ไม่ได้ไปฉีดยาคุมตามนัด ผ่านมา 10 กว่าวันถึงนึกได้ แต่หมอให้รอประจำเดือนมาก่อน ตอนนี้ผ่านมา 1 เดือนแล้วประจำเดือนยังไม่มา ก่อนหน้านี้มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน จะท้องไหม ลูกเพิ่งอายุได้ 8 เดือน ยังไม่พร้อมจะมีอีก
ยาฉีดคุมกำเนิดที่มีใช้ในประเทศไทยในปัจจุบัน จะมีแบบ 3 เดือน ซึ่งเป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว และแบบ 1 เดือน ซึ่งเป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม
แม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะแนะนำว่า หญิงหลังคลอดที่ให้นมบุตร สามารถใช้ยาคุมฮอร์โมนรวมชนิดฮอร์โมนต่ำได้ โดยไม่มีผลกระทบกับคุณภาพน้ำนม, ปริมาณน้ำนม หรือระยะเวลาการให้นม อีกทั้ง ยังไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ในทารก จากการดื่มนมแม่ที่ใช้ยาคุมดังกล่าว
แต่จนกว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจน ว่าการใช้ยาคุมฮอร์โมนรวมจะไม่มีความเสี่ยงในระยะยาวต่อทารก ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวก็ยังคงเป็นทางเลือกแรกสำหรับผู้ที่ต้องการให้นมบุตร โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนหลังคลอด ซึ่งแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวค่ะ
ในกรณีตัวอย่าง ไม่ได้ระบุว่าใช้ยาฉีดคุมกำเนิดชนิดใด แต่จากข้อมูลที่ว่า ผู้ถามมีนัดฉีดยาคุมเข็มที่ 3 หลังคลอดบุตรประมาณ 7 เดือน ก็เป็นไปได้มากว่าน่าจะเป็นยาฉีดแบบ 3 เดือน โดยเริ่มฉีดเข็มแรกหลังคลอดประมาณ 1 เดือน ซึ่งสอดคล้องกับการนัดตรวจ ที่มักจะอยู่ในช่วง 4 – 6 สัปดาห์หลังคลอดบุตร
ดังนั้น คำแนะนำในบทความนี้จะใช้สำหรับยาคุมแบบที่ฉีดทุก 3 เดือนนะคะ และไม่สามารถนำไปใช้กับยาคุมแบบที่ฉีดทุก 1 เดือนได้ เนื่องจากมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน
คำแนะนำเกี่ยวกับใช้ยาฉีดคุมกำเนิดแบบ 3 เดือน มีหลายแนวทางค่ะ แต่เนื่องจากคู่มือการวางแผนครอบครัว ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำขึ้น และปรับปรุงข้อมูลเป็นฉบับล่าสุดในปี พ.ศ.2563 แปลเนื้อหามาจากต้นฉบับ คือ Family planning: A Global Handbook for Providers ขององค์การอนามัยโลก ดังนั้น เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการวางแผนครอบครัว และบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ อาจให้คำแนะนำโดยอ้างอิงจากแนวทางขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) เป็นหลักนะคะ
อย่างไรก็ตาม ผู้ให้คำปรึกษาอาจเลือกแนวทางที่เข้มงวดมากกว่ามาใช้อ้างอิง ในบทความนี้จึงได้นำแนวทางของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention; CDC) และแนวทางของคณะอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ สหราชอาณาจักร (Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare; FSRH) มาแสดงไว้ด้วย เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่า อาจได้รับคำแนะนำต่างกัน หากผู้ให้คำปรึกษาใช้แหล่งอ้างอิงที่ต่างกันค่ะ
การฉีดยาคุมแบบ 3 เดือน |
WHO1, 2 |
CDC3 |
FSRH4 |
ตามกำหนด |
นัดฉีดเข็มถัดไป ห่างจากเข็มล่าสุด 3 เดือน (13 สัปดาห์) |
นัดฉีดเข็มถัดไป ห่างจากเข็มล่าสุด 13 สัปดาห์ |
นัดฉีดเข็มถัดไป ห่างจากเข็มล่าสุด 13 สัปดาห์ |
ก่อนกำหนด |
ก่อนวันนัด ไม่เกิน 2 สัปดาห์ |
สามารถทำได้ โดยไม่จำกัดระยะเวลา |
ห่างจากเข็มล่าสุด อย่างน้อย 10 สัปดาห์ |
ช้ากว่ากำหนด โดยยังมีผลคุมต่อเนื่อง |
หลังวันนัด ไม่เกิน 4 สัปดาห์ |
ห่างจากเข็มล่าสุด ไม่เกิน 15 สัปดาห์ |
ห่างจากเข็มล่าสุด ไม่เกิน 14 สัปดาห์ |
