การบวมน้ำ เป็นผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังนั้น การใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมประเภทฮอร์โมนต่ำและต่ำมาก หรือการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ที่มีเฉพาะโปรเจสติน อาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิด ในการลดหรือหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงดังกล่าว หรืออีกทางเลือกหนึ่งก็คือ การใช้ยาคุมที่มีผลต้านการบวมน้ำนั่นเอง
Drospirenone เป็นโปรเจสตินรุ่นที่ 4 ซึ่งมีผลขับปัสสาวะอย่างอ่อน จึงช่วยลดปัญหาน้ำหนักเพิ่มจากการบวมน้ำ และนอกจากนี้ ก็ยังมีผลต้านฤทธิ์แอนโดรเจน จึงช่วยลดปัญหาสิว, หน้ามัน หรือขนดก ในผู้หญิงที่มีฮอร์โมนเพศชายมากผิดปกติได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาคุมที่มี Drospirenone อาจทำให้ร่างกายมีระดับโพแทสเซียมสูง ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตหรือตับบกพร่อง หรือต้องใช้ยา/สมุนไพรที่อาจเพิ่มระดับโพแทสเซียมต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยง และตรวจติดตามระดับโพแทสเซียมในเลือดในช่วงเดือนแรกของการใช้ยาคุมดังกล่าวนะคะ
ในปัจจุบัน มียาคุมที่มี Drospirenone จำหน่ายอยู่ในประเทศไทย ดังนี้ค่ะ
- ยาคุมสูตร Ethinyl estradiol 0.030 มิลลิกรัม + Drospirenone 3 มิลลิกรัม ได้แก่ ยาสมิน (Yasmin), เมโลเดีย (Melodia) และ จัสติมา (Justima)
- ยาคุมสูตร Ethinyl estradiol 0.020 มิลลิกรัม + Drospirenone 3 มิลลิกรัม ได้แก่ ยาส (Yaz), ซินโฟเนีย (Synfonia) และ เฮอร์ซ (Herz)
- ยาคุมสูตร Drospirenone 4 มิลลิกรัม ได้แก่ สลินดา (Slinda)
“ยาสมิน”, “เมโลเดีย” และ “จัสติมา” เป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมประเภทฮอร์โมนต่ำ (Low dose pills) แบบ 21 เม็ด เมื่อใช้หมดแผงเดิมแล้วจะต้องเว้นว่าง 7 วันก่อนที่จะต่อยาคุมแผงใหม่
อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หรือการเกิดฝ้า ที่เป็นผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน อาจพบได้บ้าง แต่ไม่รุนแรงเท่ากับยาคุมชนิดฮอร์โมนสูง
ทั้ง 3 ยี่ห้อเป็นยานำเข้าจากต่างประเทศ และมีรูปแบบการใช้เหมือนกัน โดยจะมี “ตัวย่อของวันในสัปดาห์” ระบุไว้ในแผงยา เพื่อให้ผู้ใช้เลือกเม็ดยามารับประทานให้ตรงกับวันที่ใช้จริง
ราคาโดยประมาณของแต่ละยี่ห้อ ได้แก่ “ยาสมิน” 370 – 420 บาท, “เมโลเดีย” 280 – 310 บาท และ “จัสติมา” 270 – 290 บาท
“ยาส”, “ซินโฟเนีย” และ “เฮอร์ซ” เป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมประเภทฮอร์โมนต่ำมาก (Ultra low dose pills) แบบ 28 เม็ด เมื่อใช้หมดแผงเดิมแล้วให้ต่อแผงใหม่ในวันถัดมาได้เลย
และเพราะมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำมาก จึงไม่ค่อยพบปัญหาคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หรือการเกิดฝ้าจากยาคุม
ร่วมกับที่เป็นยาคุมรูปแบบ 24/4 ซึ่งมีช่วงปลอดฮอร์โมนสั้น ทำให้ระดับฮอร์โมนไม่แปรปรวนมาก จึงช่วยลดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome; PMS) เช่น อารมณ์แปรปรวน, หงุดหงิด, ซึมเศร้า, เครียด, ปวดศีรษะ, ปวดประจำเดือน หรือเจ็บคัดตึงเต้านม และลดปัญหาประจำเดือนมามากผิดปกติ
“ยาส” และ “ซินโฟเนีย” เป็นยานำเข้าจากต่างประเทศ มีการระบุ “ตัวเลขลำดับการใช้” 1 – 28 ไว้ในแผงด้านหนึ่ง และมีสติกเกอร์ระบุ “ตัวย่อของวันในสัปดาห์” ให้มาติดในแผงยาอีกด้านหนึ่งด้วย จึงใช้ง่าย และสะดวกต่อการตรวจสอบประจำวัน
ราคาโดยประมาณ ได้แก่ “ยาส” 420 – 460 บาท และ “ซินโฟเนีย” 350 – 390 บาท
ส่วน “เฮอร์ซ” เป็นยาที่ผลิตภายในประเทศ ราคาประมาณ 290 – 330 บาท มีเพียงการระบุ “ตัวเลขลำดับการใช้” 1 – 28 ไว้ในแผง จึงอาจตรวจสอบประจำวันได้ยากกว่า “ยาส” และ “ซินโฟเนีย” นะคะ
“สลินดา” เป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Minipill) แต่มีรูปแบบการใช้คล้ายกับยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม นั่นคือ มีช่วงปลอดฮอร์โมนเพื่อให้ประจำเดือนมาเป็นรอบปกติ
โดยประจำเดือนจะมาประมาณเม็ดที่ 27 หรือ 28 ของแผง เช่นเดียวกันยาคุมสูตร 24/4 ยี่ห้ออื่น ๆ และเมื่อรับประทานหมดแผงเดิมแล้ว ก็ให้ต่อยาคุมแผงใหม่ในวันถัดมาได้เลย
แม้ว่าอาจพบปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอย ประจำเดือนไม่ปกติ หรือไม่มีประจำเดือน ซึ่งถือเป็นผลข้างเคียงเด่นของการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวได้เช่นกัน แต่ก็ไม่รุนแรงเท่ากับยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวตัวอื่น ๆ
และเนื่องจากไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเลย จึงมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาคุมชนิดฮอร์โมนรวม และไม่ต้องกังวลกับปัญหาเรื่องฝ้าจากยาคุม
แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่ายาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวสูตร Drospirenone เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำหรือไม่ ถึงกระนั้นก็คาดว่าความเสี่ยงน่าจะน้อยกว่ายาคุมชนิดฮอร์โมนรวมสูตร Ethinyl estradiol + Drospirenone ค่ะ
“สลินดา” มีราคาประมาณ 290 – 330 บาท
รูปแบบการใช้จะคล้ายกับ “ยาส” และ “ซินโฟเนีย” นั่นคือ มีทั้งการระบุ “ตัวเลขลำดับการใช้” 1 – 28 ไว้ในแผงด้านหนึ่ง และมีสติกเกอร์ระบุ “ตัวย่อของวันในสัปดาห์” ให้มาติดไว้ในแผงอีกด้านหนึ่ง ซึ่งข้อดีของการใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกัน ก็คือ ใช้งานง่าย และสามารถตรวจสอบประจำวันได้ด้วยนั่นเอง