ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

ยาคุมรายเดือนชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีจำหน่ายในประเทศไทย

                ยาคุมรายเดือนที่มีเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว (Progestin-only pills หรือ Minipill) อาจมีภาพจำว่าเป็น “ยาคุมสำหรับหญิงให้นมบุตร” เนื่องจากไม่กดการสร้างน้ำนม จึงถูกแนะนำให้กับหญิงหลังคลอดที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หากต้องการใช้ยาคุมรายเดือน

                ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าสามารถใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมประเภทฮอร์โมนต่ำ (หรือต่ำมาก) ในหญิงที่ให้นมบุตรได้นะคะ เพราะพบว่ายาคุมที่มีปริมาณเอสโตรเจน Ethinyl estradiol ไม่เกิน 0.035 มิลลิกรัม ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำนม, ปริมาณน้ำนม และระยะเวลาการให้นม แต่ควรรอให้ผ่าน 6 สัปดาห์หลังคลอดไปก่อนจึงค่อยเริ่มใช้ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thromboembolism)

                แม้ว่ายังไม่พบผลอันไม่พึงประสงค์ต่อทารก แต่จนกว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าน้ำนมแม่ที่ใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมไม่ทำให้เกิดผลกระทบในระยะยาวอย่างแน่นอน ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวก็ยังถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับหญิงให้นมบุตรค่ะ โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอดซึ่งแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว

 

                ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว เป็นยาคุมที่มีเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสติน ไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนรวมอยู่ด้วย ผู้ใช้จึงไม่ต้องกังวลกับปัญหาการบวมน้ำหรือการเกิดฝ้าจากยาคุม

                แม้ว่าอาจพบอาการคลื่นไส้, อาเจียน หรือปวดศีรษะได้บ้าง แต่ก็ไม่รุนแรงเท่ากับยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม

                ดังนั้น หญิงที่ไม่ได้อยู่ในระหว่างให้นมบุตร ก็สามารถใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากมีข้อจำกัดในการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม หรือทนผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่ได้

 

                ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน มีดังนี้

เอ็กซ์ลูตอน (Exluton)

เดลิต้อน (Dailyton)

blank

ซีราเซท (Cerazette)

blank

สลินดา (Slinda)

ตัวยาสำคัญ :

Lynestrenol 0.5 มิลลิกรัม

เหมือนกันทั้ง 28 เม็ด

ตัวยาสำคัญ :

Desogestrel 0.075 มิลลิกรัม

เหมือนกันทั้ง 28 เม็ด

ตัวยาสำคัญ :

Drospirenone 4 มิลลิกรัม

จำนวน 24 เม็ด

และมีเม็ดยาหลอกอีก 4 เม็ด

คุณสมบัติ :

1.       โปรเจสตินรุ่นที่ 1

2.       ยับยั้งไข่ตกได้ไม่ดีนัก กลไกหลักจึงเป็นการทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียว และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกฝ่อ

3.       มีฤทธิ์แอนโดรเจนสูง จึงอาจมีสิว หน้ามัน หรือขนดก

คุณสมบัติ :

1.       โปรเจสตินรุ่นที่ 3

2.       ยับยั้งไข่ตกได้ดีใกล้เคียงกับยาคุมฮอร์โมนรวม

3.       มีฤทธิ์แอนโดรเจนต่ำ จึงไม่ค่อยพบสิว หน้ามัน หรือขนดก

คุณสมบัติ :

1.       โปรเจสตินรุ่นที่ 4

2.       ยับยั้งไข่ตกได้ดีใกล้เคียงกับยาคุมฮอร์โมนรวม

3.       ต้านฤทธิ์แอนโดรเจน จึงช่วยลดสิว หน้ามัน หรือขนดก

4.       มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ จึงไม่ทำให้บวมน้ำ

ข้อควรระวัง :

รับประทานช้าได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง

ข้อควรระวัง :

รับประทานช้าได้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง

ข้อควรระวัง :

รับประทานช้าได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง

รูปแบบการใช้ :

ระบุ “ตัวย่อของวันในสัปดาห์” วนตามเข็มนาฬิกา

ใช้ครบ 28 เม็ดแล้ว ให้ต่อแผงใหม่ในวันถัดมา

รูปแบบการใช้ :

ระบุ “ตัวเลขลำดับการใช้”

1 – 28 ไว้ด้านหนึ่ง

และอีกด้าน มีลูกศรชี้ทิศทาง

ให้ใช้ร่วมกับสติกเกอร์ที่ระบุ

“ตัวย่อของวันในสัปดาห์”

ใช้ครบ 28 เม็ดแล้ว

ให้ต่อแผงใหม่ในวันถัดมา

การขึ้นทะเบียนยา :

ยานำเข้าจากต่างประเทศ

การขึ้นทะเบียนยา :

ยาที่ผลิตภายในประเทศ

การขึ้นทะเบียนยา :

