เริ่มเผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่มีปริมาณเอสโตรเจน Ethinyl estradiol ตั้งแต่ 0.05 มิลลิกรัมขึ้นไป จะถือเป็นยาคุมประเภทฮอร์โมนสูง (High dose pills) นะคะ
ซึ่งไม่เป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากมีผลข้างเคียงมาก ทั้งในเรื่องของอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ บวมน้ำ ฝ้า สิว หน้ามัน ขนดก รวมถึงความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous thromboembolism; VTE) ที่สูงกว่ายาคุมที่มีปริมาณฮอร์โมนต่ำกว่า
แต่การที่มีปริมาณฮอร์โมนสูงก็อาจมีประโยชน์ และถูกนำมาใช้เพื่อคุมกำเนิด สำหรับผู้ที่จำเป็นจะต้องรับประทานยาบางชนิดที่อาจลดประสิทธิภาพของยาคุม หากไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า
ซึ่งในกรณีดังกล่าว แนวทางของ คณะอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ สหราชอาณาจักร (Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare; FSRH) แนะนำให้ใช้ยาคุมที่มีปริมาณ Ethinyl estradiol อย่างน้อย 0.05 มิลลิกรัมค่ะ1
ส่วนแนวทางของ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention; CDC) แนะนำให้ใช้ยาคุมที่มีปริมาณ Ethinyl estradiol อย่างน้อย 0.03 มิลลิกรัมนะคะ2
หรืออาจนำยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ประเภทฮอร์โมนสูง มาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่การคุมกำเนิด เช่น การรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกในบางกรณี
ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมประเภทฮอร์โมนสูงที่ยังมีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน มี 2 ยี่ห้อ ได้แก่ “เจนนี่ เอฟ.เอ็ม.พี.” (Jeny F.M.P.) และ “มาร์นอน” (Marnon)
ทั้งคู่เป็นยาที่ผลิตภายในประเทศ มีลักษณะเป็นยาคุมแผงเปลือย (ไม่มีกล่องบรรจุแยกแผง) ที่มีรูปแบบและวิธีการใช้เหมือนกัน อีกทั้งยังมีราคาใกล้เคียงกันด้วยค่ะ
เจนนี่ เอฟ.เอ็ม.พี. (Jeny F.M.P.) |
มาร์นอน (Marnon) |
ตัวยาสำคัญ : เม็ดยาฮอร์โมน (เม็ดสีขาว) 21 เม็ด แต่ละเม็ดมี Ethinyl estradiol 0.05 มิลลิกรัม + Norgestrel 0.50 มิลลิกรัม
เม็ดยาหลอก (เม็ดสีแดง) 7 เม็ด ซึ่งเป็นเพียงเม็ดแป้ง ไม่มีตัวยาใด ๆ |
|
วิธีใช้ : รับประทานวันละเม็ดตามลูกศร หมดแผงแล้วต่อแผงใหม่ในวันถัดมา |
|
การขึ้นทะเบียนยา : ยาที่ผลิตภายในประเทศ |
|
ผู้ผลิต : บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด (Thai Nakorn Patana co.ltd) |
ผู้ผลิต : บริษัท เอเชี่ยน ยูเนี่ยน แล็บบอราตอรี่ จำกัด (Asian Union Laboratories co.ltd) |
ราคา : 30 – 40 บาท |
ราคา : 20 – 30 บาท |
เอกสารอ้างอิง
- FSRH Clinical Guidance: Drug Interactions with Hormonal Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, May 2022.
- U.S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.