ใช้ยาคุมแล้วประจำเดือนมาน้อย

เริ่มเผยแพร่

รับประทานยาเม็ดฮอร์โมนรวมมาระยะหนึ่งแล้ว สังเกตว่าประจำเดือนมาน้อยลง เป็นเพราะยาคุมที่ใช้มีฮอร์โมนต่ำเกินไปหรือเปล่า ควรเปลี่ยนเป็นยาคุมประเภทฮอร์โมนสูงหรือไม่ และมียี่ห้ออะไรบ้าง

 

               ประจำเดือนตามธรรมชาติ (Natural period) เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งเริ่มหนาตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนที่ไข่จะตก เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน หากมีการปฏิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิ แต่หลังจากที่ไข่ตกไปแล้ว ถ้าไม่มีการตั้งครรภ์ ก็จะไม่มีการสร้างฮอร์โมนมาหล่อเลี้ยงต่อ เยื่อบุโพรงมดลูกจึงหลุดลอกออกมา

               ในขณะที่การใช้ยาคุมกำเนิดจะไปยับยั้งไข่ตก อีกทั้งยังทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่แบ่งตัวเพิ่มความหนา หรือหนาขึ้นน้อยมาก แล้วในวันที่เว้นว่างสำหรับผู้ใช้ยาคุมแบบ 21 และ 22 เม็ด หรือในระหว่างที่ใช้เม็ดยาหลอกของยาคุมแบบ 28 เม็ด เยื่อบุโพรงมดลูกที่เคยได้รับฮอร์โมนจากยาคุมไปหล่อเลี้ยงไว้ ก็จะเกิดการหลุดลอกเพราะขาดฮอร์โมน (Withdrawal bleeding)

 

               ดังนั้น ผู้ใช้ยาคุมกำเนิดรูปแบบที่มีช่วงปลอดฮอร์โมน จึงมีเลือดออกคล้ายประจำเดือน โดยมักจะมาน้อยกว่าและสั้นกว่า แต่ก็สม่ำเสมอกว่า เมื่อเทียบกับประจำเดือนตามธรรมชาติ ซึ่งอาจสัมพันธ์กับชนิดของตัวยาสำคัญ, ปริมาณฮอร์โมน, รูปแบบการใช้ รวมถึงระยะเวลาที่ได้รับค่ะ

               และถูกนำมาใช้ประโยชน์ ที่นอกเหนือไปจากผลในการคุมกำเนิด เช่น ช่วยลดปัญหาประจำเดือนมามากผิดปกติ (Heavy Menstrual Bleeding; HMB) รวมถึงลดอาการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea)

 

               ยาคุมฮอร์โมนรวมประเภทฮอร์โมนสูง หมายถึง ยาคุมที่มีปริมาณเอสโตรเจน Ethinyl estradiol ในเม็ดยา มากกว่าหรือเท่ากับ 0.05 มิลลิกรัม ซึ่งในปัจจุบัน จะมีอยู่ 2 ยี่ห้อ ก็คือ เจนนี่ เอฟ.เอ็ม.พี. (Jeny F.M.P.) และ มาร์นอน (Marnon)

               แต่เพราะมีผลข้างเคียงและความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำสูงกว่ายาคุมที่มีฮอร์โมนต่ำกว่า ในปัจจุบันจึงไม่นิยมใช้ยาคุมฮอร์โมนสูงเพื่อคุมกำเนิดแล้วนะคะ

 

               จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าประจำเดือนของผู้ใช้ยาคุมจะมาน้อยลง เมื่อเทียบกับก่อนใช้ยาคุม โดยเฉพาะเมื่อใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน และ/หรือ ใช้ยาคุมที่มีฮอร์โมนต่ำมาก

               ซึ่งการที่มีเลือดออกน้อยลงในระหว่างที่ใช้ยาคุม หรือแม้แต่ขาดหายไปในบางเดือนทั้งที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ ไม่ได้ส่งผลเสียใด ๆ ต่อสุขภาพค่ะ จึงไม่จำเป็นจะต้องปรับ/เปลี่ยนยาคุม และไม่จำเป็นจะต้องใช้ยา, สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นใด เพื่อหวังผลให้ประจำเดือนมามากขึ้น

ใช้ยาคุมแล้วประจำเดือนมาน้อย

 

               อย่างไรก็ตาม หากมีความกังวลมาก หรือถ้าใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมอย่างถูกต้อง แต่ไม่มีประจำเดือนมาในช่วงปลอดฮอร์โมน ต่อเนื่องกันตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปทั้งที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ แนะนำให้ไปพบสูตินรีแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกสูตินรีเวชใกล้บ้าน เพื่อตรวจว่ามีความผิดปกติใดหรือไม่นะคะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Larsson G, Milsom I, Lindstedt G, Rybo G. The influence of a low-dose combined oral contraceptive on menstrual blood loss and iron status. Contraception. 1992 Oct;46(4):327-34. doi: 10.1016/0010-7824(92)90095-b. PMID: 1486771.
  2. Foran T. The management of irregular bleeding in women using contraception. Aust Fam Physician. 2017 Oct;46(10):717-720. PMID: 29036769.
  3. FSRH Guideline (January 2019, amended October 2023) Combined Hormonal Contraception. BMJ Sexual & Reproductive Health 2019;45:1-93. doi: 10.1136/bmjsrh-2018-CHC. PMID: 30665985.