ยานำเข้าจากต่างประเทศ

ราคา :

110 – 140 บาท

ราคา :

90 – 120 บาท

ราคา :

220 – 250 บาท

ราคา :

290 – 330 บาท

 

                การมีเลือดออกกะปริบกะปรอย, ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือไม่มีประจำเดือน ถือเป็นผลข้างเคียงเด่นของยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวนะคะ แม้ว่าจะไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ (ยกเว้นในกรณีที่มีเลือดออกมามากหรือนานเกินไป) แต่ก็มักจะสร้างความรำคาญให้กับผู้ใช้ ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากนัก เมื่อเทียบกับยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม

                แต่ยาคุมตัวใหม่อย่าง “สลินดา” ปรับรูปแบบให้มีช่วงปลอดฮอร์โมน เช่นเดียวกับการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม โดยให้ประจำเดือนมาเป็นรอบปกติในช่วงที่รับประทานเม็ดยาหลอก

                อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ “สลินดา” ยังอาจพบปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอย, ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือไม่มีประจำเดือนได้เช่นกัน แต่น้อยกว่ายาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวตัวอื่น ๆ ค่ะ

 

                Lynestrenol เป็นโปรเจสตินรุ่นที่ 1 ซึ่งมีฤทธิ์แอนโดรเจนสูง ในขณะที่ Desogestrel เป็นโปรเจสตินรุ่นที่ 3 มีฤทธิ์แอนโดรเจนลดลงแล้ว ดังนั้น การใช้ “เอ็กซ์ลูตอน” หรือ “เดลิต้อน” จึงอาจพบปัญหาสิว, หน้ามัน หรือขนดกได้มากกว่า “ซีราเซท” นะคะ

                และเนื่องจาก Drospirenone มีผลต้านฤทธิ์แอนโดรเจน จึงน่าจะช่วยลดสิว, หน้ามัน หรือขนดกได้ แต่ข้อมูลจากบริษัทชี้ว่า มีผู้ใช้ 3.8% เกิดสิวหลังรับประทาน “สลินดา” ค่ะ

 

                ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีตัวยา Lynestrenol และ Desogestrel ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด จึงสามารถใช้ “เอ็กซ์ลูตอน”, “เดลิต้อน” และ “ซีราเซท” ได้ทันทีหลังคลอด หรือใช้ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดได้

                แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่ายาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีตัวยา Drospirenone จะเพิ่มความเสี่ยงดังกล่าวหรือไม่ ดังนั้น การใช้ “สลินดา” ในหญิงที่ให้นมบุตร แนะนำให้เริ่มใช้หลังคลอดตั้งแต่ 21 วันขึ้นไป

                และผู้ที่มีโรคประจำตัว, ผู้ที่มีความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หรือผู้ที่กำลังใช้ยา/สมุนไพรใด ๆ อยู่ ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อประเมินความเหมาะสมในการใช้ “สลินดา”

 

                ผลในการยับยั้งไข่ตกของ Desogestrel และ Drospirenone สูงกว่า Lynestrenol มาก ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดและลดอาการปวดท้องประจำเดือนของ “ซีราเซท” และ “สลินดา” จึงเหนือกว่า “เอ็กซ์ลูตอน” และ “เดลิต้อน”

                อย่างไรก็ตาม นอกจากการยับยั้งไข่ตก ยาคุมก็ยังมีกลไกอื่น ๆ ที่ช่วยในการป้องกันการตั้งครรภ์ เช่น ทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนผ่านของอสุจิ หรือทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางฝ่อ ไม่พร้อมรับการฝังตัวของไข่ที่ผสมกับอสุจิ

                ดังนั้น หากรับประทานถูกต้องและตรงเวลาสม่ำเสมอ การใช้ “เอ็กซ์ลูตอน” และ “เดลิต้อน” ก็ยังเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพดี อีกทั้งยังมีราคาย่อมเยา

 

                แต่การรับประทานยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ไม่เหมาะกับคนขี้ลืมนะคะ เพราะถ้ารับประทานไม่ตรงเวลาก็อาจทำให้ผลคุมกำเนิดไม่ต่อเนื่อง และเสี่ยงที่จะล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์

                โดยยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวรุ่นดั้งเดิม อย่าง “เอ็กซ์ลูตอน” และ “เดลิต้อน” จะไม่มีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องหากรับประทานช้ากว่าเวลาที่กำหนดเกินกว่า 3 ชั่วโมง

                ส่วนยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวรุ่นใหม่ ๆ นั้น มีการออกฤทธิ์ที่นานขึ้น จึงมีความยืดหยุ่นในการรับประทานผิดเวลาได้มากกว่า นั่นคือ ไม่เกิน 12 ชั่วโมงสำหรับ “ซีราเซท” และไม่เกิน 24 ชั่วโมงสำหรับ “สลินดา” ค่ะ

 

 

…ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 1 ธันวาคม 2564…