ดื่มแอลกอฮอล์ได้ไหมถ้าใช้ยาคุมอยู่

ดื่มแอลกอฮอล์ได้ไหมถ้าใช้ยาคุมอยู่

                จะต้องงดเหล้า, เบียร์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ เลยไหม หรือควรเว้นช่วงห่างกันอย่างไร ถ้าใช้ยาคุมฉุกเฉินหรือยาคุมรายเดือนอยู่

 

                เนื่องจากแอลกอฮอล์ไม่ได้ลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิด การดื่มเหล้า, เบียร์ หรือเครื่องดื่มแอลกฮอล์ใด ๆ จึงไม่ได้ถือเป็นข้อห้ามในระหว่างที่รับประทานยาคุมรายเดือน หรือเมื่อต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉิน

                แต่แม้จะไม่ส่งผลกระทบทางตรง ก็ควรระวังปัญหาที่อาจขึ้นจากการดื่มแอลกอฮอล์ ที่ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการใช้ยาคุมด้วยนะคะ ซึ่งได้แก่ การอาเจียนหลังรับประทานยาคุม และการลืมรับประทานยาคุม

 

 

การอาเจียนหลังรับประทานยาคุม

 

                หลังรับประทานยาคุมรายเดือนไปแล้ว หากอาเจียน “เม็ดยาฮอร์โมน” ภายใน 2 ชั่วโมง1, 3, ภายใน 3 ชั่วโมง2, 3 หรือภายใน 3 – 4 ชั่วโมง4 (ขึ้นกับชนิดของยาคุมและแหล่งอ้างอิง) การดูดซึมยาอาจยังไม่สมบูรณ์ค่ะ

                จึงต้องแก้ไขด้วยการรับประทาน “เม็ดยาฮอร์โมน” ซ้ำทันทีที่สามารถทำได้ เพื่อทดแทนยาคุมที่อาเจียนออกมา

                ถ้าแก้ไขไม่ทัน จนทำให้มีการขาดยาเกินกรอบเวลายืดหยุ่น ซึ่งอาจแตกต่างกันตามชนิดของยาคุม ก็จะถือว่าไม่มีผลคุมกำเนิดจากยาคุมที่ใช้อยู่ จึงต้องงดมีเพศสัมพันธ์หรือใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ร่วมด้วยไปก่อน จนกว่าจะมีผลคุมกำเนิดจากยาคุมอีกครั้ง (อ่านวิธีแก้ไขได้จากบทความ อาเจียนหลังรับประทานยาคุมรายเดือน)

 

เวลาที่อาเจียนหลังรับประทาน “เม็ดยาฮอร์โมน” ซึ่งควรรับประทานซ้ำ

แยกตามชนิดของยาคุมรายเดือนและแหล่งอ้างอิง

ชนิดของยาคุม

แหล่งอ้างอิง

WHO1

US CDC2

FSRH3, 4

ยาคุมฮอร์โมนรวม

2 ชั่วโมง

3 ชั่วโมง

ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวรุ่นเก่า ที่ไม่มี “เม็ดยาหลอก” ได้แก่ เอ็กซ์ลูตอน และ เดลิต้อน

2 ชั่วโมง

3 ชั่วโมง

2 ชั่วโมง

ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวรุ่นใหม่ ที่ไม่มี “เม็ดยาหลอก” ได้แก่ ซีราเซท

2 ชั่วโมง

3 ชั่วโมง

3 – 4 ชั่วโมง

ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวรุ่นใหม่ ที่มี “เม็ดยาหลอก” ได้แก่ สลินดา

3 – 4 ชั่วโมง

 

                และถ้ามีการอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมง1 หรือภายใน 3 ชั่วโมง2, 5 หลังรับประทานยาคุมฉุกเฉิน (ขึ้นกับชนิดของยาคุมและแหล่งอ้างอิง) ก็ควรมีการรับประทานซ้ำเช่นกัน เพื่อทดแทนยาที่อาจยังดูดซึมไม่สมบูรณ์ (อ่านวิธีแก้ไขได้จากบทความ อาเจียนหลังกินยาคุมฉุกเฉิน)

