ให้นมลูก กินยาคุมจัสติมาได้ไหม

ให้นมลูก กินยาคุมจัสติมาได้ไหม

                กำลังสนใจยาคุมจัสติมา แต่ไม่แน่ใจว่าจะกินได้ไหมถ้าอยู่ในช่วงให้นมลูก หรือควรใช้ยี่ห้อไหนดี

 

                ในอดีต ไม่แนะนำให้ใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมในช่วงที่ให้นมบุตร เพราะกังวลว่าจะกดการสร้างน้ำนมค่ะ

                แต่เมื่อมีข้อมูลว่า ยาคุมฮอร์โมนรวมที่มีปริมาณเอสโตรเจนต่ำ ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำนม, ปริมาณน้ำนม และระยะเวลาการให้นม

                หลาย ๆ แนวทางจึงแนะนำให้ใช้ยาคุมฮอร์โมนรวม ประเภทฮอร์โมนต่ำ (Low dose pills) หรือต่ำมาก (Ultra low dose pills) ในช่วงที่ยังให้นมได้ โดยรอให้ครบ 6 สัปดาห์หลังคลอดก่อนจึงเริ่มใช้ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thromboembolism)

 

                “จัสติมา” (Justima) เป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ประเภทฮอร์โมนต่ำ หากผู้ถามต้องการใช้ “จัสติมา” หรือยาคุมฮอร์โมนรวมที่มีฮอร์โมนต่ำหรือต่ำมากยี่ห้ออื่น ๆ ก็สามารถใช้ได้นะคะ แต่ควรรอจนกว่าจะครบ 6 สัปดาห์หลังคลอดจึงค่อยเริ่มใช้

               

                อย่างไรก็ตาม หากยังอยู่ในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด ซึ่งแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว การใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ก็ยังถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่าค่ะ

                เพราะแม้ว่าจะยังไม่พบผลอันไม่พึงประสงค์ต่อทารก จากการดื่มนมแม่ที่ใช้ยาคุมฮอร์โมนรวม แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบในระยะยาวอย่างแน่นอน

 

                ดังนั้น หากยังอยู่ในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด ผู้ถามควรพิจารณาการใช้ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยว เช่น รับประทานยาคุม “เอ็กซ์ลูตอน” (Exluton), “เดลิต้อน” (Dailyton), “ซีราเซท” (Cerazette) หรือ “สลินดา” (Slinda) เป็นทางเลือกแรกนะคะ (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง “ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว”)

                แล้วจึงค่อยเปลี่ยนไปใช้ “จัสติมา” หรือยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมประเภทฮอร์โมนต่ำหรือต่ำมากยี่ห้ออื่น ๆ หลังจากที่ให้นมลูกครบ 6 เดือน หรือจนกว่าจะสามารถให้อาหารอื่น ๆ เป็นหลักแทนนมแม่ได้แล้วค่ะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
  2. Family planning: A Global Handbook for Providers, 2022 edition.
  3. U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  4. FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, January 2019. (Amended July 2023)