อแผงที่สาม (โดยเก็บยาคุมที่เหลือไว้เป็นแผงสำรอง)

                หรือจะใช้ให้คุ้มค่า โดยรับประทานแผงที่สองไปเรื่อย ๆ หมดแล้วค่อยเว้นว่าง 7 วันก่อนต่อแผงที่สามก็ได้ค่ะ การได้รับฮอร์โมนต่อเนื่องกันนานขึ้น ไม่ได้ลดประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด แต่ก็ทำให้ประจำเดือนถูกเลื่อนออกไปนานขึ้น จึงควรตรวจการตั้งครรภ์หลังใช้ยาคุมไปแล้ว 3 สัปดาห์3 ด้วยนะคะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Trussell J, Aiken ARA, Mickes E, Guthrie K. Efficacy, Safety, and Personal Considerations. In: Contraceptive Technology, 21st ed, Hatcher RA, Nelson AL, Trussell J, et al (Eds), Ayer Company Publishers, Inc., New York 2018.
  2. Family planning: A Global Handbook for Providers, 2022 edition.
  3. FSRH Guideline: Emergency Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, March 2017. (Amended July 2023)
  4. U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  5. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.