มีเพศสัมพันธ์ในช่วงปลอดฮอร์โมน ต้องใช้ยาคุมฉุกเฉินหรือไม่

มีเพศสัมพันธ์ในช่วงปลอดฮอร์โมน ต้องใช้ยาคุมฉุกเฉินหรือไม่

                การเว้นว่าง 7 วันหลังใช้ยาคุม 21 เม็ดแผงเดิมหมด และการรับประทานเม็ดยาหลอกที่มีในแผงยาคุม 28 เม็ดหลาย ๆ ยี่ห้อ ถือเป็นช่วงปลอดฮอร์โมนเพื่อให้ประจำเดือนมา

                แล้วในช่วงที่ไม่ได้รับฮอร์โมนเช่นนี้ ยังมีผลป้องกันจากยาคุมรายเดือนที่ใช้อยู่ไหม หากมีเพศสัมพันธ์ควรใช้ถุงยางอนามัยหรือเปล่า และจะต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉินหรือไม่

 

                ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมแบบ 21 เม็ด เมื่อรับประทานหมดแผงเดิมแล้ว ก็จะเว้นว่าง 7 วันก่อนต่อยาคุมแผงใหม่ ในช่วงที่เว้นว่างดังกล่าวถือเป็นช่วงปลอดฮอร์โมนค่ะ

                เมื่อไม่ได้รับฮอร์โมนไปหล่อเลี้ยง เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะเกิดการหลุดลอกและมีเลือดออก กลายเป็นประจำเดือนในรอบนั้น

                โดยประจำเดือนมักจะมาหลังจากที่ใช้ยาคุมหมดแผงไปแล้วประมาณ 2 – 3 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 3 – 4 ของช่วงที่เว้นว่าง หรืออาจคลาดเคลื่อนบ้างเล็กน้อย

 

                ส่วนยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมแบบ 28 เม็ด และยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวรูปแบบใหม่อย่าง “สลินดา” (Slinda) แม้ว่าจะมีการรับประทานต่อเนื่องกันทุกวัน โดยเมื่อหมดแผงเดิมแล้วก็จะต่อแผงใหม่ในวันถัดมา แต่ก็มีช่วงปลอดฮอร์โมนเช่นกันนะคะ นั่นก็คือช่วงที่เป็นเม็ดยาหลอกในแผงนั่นเอง

                เม็ดยาหลอก หรืออาจเรียกว่าเม็ดแป้ง จะมีอยู่แผงละ 7 เม็ดหรือ 4 เม็ด ขึ้นกับยี่ห้อที่ใช้ ซึ่งประจำเดือนมักจะมาตรงกับวันที่รับประทานเม็ดยาหลอกเม็ดที่ 3 หรือ 4 โดยประมาณ

 

                ยาคุมที่มีช่วงปลอดฮอร์โมน จะใช้การยับยั้งการตกไข่เป็นกลไกหลักในการป้องกันการตั้งครรภ์ค่ะ โดยมีประสิทธิภาพในการยับยั้งได้มากกว่า 99% ดังนั้น หากรับประทานถูกต้องและตรงเวลาสม่ำเสมอ ก็มักจะไม่มีไข่ตกในระหว่างที่ใช้ยาคุมอยู่

                และเมื่อไม่มีไข่ตก แม้จะมีเพศสัมพันธ์แบบหลั่งในก็ไม่มีปัญหา เนื่องจากอสุจิไม่สามารถผสมกับไข่ได้ จึงไม่เกิดการตั้งครรภ์นั่นเอง

 

                แต่เมื่อหยุดใช้ ก็จะไม่มีผลยับยั้งจากยาคุมต่อไปแล้ว กระบวนการตกไข่ก็สามารถทำงานได้อีก ดังนั้น ถ้ามีเพศสัมพันธ์แบบหลั่งใน ก็มีความเสี่ยงที่อสุจิจะผสมกับไข่ และเกิดการตั้งครรภ์ตามมา

 

                อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่ได้รับฮอร์โมนในช่วงที่เว้นว่าง 7 วันหรือในช่วงที่รับประทานเม็ดยาหลอก แต่ถ้าผู้ใช้เริ่มแผงใหม่ตามกำหนด และรับประทานอย่างต่อเนื่อง ยาคุมก็สามารถยับยั้งไข่ตกได้ทัน จึงถือว่ามีผลป้องกันจากยาคุมอยู่ และสามารถหลั่งในได้เช่นเดียวกับช่วงที่รับประทานเม็ดยาฮอร์โมน

                แต่การมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างที่มีประจำเดือน อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ดังนั้น แม้ว่าผู้ใช้ยาคุมจะไม่ต้องกังวลเรื่องการตั้งครรภ์ แต่ก็ควรรอให้ประจำเดือนหายดีก่อนนะคะ

 

                สรุปก็คือ สำหรับผู้ที่ตั้งใจว่าจะต่อยาคุมแผงใหม่ ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์หลั่งในได้ ในช่วงที่เว้นว่าง 7 วันหลังใช้ยาคุม 21 เม็ดแผงเดิมหมด หรือในช่วงรับประทานเม็ดยาหลอกที่มีในแผงยาคุม 28 เม็ด เช่นเดียวกับช่วงที่รับประทานเม็ดยาฮอร์โมนอยู่ ถ้าใช้ยาคุมรายเดือนถูกต้องก็ไม่ต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉินให้เกิดผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น

                แต่ควรรอให้ประจำเดือนหายดีก่อนจึงค่อยมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ

                และจะต้องต่อยาคุมแผงใหม่ตามกำหนด อีกทั้งควรใช้ตรงเวลาสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่รับประทานเม็ดยาฮอร์โมนสัปดาห์แรกของแผงใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่ายาคุมจะสามารถยับยั้งไข่ตกได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

 

                แต่สำหรับผู้ที่ต้องการจะหยุดยาคุม และไม่ได้เตรียมการคุมกำเนิดด้วยวิธีใด ๆ ต่อ แม้จะยังอยู่ในช่วงที่เว้นว่าง 7 วันหลังใช้ยาคุม 21 เม็ดแผงเดิมหมด หรือในช่วงรับประทานเม็ดยาหลอกของยาคุม 28 เม็ดแผงล่าสุด หากยังไม่พร้อมที่จะมีบุตร ก็ควรใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ค่ะ

                และถ้ามีเพศสัมพันธ์หลั่งในไปแล้วในช่วงปลอดฮอร์โมน โดยไม่ได้ต่อยาคุมแผงใหม่ หรือต่อยาคุมแผงใหม่ช้ากว่ากำหนดไปมาก ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินทันทีที่ทำได้ ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ไม่พร้อมด้วยนะคะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Selected Practice Recommendationsfor Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
  2. S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  3. FSRH CEU Guidance: Recommended Actions after Incorrect Use of Combined Hormonal Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, 2020.
  4. เอกสารกำกับยาภาษาอังกฤษ – Slinda®