ฝังยาคุมหลังคลอด 10 วัน

ฝังยาคุมหลังคลอด 10 วัน

                ไปฝังยาคุมหลังคลอด 10 วัน แล้วอีก 3 วันต่อมาก็มีเพศสัมพันธ์หลั่งใน ยาฝังคุมกำเนิดมีผลป้องกันหรือยัง จะมีโอกาสท้องหรือเปล่า จำเป็นต้องใช้ยาคุมฉุกเฉินด้วยมั้ย

 

                หากไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การฝังยาคุมกำเนิดหลังคลอดไม่ถึง 21 วัน1-3 (ซึ่งบางแหล่งอ้างอิงก็กำหนดเป็น ไม่ถึง 4 สัปดาห์4) จะถือว่ามีผลป้องกันได้เลยค่ะ

                แต่ถ้าคลอดบุตรมาแล้วตั้งแต่ 21 วันขึ้นไป1-3 (หรือ ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป4) จึงค่อยเริ่มใช้ยาฝังคุมกำเนิด ก็ควรจะงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไปอีก 7 วันหลังจากที่ฝังยาคุมแล้วนะคะ

 

                การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะทำให้มีไข่ตกช้ากว่า ดังนั้น กรอบเวลาที่แนะนำให้เริ่มใช้ยาฝังคุมกำเนิดหลังคลอด โดยมีผลคุมกำเนิดได้ทันที จึงนานกว่าที่กล่าวไปข้างต้น

                นั่นคือ ผู้ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว โดยให้ลูกดูดนมจากเต้าอย่างสม่ำเสมอทุก 2 – 3 ชั่วโมง ถ้ายังไม่มีประจำเดือนมา เมื่อฝังยาคุมกำเนิดหลังคลอดไม่ถึง 6 เดือน ก็ถือว่ามีผลคุมกำเนิดได้ทันทีค่ะ1-4

 

                จากกรณีตัวอย่าง แม้ไม่ทราบว่าผู้ถามเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่ แต่เมื่อฝังยาคุมหลังคลอดไม่ถึง 21 วัน จึงถือว่ามีผลป้องกันได้เลยนะคะ

 

                การฝังยาคุมกำเนิด เป็นหนึ่งในวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในปัจจุบัน อ้างอิงจาก Trussell J. Contraceptive Technology, 2018. อัตราการตั้งครรภ์ในปีแรกของผู้ที่ฝังยาคุม Implanon NXT (Nexplanon) คือ 0.1%

                หลังพ้นปีแรก ความเสี่ยงอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังถือว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก ซึ่งจะคงอยู่ไปจนครบระยะเวลาการใช้

 

                ดังนั้น เมื่อผู้ถามมีผลป้องกันจากยาฝังคุมกำเนิด ซึ่งเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงมากอยู่แล้ว จึงมีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์น้อยมากจนไม่น่ากังวล และไม่จำเป็นจะต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉินร่วมด้วยค่ะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. FSRH guideline: Progestogen – only Implant, February 2021 (Amended July 2023).
  2. U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  3. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
  4. Family planning: A Global Handbook for Providers, 2022 edition.
  5. Trussell J, Aiken ARA, Mickes E, Guthrie K. Efficacy, Safety, and Personal Considerations. In: Contraceptive Technology, 21st ed, Hatcher RA, Nelson AL, Trussell J, et al (Eds), Ayer Company Publishers, Inc., New York 2018.