จะท้องมั้ยถ้าลืมใช้ยาคุม 1 วัน

เริ่มเผยแพร่

เมื่อใช้ยาคุมแบบรายเดือนอยู่ โดยมีผลคุมกำเนิดแล้ว ถ้าลืมรับประทานไป 1 วัน จะทำให้ตั้งครรภ์ได้หรือไม่

 

               การหาคำตอบว่ายาคุมที่ใช้ จะยังให้ผลคุมกำเนิดอยู่หรือเปล่า ต้องพิจารณาว่าเม็ดที่ลืมรับประทานเป็นเม็ดยาฮอร์โมนหรือเม็ดยาหลอก และยาคุมชนิดนั้นมีความยืดหยุ่นให้ขาดยาได้นานเพียงไรค่ะ

 

               การยับยั้งไข่ตก คือกลไกหลักที่ยาคุมรายเดือนใช้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์นะคะ และหากไม่มีไข่ตก ต่อให้อสุจิเข้าสู่ช่องคลอดได้ ก็ไม่สามารถปฏิสนธิกับไข่ จึงไม่เกิดการตั้งครรภ์

               สำหรับเม็ดยาหลอก เนื่องจากไม่มีตัวยาฮอร์โมนใด ๆ อยู่แล้ว ดังนั้น แม้ลืมใช้ก็ไม่ได้ลดประสิทธิภาพของยาคุม แค่ต้องระวังว่าอย่าต่อแผงใหม่ช้าเกินกำหนดเท่านั้น

               แต่ถ้าลืมใช้เม็ดยาฮอร์โมน ระดับยาในเลือดจะลดต่ำลง จนอาจยับยั้งไข่ตกได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรือไม่สามารถยับยั้งไข่ตกได้ จึงเสี่ยงมากที่จะตั้งครรภ์ หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย

จะท้องมั้ยถ้าลืมใช้ยาคุม 1 วัน

 

               สำหรับยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ยังสามารถยอมรับได้ หากลืมใช้เม็ดยาฮอร์โมนติดต่อกันไม่ถึง 2 วัน (หรือติดต่อกันไม่ถึง 3 วัน สำหรับยาคุมที่มี Ethinyl estradiol 0.030 – 0.035 มิลลิกรัม ในกรณีที่อ้างอิงตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก)

               ส่วนยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว จะมีความยืดหยุ่นน้อยกว่าค่ะ

 

               โดยยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวรุ่นดั้งเดิม ได้แก่ “เอ็กซ์ลูตอน” (Exluton) และ “เดลิต้อน” (Dailyton) จะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งไข่ตกที่ต่ำกว่ายาคุมชนิดฮอร์โมนรวมมาก จึงต้องพึ่งกลไกอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น เพื่อที่อสุจิจะผ่านไปได้ยาก และเปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อให้ไม่เหมาะสมกับการฝังตัวของตัวอ่อน

               แต่ผลคุมกำเนิดจากการเปลี่ยนแปลงมูกที่ปากมดลูกนั้นมีอายุสั้น จึงต้องรับประทานยาคุมให้ตรงเวลาสม่ำเสมอทุก ๆ วัน และลืมใช้ได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง จึงจะสามารถป้องกันได้อย่างต่อเนื่อง

 

               ในขณะที่ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวรุ่นใหม่ ๆ จะสามารถยับยั้งไข่ตกได้ใกล้เคียงกับยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น “ซีราเซท” (Cerazette) ซึ่งลืมรับประทานได้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง และ “สลินดา” (Slinda) ที่ต้องไม่ลืมใช้เม็ดยาฮอร์โมนนานเกิน 24 ชั่วโมงค่ะ

 

               เมื่อมีผลคุมกำเนิดแล้ว หากลืมรับประทานเม็ดยาฮอร์โมนน้อยกว่ากรอบเวลาที่ยืดหยุ่นให้ ก็ยังคุมกำเนิดได้ต่อเนื่องนะคะ จึงมีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีป้องกันอื่น ๆ ร่วมด้วย

               ดังนั้น ในกรณีที่ลืมรับประทานยาคุม 1 วัน ก็จะยังไม่เป็นไร ถ้ายาคุมที่ใช้เป็นชนิดฮอร์โมนรวม เพราะถือว่ามีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องอยู่

 

               แต่ถ้ายาคุมที่ใช้เป็นชนิดฮอร์โมนเดี่ยว เมื่อลืมรับประทาน “เอ็กซ์ลูตอน” และ “เดลิต้อน” เกิน 3 ชั่วโมง, ลืมรับประทาน “ซีราเซท” เกิน 12 ชั่วโมง, หรือลืมรับประทานเม็ดยาฮอร์โมนของ “สลินดา” เกิน 24 ชั่วโมง แล้วมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ก็เสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ได้มาก เนื่องจากไม่มีผลคุมกำเนิดจากยาแล้วนะคะ

              จึงควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน จนกว่าจะรับประทาน “เอ็กซ์ลูตอน”, “เดลิต้อน” และ “ซีราเซท” ติดต่อกันครบ 48 ชั่วโมง หรือจนกว่าจะรับประทานเม็ดยาฮอร์โมนของ “สลินดา” ติดต่อกันครบ 7 วันค่ะ

 

               อย่างไรก็ตาม การใช้ยาคุมที่ไม่เคร่งครัดนัก หรือเกิดความผิดพลาดที่สามารถยอมรับได้อยู่บ้าง แม้ว่ายังมีผลคุมกำเนิดอยู่ แต่ประสิทธิภาพก็อาจลดลง โดยถือว่าสามารถป้องกันได้ 93% นั่นหมายถึง อัตราการตั้งครรภ์จะอยู่ที่ 7 ต่อ 100

               ในขณะที่ถ้ารับประทานยาคุมรายเดือนอย่างถูกต้อง, เหมาะสม และตรงเวลาสม่ำเสมอ จะสามารถป้องกันได้มากถึง 99.7% หรือก็คือ มีความเสี่ยงเพียง 3 ใน 1,000 คนเท่านั้นที่จะตั้งครรภ์

               เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการตั้งครรภ์ จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ และรับประทานยาคุมให้ถูกต้องและตรงเวลาสม่ำเสมอนะคะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Family Planning: A Global Handbook for Providers, Updated 4th edition. World Health Organization, 2022.
  2. FSRH Guideline: Progestogen-only Pills. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, August 2022. (Amended July 2023)
  3. FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, January 2019. (Amended October 2023)
  4. U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  5. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.