เนื่องจากผู้ใช้ยาคุมรายเดือน มักคุ้นชินกับคำแนะนำที่ให้รับประทานยาคุมในเวลาก่อนนอน ดังนั้น เมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศที่เขตเวลาต่างกัน ก็อาจสับสนว่าควรรับประทานยาคุมในเวลาก่อนนอนตามเวลาท้องถิ่นหรือเปล่า
ก่อนอื่น ควรทราบว่าเหตุผลในการแนะนำให้รับประทานยาคุมในเวลาก่อนนอน ก็เพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น ความรู้สึกคลื่นไส้ หรือการอาเจียน โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ผู้ใช้ยังไม่ชินกับยา และเพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้ใช้อาจจะลืมรับประทานยาคุมด้วยค่ะ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ยาคุมมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึง ลดปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเกิดจากความแปรปรวนของฮอร์โมน เช่น การเกิดเลือดออกกะปริบกะปรอย ก็ควรรับประทานให้ตรงเวลาสม่ำเสมอ
ซึ่งการรับประทานที่ “ตรงเวลา” จะหมายถึง รับประทานยาคุมรายเดือน ห่างจากเม็ดล่าสุดที่ใช้ เป็นเวลา 24 ชั่วโมงนะคะ เช่น หากวันที่ผ่านมา รับประทานยาคุมในเวลา 21.00 น. นับต่อไปอีก 24 ชั่วโมง เวลารับประทานยาคุมในวันนี้ก็จะตรงกับเวลา 21.00 น.
และหากรับประทานยาคุมในเวลาเดียวกันของทุกวัน ระยะห่างของยาคุมแต่ละเม็ดก็จะเป็น 24 ชั่วโมงสม่ำเสมอ
ในกรณีที่เดินทางไปต่างประเทศที่มีเขตเวลาต่างกัน จึงควรพิจารณา “ระยะห่าง” ของเวลาที่ใช้ โดยรับประทานยาคุมประจำวันห่างจากเม็ดล่าสุดที่ใช้ไปอีก 24 ชั่วโมง1
ดังนั้น ถ้าเคยรับประทานยาคุมรายเดือนในเวลา 21.00 น. ของประเทศไทย แม้เดินทางไปต่างประเทศ ก็ควรรับประทานยาคุมในเวลา 21.00 น. ของประเทศไทย
หรือปรับเป็นเวลาท้องถิ่นที่ตรงกับเวลาดังกล่าวค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น ตอนอยู่เมืองไทย เคยรับประทานยาคุมในเวลา 21.00 น. เมื่อเดินทางไปเที่ยวที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็จะต้องรับประทานยาคุมเม็ดต่อ ๆ ไปตรงกับเวลา 21.00 น. ของประเทศไทย
หรือถ้าปรับเป็นเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 7 ชั่วโมง เวลารับประทานยาคุมก็จะตรงกับ 14.00 น. ของลอนดอนนั่นเอง
เมื่อยังต้องมีการทำกิจกรรมต่าง ๆ หลังรับประทานยาคุม ก็อาจส่งผลให้ผู้ใช้รู้สึกคลื่นไส้อาเจียนได้มากกว่า เมื่อเทียบกับการนอนหลับพักผ่อนหลังรับประทานยาคุมนะคะ
อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงนี้อาจพบในช่วงเดือนแรก ๆ ที่เริ่มรับประทานยาคุม และลดลงหรือหายไปเมื่อผู้ใช้คุ้นชินกับยา
ดังนั้น หากมีการใช้ยาคุมมานานแล้ว แม้กิจกรรมจะเปลี่ยนไปตามเวลาท้องถิ่น และเวลารับประทานยาคุมกลายเป็นช่วงกลางวัน ก็น่าจะไม่มีปัญหาค่ะ
แต่ถ้าจะเปลี่ยนไปรับประทานในช่วงกลางคืนหรือก่อนนอนตามเวลาท้องถิ่น ก็ควรระวังว่าประสิทธิภาพของยาคุมอาจลดลง
โดยเฉพาะถ้าทำให้มีระยะห่างจากเวลาที่ใช้ยาคุมเม็ดล่าสุด มากเกินกรอบเวลายืดหยุ่นไปแล้ว ผลคุมกำเนิดก็จะไม่ต่อเนื่อง และเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันอื่น ๆ ร่วมด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารับประทานยาคุมเม็ดล่าสุดตรงกับเวลา 21.00 น. ของวันจันทร์ในประเทศไทย
เวลารับประทานยาคุมเม็ดต่อไป ก็จะต้องตรงกับ 21.00 น. วันอังคาร เมื่อคิดตามเวลาประเทศไทย หรือตรงกับเวลา 14.00 น. ในวันอังคาร เมื่อคิดตามเวลาที่ลอนดอน
แต่ถ้ารับประทานยาคุมในเวลา 21.00 น. ของวันอังคาร ตามเวลาที่ลอนดอน ซึ่งตรงกับเวลา 04.00 น. ของวันพุธในประเทศไทย
