ยาคุม “ไมนอซ” (Minoz)

เริ่มเผยแพร่

ปรับปรุงล่าสุด

                ยาคุม “ไมนอซ” (Minoz) เป็นยาคุมสูตรเดียวกันกับ “มินิดอซ” (Minidoz) นั่นเองนะคะ โดยมีรูปแบบเป็น Extended-cycle 24/4 regimen นั่นก็คือ ในแผง 28 เม็ดจะมี เม็ดยาฮอร์โมน (เม็ดสีเหลือง) จำนวน 24 เม็ด และ เม็ดยาหลอก (เม็ดสีเขียว) จำนวน 4 เม็ด

                โดยที่ เม็ดยาฮอร์โมน แต่ละเม็ดจะประกอบไปด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน คือ Ethinyl estradiol 0.015 มิลลิกรัม และฮอร์โมนโปรเจสติน คือ Gestodene 0.060 มิลลิกรัม เหมือนกันทั้ง 24 เม็ด

                ส่วน เม็ดยาหลอก 4 เม็ดนั้น เป็นเพียงเม็ดแป้ง ไม่มีตัวยาฮอร์โมนใด ๆ ค่ะ ผู้ผลิตจัดทำมาไว้ให้รับประทานในช่วงปลอดฮอร์โมน เพื่อให้ผู้ใช้ไม่ลืมต่อยาคุมแผงใหม่ตามกำหนด

ในแผงของไมนอซ มีเม็ดยาฮอร์โมน 24 เม็ด และเม็ดยาหลอก 4 เม็ด

 

                เนื่องจากมีปริมาณ Ethinyl estradiol ไม่เกิน 0.020 มิลลิกรัม “ไมนอซ” จึงจัดเป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ประเภทฮอร์โมนต่ำมาก (Ultra low dose pills) และยังเป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมสูตรที่มีเอสโตรเจนต่ำที่สุดในปัจจุบันอีกด้วยนะคะ    

                เพราะมีปริมาณฮอร์โมนที่ต่ำมาก ผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน ไม่ว่าจะเป็นคลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, บวมน้ำ หรือการเกิดฝ้า จึงพบได้น้อยมาก 

 

                ส่วนโปรเจสตินอย่าง Gestodene แม้ว่าจะมีฤทธิ์แอนโดรเจนอยู่ แต่เมื่อมีการใช้ในปริมาณที่น้อยมาก และต่ำกว่ายาคุมสูตร Gestodene ยี่ห้ออื่น ๆ จึงพบผลข้างเคียงเรื่องสิว, หน้ามัน หรือขนดกได้น้อยมากเช่นกัน 

                แม้ว่า Gestodene จะมีผล Antimineralocorticoid เมื่อศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ในมนุษย์ที่ใช้ยาคุมสูตรนี้กลับพบผลดังกล่าวน้อยมากหรือไม่มีเลย “ไมนอซ” จึงไม่จัดเป็นยาคุมที่มีผลต้านการบวมน้ำค่ะ

 

                หากเทียบกับยาคุมฮอร์โมนรวมแบบ 28 เม็ดส่วนใหญ่ ซึ่งมีเม็ดยาหลอก 7 เม็ด จะเห็นได้ว่า “ไมนอซ” จะมีช่วงปลอดฮอร์โมนสั้นกว่า เนื่องจากมีเม็ดยาหลอกเพียง 4 เม็ดเท่านั้น

ยาคุมฮอร์โมนรวมส่วนใหญ่มีช่วงปลอดฮอร์โมน 7 วัน แต่ไมนอซจะมี 4 วัน

                การที่ “ไมนอซ” มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำมากและมีช่วงปลอดฮอร์โมนสั้น ๆ เพียงแค่ 4 วัน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนในช่วงที่ได้รับฮอร์โมนและช่วงที่ปลอดฮอร์โมนไม่แปรปรวนมาก ลดปัญหาประจำเดือนมามากผิดปกติและกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome; PMS) เช่น อารมณ์แปรปรวน, หงุดหงิด, ซึมเศร้า, เครียด, ปวดศีรษะ, ปวดประจำเดือน หรือเจ็บคัดตึงเต้านม

                อย่างไรก็ตาม การที่มีปริมาณฮอร์โมนต่ำมาก ก็อาจพบปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ โดยเฉพาะถ้ารับประทานไม่ตรงเวลา

 

                ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือการมีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) ตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป ก็สามารถใช้ “ไมนอซ” ได้นะคะ

                เนื่องจากหลักฐานส่วนใหญ่ในปัจจุบันบ่งชี้ว่า ปัจจัยดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ ของยาเม็ดคุมกำเนิด เหมือนที่เคยกังวลกันในอดีต หากผู้ใช้ยาคุมรับประทานถูกต้องและตรงเวลาสม่ำเสมอ

 

                ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่ใช้ Gestodene อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดได้มากกว่า Levonorgestrel, Norethisterone หรือ Norgestimate

                แต่ถ้าเปรียบเทียบยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่ใช้โปรเจสตินตัวเดียวกัน สูตรที่ใช้ Ethinyl estradiol น้อยกว่า มีแนวโน้มว่าความเสี่ยงจะต่ำกว่าค่ะ

                ดังนั้น “ไมนอซ” ซึ่งมี Ethinyl estradiol 0.015 มิลลิกรัม อาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ยาคุมฮอร์โมนรวมที่มี Ethinyl estradiol และ Gestodene (หรือ ยาคุมสูตร EE/GSD) เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว

 

                แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัว, ผู้ที่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะถ้ามีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป, ผู้ที่ต้องการใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากการคุมกำเนิด หรือผู้ที่รับประทานยาหรือสมุนไพรใด ๆ อยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้นะคะ

                เพราะแม้จะมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำมาก แต่หากมีการใช้อย่างไม่เหมาะสมก็อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ, เนื้องอกหรือมะเร็งบางชนิดที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ หรือการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง/โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

                และการใช้ร่วมกับยาหรือสมุนไพรบางอย่าง ก็อาจลดประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์

 

                “ไมนอซ” เป็นยาที่ผลิตภายในประเทศ โดยบริษัทมิลลิเมด จำกัด (Millimed Co.,Ltd.) มีราคาประมาณแผงละ 110 – 140 บาท ถูกกว่า “มินิดอซ” ที่นำเข้าจากต่างประเทศและเป็นต้นแบบของยาคุมสูตรนี้

ยาคุมไมนอซ

                อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีสติ๊กเกอร์ “แถบช่วยจำสำหรับวันเริ่มรับประทานยา” แถมมาในกล่อง ดังนั้น หากพิจารณาในแง่ของรูปแบบและวิธีใช้ “ไมนอซ” อาจไม่สะดวกสำหรับการตรวจสอบประจำวันเหมือนกับ “มินิดอซ” ค่ะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, January 2019. (Amended July 2023)
  2. FSRH Guideline: Overweight, Obesity & Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, April 2019.
  3. U.S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  4. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use, 5th edition. World Health Organization, 2015.