ขึ้นเครื่องบิน…ต้องหยุดยาคุมมั้ย?!?

ขึ้นเครื่องบิน ต้องหยุดยาคุมมั้ย

                นอกจากการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมแล้ว การไม่เคลื่อนไหวร่างกายก็เป็นอีกหนึ่งในหลายปัจจัยเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน

                ถ้าเช่นนั้น เมื่อจะเดินทางด้วยเครื่องบิน ซึ่งต้องนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน เราจำเป็นจะต้องหยุดยาคุมหรือไม่นะ

 

                การไหลเวียนเลือดที่ช้าลง, การแข็งตัวของเลือดง่ายกว่าปกติ และการบาดเจ็บหรืออักเสบที่ผนังหลอดเลือด เป็นสาเหตุ 3 ประการตาม Virchow’s triad ที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ

 

                ยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัด เกี่ยวกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในผู้ที่ใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม แต่คาดว่าจะเป็นเพราะฮอร์โมนเอสโตรเจน ไปเพิ่มสารที่มีฤทธิ์กระตุ้น และลดสารที่มีฤทธิ์ต้าน ในระบบการแข็งตัวของเลือดในร่างกาย

                ถึงเช่นนั้น การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ก็เป็นความเสี่ยงในระดับปานกลาง และพบได้น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรปกติ โดยองค์การยาแห่งยุโรป (European Medicines Agency: EMA) ระบุว่า หากคิดจากจำนวน 10,000 คนของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ที่ใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม จะพบการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำได้ 5 – 12 ราย

                แม้จะมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้ใช้ยาคุม ซึ่งพบเพียง 2 ราย แต่ก็น้อยกว่าหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด ซึ่งพบ 5 – 20 ราย และ 40 – 65 ราย ตามลำดับ

 

                ส่วนการโดยสารเครื่องบินระหว่างประเทศ รวมไปถึงการเดินทางไกลรูปแบบอื่น ๆ เช่น ทางรถยนต์ รถประจำทาง, รถไฟ และทางเรือ ที่ทำให้ต้องนั่งอยู่ในที่คับแคบ หรือเคลื่อนไหวได้จำกัด ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง อาจทำให้การไหลเวียนในหลอดเลือดดำช้าลง โดยเฉพาะที่ขา และเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้เช่นกัน

                ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายใน 8 สัปดาห์หลังการเดินทาง โดยพบมากในช่วง 1 – 2 สัปดาห์แรก

 

                แม้การเดินทางไกลจะเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า แต่เมื่อเทียบกับโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำโดยทั่วไป ที่พบได้ 1 – 2 รายต่อประชากร 1,000 คน การเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่เพิ่มขึ้นจากการเดินทางก็ยังถือเป็นจำนวนที่ไม่มากนัก และถูกจัดให้เป็นความเสี่ยงในระดับต่ำนะคะ

                ระยะเวลาในการเดินทางสอดคล้องกับความเสี่ยงดังกล่าว โดยพบว่า เวลาเดินทางที่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง มีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ส่วนผู้ที่โดยสารเครื่องบินนานกว่า 8 ชั่วโมง มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันสูงเกินกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่โดยสารเครื่องบินนาน 6 – 8 ชั่วโมง

                อย่างไรก็ตาม การเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากการเดินทาง มักพบในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยผู้ที่เดินทางนานกว่า 8 ชั่วโมง และมีความเสี่ยงอยู่เดิมในระดับต่ำถึงปานกลาง พบการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ 0.5% ส่วนผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงใด ๆ เลย จะพบการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้น้อยมากค่ะ

 

                คณะอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ สหราชอาณาจักร (Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare; FSRH) จึงได้แนะนำผู้ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมว่า ควรเคลื่อนไหวร่างกายให้มากเท่าที่จะทำได้ และหากไม่มีคำแนะนำจากแพทย์ ก็ไม่จำเป็นจะต้องสวมถุงน่องทางการแพทย์ หรือใช้ยาใด ๆ เพื่อป้องกันลิ่มเลือดอุดตัน

                ดังนั้น หากไม่ได้มีความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหรือข้อห้ามใช้อื่น ๆ อยู่ และมีความจำเป็นที่จะต้องคุมกำเนิดด้วยยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ก็สามารถใช้ได้ตามปกตินะคะ ไม่ต้องหยุดหรือเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดก่อนเดินทางค่ะ แต่ควรขยับเพื่อบริหารขาทั้งสองข้างบ่อย ๆ และลุกขึ้นเดินเล่นบ้างทุก 2 – 3 ชั่วโมง

                ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน (ซึ่งไม่แนะนำให้ใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมอยู่แล้ว) หากต้องเดินทางเป็นเวลานานมากกว่า 3 – 4 ชั่วโมง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาว่ามีความจำเป็นจะต้องป้องกันใด ๆ เพิ่มเติมหรือไม่นะคะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Anderson FA Jr, Spencer FA. Risk factors for venous thromboembolism. Circulation. 2003 Jun 17;107(23 Suppl 1):I9-16.
  2. Reitsma PH, Versteeg HH, Middeldorp S. Mechanistic view of risk factors for venous thromboembolism. Arterioscler Thromb Vasc Biol. 2012 Mar;32(3):563-8.
  3. Philbrick JT, Shumate R, Siadaty MS, Becker DM. Air travel and venous thromboembolism: a systematic review. J Gen Intern Med. 2007 Jan;22(1):107-14.
  4. Chandra D, Parisini E, Mozaffarian D. Meta-analysis: travel and risk for venous thromboembolism. Ann Intern Med. 2009 Aug 4;151(3):180-90.
  5. Watson HG, Baglin TP. Guidelines on travel-related venous thrombosis. Br J Haematol. 2011;152:31–4.
  6. FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception, January 2019 (Amended November 2020).
  7. Travelers’ Health: Official U.S. government health recommendations for traveling. Provided by the U.S. Centers for Disease Control and Prevention (CDC).