ระยะห่างของยาคุม 2 เม็ดนี้ก็จะกลายเป็น 31 ชั่วโมง หรือเท่ากับรับประทานช้าเกินกำหนดไป 7 ชั่วโมงนั่นเอง
ถ้ายาคุมรายเดือนที่ใช้ มีกรอบเวลายืดหยุ่นน้อยกว่า 7 ชั่วโมง ก็ถือว่าไม่มีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องแล้ว
ซึ่งยาคุมแต่ละชนิดมีกรอบเวลายืดหยุ่น ที่ยอมให้รับประทานช้ากว่ากำหนดได้ โดยยังมีผลคุมกำเนิดต่อเนื่อง แตกต่างกันดังนี้ค่ะ
ชนิดของยาคุม |
กรอบเวลายืดหยุ่น และคำแนะนำ |
ยาเม็ดฮอร์โมนรวม1, 2, 3 |
จะถือว่าขาดยา 1 เม็ด หากรับประทานช้าเกินกำหนด 24 ชั่วโมง
ถ้าขาดยาติดต่อกัน 2 เม็ด ก็จะไม่มีผลคุมกำเนิดต่อเนื่อง ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางร่วมด้วย จนกว่าจะได้รับประทานเม็ดยาฮอร์โมนติดต่อกันครบ 7 วันอีกครั้ง |
ยาเม็ดฮอร์โมนรวม ที่มี Ethinyl estradiol 0.030 – 0.035 มิลลิกรัม2 |
จะถือว่าขาดยา 1 เม็ด หากรับประทานช้าเกินกำหนด 24 ชั่วโมง
ถ้าขาดยาติดต่อกัน 3 เม็ด ก็จะไม่มีผลคุมกำเนิดต่อเนื่อง ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางร่วมด้วย จนกว่าจะได้รับประทานเม็ดยาฮอร์โมนติดต่อกันครบ 7 วันอีกครั้ง |
ยาเม็ดฮอร์โมนเดี่ยว ชนิดตัวยา Lynestrenol2, 3, 4 ได้แก่ เอ็กซ์ลูตอน และ เดลิต้อน |
จะถือว่าขาดยาและไม่มีผลคุมกำเนิดต่อเนื่อง หากรับประทานช้าเกินกำหนดมากกว่า 3 ชั่วโมง ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางร่วมด้วย จนกว่าจะได้รับประทานยาคุมติดต่อกันครบ 2 วัน (48 ชั่วโมง) |
ยาเม็ดฮอร์โมนเดี่ยว ชนิดตัวยา Desogestrel2, 3, 4 ได้แก่ ซีราเซท |
จะถือว่าขาดยาและไม่มีผลคุมกำเนิดต่อเนื่อง หากรับประทานช้าเกินกำหนดมากกว่า 12 ชั่วโมง ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางร่วมด้วย จนกว่าจะได้รับประทานยาคุมติดต่อกันครบ 2 วัน (48 ชั่วโมง) |
ยาเม็ดฮอร์โมนเดี่ยว ชนิดตัวยา Drospirenone5 ได้แก่ สลินดา |
จะถือว่าขาดยาและไม่มีผลคุมกำเนิดต่อเนื่อง หากรับประทานช้าเกินกำหนดมากกว่า 24 ชั่วโมง ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางร่วมด้วย จนกว่าจะได้รับประทานเม็ดยาฮอร์โมนติดต่อกันครบ 7 วันอีกครั้ง |
จากตัวอย่างข้างต้น ที่มีการรับประทานยาคุมช้ากว่าเวลาปกติ 7 ชั่วโมง หากผู้ใช้รับประทานยาคุมยี่ห้อเอ็กซ์ลูตอน หรือเดลิต้อน ซึ่งมีกรอบเวลายืดหยุ่นเพียงแค่ 3 ชั่วโมง ก็จะถือว่าไม่มีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องแล้ว
จึงควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันร่วมด้วย ไปจนกว่าจะรับประทานยาคุมติดต่อกันครบ 2 วัน
แต่ถ้าใช้ยาคุมตัวอื่นที่มีกรอบเวลายืดหยุ่นมากกว่า 7 ชั่วโมง ในกรณีที่มีผลคุมกำเนิดจากยาคุมแผงนั้นแล้ว ก็ถือว่ายังมีผลคุมกำเนิดที่ต่อเนื่อง
จึงสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติโดยไม่ต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่เกินกรอบเวลายืดหยุ่น แต่การรับประทานไม่ตรงเวลา ก็อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมไม่สูงเท่ากับผู้ที่รับประทานตรงเวลาสม่ำเสมอนะคะ
เอกสารอ้างอิง
- FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception, January 2019 (Amended November 2020).
- Selected Practice Recommendationsfor Contraceptive Use, 3rd edition. Geneva: World Health Organization; 2016.
- S. selected practice recommendations for contraceptive use, 2016.
- FSRH Guideline: Progestogen-only Pills, March 2015 (Updated April 2019).
- เอกสารกำกับยาภาษาอังกฤษ – Slinda®