                ซึ่งยาคุมฉุกเฉินที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อที่มี 2 เม็ด หรือยี่ห้อที่มี 1 เม็ด ต่างก็เป็นยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล หรือ Levonorgestrel Emergency Contraceptive Pills; LNG-ECPs จึงให้อ้างอิงระยะเวลาของ LNG-ECPs นะคะ

                ในกรณีที่นำยาคุมรายเดือนบางยี่ห้อ มารับประทานในขนาดสูงเพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉิน ซึ่งเรียกกันว่า Yuzpe regimen (แต่ไม่นิยมใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากประสิทธิภาพต่ำมาก และมีผลข้างเคียงสูง) ก็ให้อ้างอิงระยะเวลาของ Combined ECPs ค่ะ

 

เวลาที่อาเจียนหลังรับประทานยาคุมฉุกเฉิน ซึ่งควรรับประทานซ้ำ

แยกตามแหล่งอ้างอิง

ชนิดของยาคุม

แหล่งอ้างอิง

WHO1

US CDC2

FSRH5

ยาคุมฉุกเฉิน

2 ชั่วโมง

(LNG-ECPs และ Combined ECPs)

3 ชั่วโมง

3 ชั่วโมง

3 ชั่วโมง

(UPA-ECPs)

 

 

การลืมรับประทานยาคุม

 

                ผู้ที่ดื่มเหล้า, เบียร์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเมื่อดื่มในปริมาณมากจนขาดสติ อาจเสี่ยงต่อการลืมรับประทานยาคุม ทำให้มีการใช้ยาคุมรายเดือนไม่ต่อเนื่อง หรือทำให้ใช้ยาคุมฉุกเฉินไม่ครบขนาด จนไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ หรือลดประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลง

                เช่น อาจเมาและหลับไป ก่อนถึงเวลารับประทานยาคุมประจำวัน หรือก่อนถึงเวลาที่ต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉินเม็ดที่สอง (ถ้าใช้ยี่ห้อที่มี 2 เม็ด แล้วรับประทานตามวิธีดั้งเดิม)

 

                การใช้ยาคุมรายเดือนไม่ต่อเนื่อง หรือไม่ตรงเวลา นอกจากอาจทำให้พบปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ง่ายแล้ว ยังอาจลดประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด หรือเสี่ยงที่จะไม่มีผลคุมต่อเนื่อง โดยเฉพาะถ้าใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ซึ่งมักจะมีกรอบเวลายืดหยุ่นสั้น ๆ เพียงไม่กี่ชั่วโมง หรืออย่างมากก็ไม่เกิน 24 ชั่วโมงสำหรับบางยี่ห้อ

                ส่วนการรับประทานยาคุมฉุกเฉินไม่ครบขนาด ก็จะทำให้ไม่มีผลป้องกันฉุกเฉินได้ตามที่ต้องการค่ะ (อ่านวิธีแก้ไขได้จากบทความ ลืมรับประทานยาคุมฉุกเฉินเม็ดที่สอง)

 

 

                ดังนั้น หากมีความจำเป็นจะต้องดื่มเหล้า, เบียร์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใด ๆ ในระหว่างที่มีการใช้ยาคุมรายเดือนหรือยาคุมฉุกเฉินอยู่ ก็สามารถทำได้ตามปกติ โดยไม่ได้มีข้อจำกัดว่าจะต้องเว้นช่วงห่างกันกี่ชั่วโมง หรือจะต้องรับประทานอะไรก่อนแล้วค่อยใช้อะไรตามหลัง

                แต่ก็ควรระวังปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการใช้ยาคุมด้วยนะคะ เช่น การอาเจียนภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังรับประทานยาคุม ทำให้การดูดซึมยาไม่สมบูรณ์ และการลืมรับประทานยาคุม ซึ่งถ้าใช้ไม่ต่อเนื่องหรือไม่ครบขนาด ประสิทธิภาพก็อาจลดลง หรือไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ค่ะ

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. Geneva: World Health Organization; 2016. 
  2. U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 2016.
  3. FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception, January 2019 (Amended November 2020).
  4. FSRH Guideline: Progestogen-only Pills, August 2022 (Amended October 2022).
  5. FSRHGuideline: Emergency contraception,March 2017 (Amended December 2020).