จากตาราง จะเห็นได้ว่า องค์การอนามัยโลก อนุโลมให้ฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนช้ากว่ากำหนดได้ไม่เกิน 4 สัปดาห์ โดยถือว่ายังคงมีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องนะคะ
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มเห็นว่างานวิจัยที่ใช้อ้างอิง ศึกษาในหญิงให้นมบุตรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมักจะมีไข่ตกช้ากว่าปกติอยู่แล้ว จึงไม่สามารถนำมาปรับใช้โดยทั่วไป และควรกำหนดแนวทางที่ระมัดระวังมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการตั้งครรภ์
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา จึงแนะนำให้ฉีดยาคุมแบบ 3 เดือน ช้ากว่ากำหนดไม่เกิน 2 สัปดาห์ (หรือก็คือ ห่างจากเข็มล่าสุดไม่เกิน 15 สัปดาห์) เพื่อให้มีผลคุมกำเนิดที่ต่อเนื่องกัน
ในขณะที่คณะอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ สหราชอาณาจักร จะเข้มงวดมากกว่า โดยแนะนำให้ฉีดยาคุมแบบ 3 เดือน ช้ากว่ากำหนดไม่เกิน 1 สัปดาห์ (หรือก็คือ ห่างจากเข็มล่าสุดไม่เกิน 14 สัปดาห์) จึงจะคุมกำเนิดต่อเนื่องได้ค่ะ
การที่ผู้ถามไม่ได้ไปฉีดยาคุมตามนัด หากอ้างอิงแนวทางขององค์การอนามัยโลก ถ้าเลยวันนัดมาไม่เกิน 4 สัปดาห์ ก็ยังสามารถฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนได้ และถือว่ามีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องนะคะ
แต่เนื่องจากผู้ถามคลอดบุตรมาเกิน 6 เดือนแล้ว ไม่ว่าจะยังคงให้นมบุตรอยู่หรือไม่ ประสิทธิภาพในการยับยั้งไข่ตกจากการให้นมบุตรก็คงไม่เพียงพอที่จะคุมกำเนิดได้ ผู้ให้คำปรึกษาจึงอาจยึดตามแนวทางที่เข้มงวดมากกว่า และเห็นว่าฉีดยาคุมไม่ทันกรอบเวลาที่ยืดหยุ่นให้แล้วค่ะ
ซึ่งในกรณีที่เกินกรอบเวลายืดหยุ่นไปแล้ว ก็ถือว่ายาคุมที่ฉีดครั้งก่อน ไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะคุมกำเนิดได้อีกต่อไป หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ก็ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินทันที หรือเร็วที่สุดที่ทำได้ภายใน 72 ชั่วโมง หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์
ส่วนการเริ่มฉีดยาคุมครั้งใหม่ แม้ว่าถ้ารอให้ประจำเดือนมาก่อน แล้วค่อยฉีดยาคุมภายใน 7 วันแรกของการมีประจำเดือน จะทำให้มั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์อยู่ และให้ผลป้องกันทันที
แต่ผลข้างเคียงเด่นของยาคุมแบบ 3 เดือน ก็อาจทำให้ผู้ใช้ไม่มีประจำเดือนมา ซึ่งอาจเกิดขึ้นทั้งในระหว่างที่ใช้ยา และหลังจากที่หยุดยาไปแล้วอีกหลายเดือน
เพื่อไม่ให้การฉีดยาคุมต้องเลื่อนช้าออกไปโดยไม่จำเป็น ซึ่งเสี่ยงที่จะพลาดตั้งครรภ์ไปก่อน หากในระหว่างที่รอ มีเพศสัมพันธ์แล้วไม่ได้ป้องกันอย่างเหมาะสม ดังนั้น แทนที่จะรอให้ประจำเดือนมา ก็อาจพิจารณาให้ตรวจการตั้งครรภ์ก่อนฉีดยาคุมนะคะ
หากผลตรวจเป็นลบ ก็สามารถฉีดยาคุมได้ (หรืออาจเริ่มใช้ยาคุมรายเดือนไปก่อน จนมั่นใจว่าไม่มีการตั้งครรภ์แน่นอน จึงค่อยเปลี่ยนไปฉีดยาคุมแบบ 3 เดือน4) แต่จะต้องงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางป้องกันร่วมด้วย ไปอีก 7 วันหลังฉีด และอาจแนะนำให้ตรวจการตั้งครรภ์ซ้ำอีกครั้งหลังฉีดยาคุมไปแล้ว 2 – 4 สัปดาห์3 หรืออย่างน้อย 3 สัปดาห์ค่ะ2, 4
เอกสารอ้างอิง
- Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
- Family planning: A Global Handbook for Providers, 2022 edition.
- U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
- FSRH CEU Guidance: Progestogen-only Injectable Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, December 2014. (Amended July 2023)