ใช้ยาคุมยาสมา 2 ปีแล้ว รับประทานตรงเวลา มีช้าไม่เกิน 10 นาทีบ้างแต่ไม่บ่อย ประจำเดือนมักจะมาประมาณวันที่ 28 ของเดือน เมื่อประจำเดือนมาก็จะหยุดใช้ แล้วไปเริ่มแผงใหม่ในวันสุดท้ายของเดือน นาน ๆ ทีถึงจะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเวลาที่มีก็จะหลั่งนอกเสมอ แต่มีวันที่ 7 ของเดือนนี้ที่หลั่งใน แบบนี้จะต้องกินยาคุมฉุกเฉินด้วยหรือไม่ หรือแค่ใช้ยาคุมปกติก็พอแล้ว
“ยาส” (Yaz) เป็นยาคุมแบบ 28 เม็ด ซึ่งการใช้ยาคุมแบบนี้จะต้องรับประทานต่อเนื่องกันทุกวัน เมื่อหมดแผงเดิมแล้วก็ให้ต่อแผงใหม่ในวันถัดมา การใช้ที่ถูกต้องตามนี้ จึงต้องเริ่มแผงใหม่ทุก ๆ 28 วันค่ะ
แต่ถ้ายึดตามปฏิทิน ใน 1 เดือนจะมี 30 หรือ 31 วัน (ยกเว้นเดือนกุมภาพันธ์ที่มี 28 วัน หรือ 29 วันในบางปี) การเริ่มแผงใหม่ในวันสุดท้ายของแต่ละเดือน จึงมักจะทำให้ผู้ถามได้เริ่มแผงใหม่ทุก ๆ 30 หรือ 31 วัน หรือก็คือ มีการต่อยาคุมช้ากว่ากำหนดไป 2 – 3 วันนั่นเอง
ซึ่ง “ยาส” รวมถึงยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ประเภทฮอร์โมนต่ำมาก (Ultra low dose pills) ยี่ห้ออื่น ๆ หากต่อแผงใหม่ช้าตั้งแต่ 48 ชั่วโมงขึ้นไป (นับจากเวลาที่ควรใช้ตามกำหนด) ก็อาจยับยั้งการตกไข่ที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่ทัน จึงถือว่าไม่มีผลคุมกำเนิดต่อเนื่อง และควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน จนกว่าจะรับประทานยาคุมแผงนั้นติดต่อกันครบ 7 วันก่อน
และหากมีเพศสัมพันธ์ไปแล้วโดยไม่ป้องกัน ก็ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินทันที หรือเร็วที่สุดที่ทำได้ภายใน 72 ชั่วโมง หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ด้วยนะคะ
จากกรณีตัวอย่าง หากผู้ถามเริ่มใช้ยาคุมแผงก่อนในวันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม ก็ควรจะต่อแผงใหม่ในวันจันทร์ที่ 28 สิงหาคมค่ะ
การที่ผู้ถามเริ่มรับประทานแผงนี้ในวันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม จึงถือว่าต่อยาคุมช้ากว่ากำหนดไป 3 วัน ทำให้ไม่มีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องกันแล้วนะคะ
ต้องใช้ยาคุมแผงนี้ติดต่อกันครบ 7 วัน นั่นคือ รอจนกว่าจะถึงเวลารับประทานยาคุมในวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน จึงจะมีผลคุมกำเนิดได้ค่ะ
ถ้ามีเพศสัมพันธ์หลังจากวันเวลาดังกล่าว ก็ไม่น่าจะกังวล เพราะถือว่ากลไกในการป้องกันการตั้งครรภ์ของยาคุมที่ใช้ สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพแล้ว
และหากมีผลป้องกันจากยาคุมรายเดือน ก็สามารถหลั่งในได้ตามปกติ ไม่จำเป็นจะต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย เพราะต่อให้มีอสุจิผ่านช่องคลอดเข้าไป แต่ถ้าไม่มีไข่ตก อสุจิก็ไม่สามารถเข้าปฏิสนธิกับไข่ได้อยู่ดี จึงไม่มีการตั้งครรภ์
แต่ถ้าผู้ถามมีเพศสัมพันธ์ก่อนเวลาดังกล่าว โดยไม่ได้ใช้ถุงยางป้องกันร่วมด้วย ก็มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ได้นะคะ โดยเฉพาะเมื่อครั้งนี้มีการหลั่งใน ซึ่งถือว่ามีโอกาสตั้งครรภ์ได้ 85%
อย่างไรก็ตาม ต่อให้จะใช้วิธีหลั่งนอกเหมือนเดิม ก็ยังมีความเสี่ยงมาก เพราะไม่ใช่วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งการป้องกันด้วยวิธีหลั่งนอกโดยทั่วไป (Typical use) ถือว่ามีโอกาสตั้งครรภ์ได้ 20%
และในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือป้องกันด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพต่ำ ในช่วงที่ยังไม่มีผลคุมกำเนิดจากยาคุมรายเดือน ก็ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินทันที หรือเร็วที่สุดที่ทำได้ภายใน 72 ชั่วโมง หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ค่ะ
ยาคุมฉุกเฉินที่มีจำหน่ายในประเทศไทย และอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก เป็นยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel Emergency Contraceptive Pill; LNG – ECP) ซึ่งถ้าใช้ครบขนาดและทันเวลา อาจช่วยลดโอกาสตั้งครรภ์ให้เหลือเพียง 1 ใน 8
และสามารถใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล ร่วมกับฮอร์โมนคุมกำเนิดอื่น ๆ ได้ โดยไม่ทำให้ประสิทธิภาพภาพลดลง ดังนั้น ในกรณีที่จำเป็นจะต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉิน ผู้ถามก็ยังสามารถใช้ยาคุม “ยาส” ต่อได้ตามปกตินะคะ
แต่ถ้าไม่มีประจำเดือนในอีก 3 – 4 สัปดาห์ถัดมา หรือกังวลว่าจะตั้งครรภ์ แนะนำให้ตรวจการตั้งครรภ์เพื่อความชัดเจนค่ะ
เอกสารอ้างอิง
- Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
- U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
- Family planning: A Global Handbook for Providers, 2022 edition.