ลืมรับประทาน “เม็ดยาฮอร์โมน” ของ “วันเดย์” ต่อเนื่องกัน 3 เม็ด หรือมากกว่า ตั้งแต่ 72 ชั่วโมงขึ้นไป และเม็ดใดเม็ดหนึ่งหรือทุกเม็ดที่ลืม อยู่ในแถวที่สามของแผง
ตัวอย่างที่ 1: ผู้ใช้เริ่มยาคุมแผงนี้ในวันพุธ และรับประทานต่อเนื่องวันละเม็ดในเวลา 21.00 น. มาตลอด แต่ต่อมา กลับลืมรับประทานยาคุมในวันอังคาร, พุธ และพฤหัสบดี ซึ่งถือเป็นเม็ดที่ 14, 15 และ 16 ตามลำดับ แล้วนึกขึ้นได้ในวันศุกร์ เวลา 21.00 น.
จะเห็นได้มีการขาดยาต่อเนื่องกัน 72 ชั่วโมงพอดี และบางเม็ดที่ลืมก็อยู่ในแถวที่สามของแผง
เมื่อนึกได้ในเวลารับประทานยาคุมประจำวัน ก็ให้รับประทาน “เม็ดวันพฤหัส” ซึ่งเป็น “เม็ดที่ลืมล่าสุด” พร้อมกับ “เม็ดวันศุกร์” ซึ่งเป็น “เม็ดที่ต้องใช้ประจำวัน” ในเวลา 21.00 น.
ส่วนอีก 2 เม็ดที่ลืมใช้ นั่นคือ “เม็ดวันอังคาร” และ “เม็ดวันพุธ” ให้แกะทิ้งไปเลย (หรือจะเก็บไว้เป็นเม็ดยาสำรองก็ได้ หากไม่กังวลว่าจะสับสนและใช้ผิด)
หลังจากนั้น ก็รับประทานต่อวันละเม็ดตามปกติ แต่เมื่อใช้เม็ดยาสีขาวหมดแล้วก็ทิ้งยาคุมแผงนี้ แล้วเริ่มยาคุมแผงใหม่ในวันถัดมา (นั่นคือ ให้ข้ามการใช้เม็ดยาสีน้ำตาลในแผงนี้ไปเลย)
ตัวอย่างที่ 2: ผู้ใช้เริ่มยาคุมแผงนี้ในวันพุธ และรับประทานต่อเนื่องวันละเม็ดในเวลา 21.00 น. มาตลอด แต่ต่อมา กลับลืมรับประทานยาคุมในวันอังคาร, พุธ, พฤหัสบดี และศุกร์ ซึ่งถือเป็นเม็ดที่ 14, 15, 16 และ 17 ตามลำดับ แล้วนึกขึ้นได้ในวันเสาร์ เวลา 08.00 น.
จะเห็นได้มีการขาดยาต่อเนื่องกันมากกว่า 72 ชั่วโมง และบางเม็ดที่ลืมก็อยู่ในแถวที่สามของแผง
แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลารับประทานยาคุมประจำวัน ก็ให้รับประทาน “เม็ดวันศุกร์” ซึ่งเป็น “เม็ดที่ลืมล่าสุด” ทันทีที่นึกได้ แล้วรอรับประทาน “เม็ดวันเสาร์” ซึ่งเป็น “เม็ดที่ต้องใช้ประจำวัน” ในเวลา 21.00 น.
ส่วนอีก 3 เม็ดที่ลืมใช้ นั่นคือ “เม็ดวันอังคาร”, “เม็ดวันพุธ” และ “เม็ดวันพฤหัส” ให้แกะทิ้งไปเลย (หรือจะเก็บไว้เป็นเม็ดยาสำรองก็ได้ หากไม่กังวลว่าจะสับสนและใช้ผิด)
หลังจากนั้น ก็รับประทานต่อวันละเม็ดตามปกติ แต่เมื่อใช้เม็ดยาสีขาวหมดแล้วก็ทิ้งยาคุมแผงนี้ แล้วเริ่มยาคุมแผงใหม่ในวันถัดมา (นั่นคือ ให้ข้ามการใช้เม็ดยาสีน้ำตาลในแผงนี้ไปเลย)
ตัวอย่างที่ 3: ลืมรับประทาน “เม็ดยาฮอร์โมน” สามเม็ดสุดท้ายของแผง ติดต่อกันตั้งแต่ 72 ชั่วโมงขึ้นไป
สมมติว่าเริ่มใช้ยาคุมแผงนี้ในวันพุธ เม็ดยาฮอร์โมนหรือเม็ดยาสีขาว 3 เม็ดสุดท้ายในแผงก็จะตรงกับวันอาทิตย์, วันจันทร์ และวันอังคาร
ถ้าลืมใช้ “เม็ดวันอาทิตย์”, “เม็ดวันจันทร์” และ “เม็ดวันอังคาร” ในเวลา 21.00 น. ของแต่ละวัน แล้วนึกได้ในเวลา 21.00 น. ของวันพุธ
ถ้าซื้อยาคุมแผงใหม่มาแล้ว ก็ให้แกะ “เม็ดวันอังคาร” ซึ่งเป็น “เม็ดที่ลืมล่าสุด” มารับประทานพร้อมกับเม็ดแรกของแผงใหม่ได้เลย
แล้วก็ทิ้งยาคุมแผงเดิม และใช้ยาคุมแผงใหม่ต่อวันละเม็ดในเวลา 21.00 น. ตามปกติ (เป็นการต่อยาคุมแผงใหม่โดยข้ามการใช้เม็ดยาหลอกหรือเม็ดยาสีน้ำตาลในแผงเดิมนั่นเอง)
แต่ถ้ายังไม่ได้ซื้อยาคุมแผงใหม่ ก็ให้รับประทาน “เม็ดวันจันทร์” และ “เม็ดวันอังคาร” มารับประทานพร้อมกันในเวลา 21.00 น. ของวันพุธ (แม้จะลืมเม็ดสีขาว 3 เม็ด แต่ให้รับประทานเพียงแค่ 2 เม็ดเท่านั้น)
จากนั้นจึงทิ้งยาคุมแผงเดิม แล้วเริ่มยาคุมแผงใหม่ในวันถัดมา
ซึ่งในกรณีนี้ วันที่เริ่มใช้ยาคุมแผงใหม่จะเปลี่ยนเป็น “วันพฤหัส” แทนที่จะเป็น “วันพุธ” เหมือนแผงเดิมค่ะ
ทั้ง 3 ตัวอย่างที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีการต่อแผงใหม่โดยข้ามการใช้ “เม็ดยาหลอก” (เม็ดยาสีน้ำตาล) ในแผงนี้ไปเลย ซึ่งก็หมายถึงในรอบนี้จะไม่มีช่วงปลอดฮอร์โมนนะคะ
อย่างไรก็ตาม การลืมรับประทาน “เม็ดยาฮอร์โมน” เม็ดท้าย ๆ ของแผงต่อเนื่องกันหลายวัน อาจทำให้ผู้ใช้มีประจำเดือนมาก่อนเวลา หรือในทางกลับกัน หากประจำเดือนไม่ได้มาก่อนกำหนด การข้ามช่วงปลอดฮอร์โมนก็อาจทำให้ในรอบนี้ไม่มีประจำเดือนมาเลยก็ได้ ซึ่งไม่มีปัญหา เพราะหากรับประทานยาคุมแผงใหม่อย่างเหมาะสมและไม่มีการตั้งครรภ์ ประจำเดือนก็จะมาตามปกติในช่วงที่รับประทาน “เม็ดยาหลอก” ของแผงใหม่นั่นเอง
เมื่อลืมรับประทาน “เม็ดยาฮอร์โมน” ของ “วันเดย์” ต่อเนื่องกัน 3 เม็ดหรือมากกว่า โดยขาดยาติดต่อกันตั้งแต่ 72 ชั่วโมงขึ้นไป ก็จะถือว่าไม่มีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องแล้ว จึงควรงดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน หรือต้องป้องกันด้วยถุงยางอนามัย ไปจนกว่าจะมีการใช้ “เม็ดยาฮอร์โมน” ติดต่อกันจนครบ 7 วันอีกครั้ง
เช่น ถ้ากลับมารับประทานยาคุมในวันพุธ และใช้ต่อเนื่องกันทุกวัน ก็จะถือว่าครบ 7 วันเมื่อถึงเวลารับประทานยาคุมประจำวันในวันพุธถัดมานั่นเอง
ส่วนการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยในช่วงที่ผ่านมา ไม่จำเป็นจะต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉินเป็นวิธีป้องกันสำรอง เพราะว่าก่อนที่จะลืมรับประทาน ได้มีการใช้ “เม็ดยาฮอร์โมน” ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วันแล้ว จึงถือว่ามีผลยับยั้งไข่ตกจากยาคุมรายเดือนอยู่
แต่ถ้ายังมีปัญหาลืมรับประทานยาคุมอยู่บ่อยครั้ง ก็เสี่ยงที่จะล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์ด้วยวิธีนี้ ดังนั้น การปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อเปลี่ยนไปใช้วิธีคุมกำเนิดที่มีผลป้องกันได้นาน เช่น ฉีดยาคุม, ฝังยาคุม หรือใส่ห่วงอนามัย ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าค่ะ