กินยาคุมผิดวันต้องทำยังไง

กินยาคุมผิดวันต้องทำยังไง

                ใช้ยาคุมแบบ 21 เม็ด เริ่มรับประทานวันเสาร์ แต่วันอาทิตย์ลืมรับประทาน วันจันทร์แกะเม็ดวันอาทิตย์มาใช้ วันอังคารแกะเม็ดวันจันทร์มาใช้ เมื่อสังเกตว่าแกะเม็ดยามาใช้ผิด และนึกได้ว่าในวันอาทิตย์น่าจะลืมรับประทานยาคุม วันพุธจึงแกะเม็ดยาวันอังคารและวันพุธมารับประทานพร้อมกัน 2 เม็ด แบบนี้จะต้องเปลี่ยนแผงใหม่มั้ย หรือสามารถใช้แผงเดิมต่อได้เลย

 

                จากกรณีตัวอย่าง พบปัญหา 3 ประการนะคะ

  1. ลืมรับประทานยาคุม 1 วัน
  2. แกะเม็ดยาไม่ตรงกับวันที่ใช้จริง
  3. แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการลืมรับประทาน ไม่ถูกวิธี

 

                ในกรณีนี้ การแกะเม็ดยามาใช้ผิดวัน ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลค่ะ เนื่องจากเม็ดยาทั้ง 21 เม็ด มีตัวยาสำคัญเหมือนกัน จะแกะเม็ดใดมารับประทาน ประสิทธิภาพและผลข้างเคียงก็ไม่ต่างกันเลย

                การระบุตัวย่อ หรือชื่อของวันในสัปดาห์ เอาไว้ในแผงยา ก็เพียงเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบประจำวัน ป้องกันการรับประทานไม่ครบ หรือการรับประทานซ้ำซ้อนโดยไม่ตั้งใจ

                ซึ่งหากผู้ใช้รายนี้ มีการตรวจสอบทุกครั้งก่อนที่แกะเม็ดยามารับประทาน ก็จะรู้ตัวตั้งแต่วันจันทร์แล้วว่าลืมรับประทานยาคุมไป 1 วัน เมื่อได้เห็นเม็ดยาวันวันอาทิตย์ยังคงตกค้างอยู่ในแผง และสามารถแก้ไขได้อย่างเหมาะสม

 

                การแก้ไขเมื่อลืมรับประทานยาคุม 1 วัน ก็คือ ควรรับประทานเม็ดที่ลืมทันทีที่นึกได้ แล้วรอรับประทานเม็ดยาประจำวันตามเวลาปกติ

                ถ้าไม่สะดวกที่จะรับประทานในตอนที่นึกได้ หรือถ้าถึงเวลารับประทานยาคุมประจำวันแล้ว ก็ให้แกะเม็ดที่ลืมและเม็ดที่จะต้องใช้ในวันนั้น มารับประทานพร้อมกันไปเลย แต่อาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ หรือเวียนศีรษะมากขึ้น

                ส่วนวันอื่น ๆ ก็ให้รับประทานต่อวันละเม็ดตามปกติ

 

                หากผู้ใช้รายนี้รู้ตัวเมื่อถึงเวลาที่รับประทานยาคุมในวันจันทร์ ก็ควรแกะเม็ดยาวันอาทิตย์และเม็ดยาวันจันทร์ มารับประทานพร้อมกัน แล้วจากนั้นจึงรับประทานต่อวันละเม็ดเหมือนเดิม

 

                เมื่อยังไม่รู้ตัว และรับประทานยาคุมในวันจันทร์เพียงแค่ 1 เม็ด จึงถือว่าพลาดการใช้ยาคุมไป 1 วัน โดยไม่มีการแก้ไขอย่างเหมาะสม แต่เนื่องจากยาคุม 21 เม็ด เป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งการพลาดการใช้ไป 1 วันยังเป็นที่ยอมรับได้

                นั่นคือ ถ้าถือว่าน่าจะมีผลคุมกำเนิดแล้ว เช่น เป็นการใช้ยาคุมแผงแรก โดยเริ่มรับประทานภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน หรือ เป็นการต่อยาคุมแผงใหม่ โดยเริ่มใช้แผงนี้ตามกำหนด แม้จะพลาดการใช้ยาคุมไป 1 วัน ก็ยังถือว่ามีผลคุมกำเนิดต่อเนื่อง

                แต่ประสิทธิภาพก็อาจลดลงนะคะ  หากเทียบกับผู้ที่รับประทานถูกต้องและครบถ้วน หรือผู้ที่พลาดการใช้ 1 วันเหมือนกันแต่แก้ไขได้อย่างเหมาะสม

                อ้างอิงจาก Trussell J. Contraceptive Technology, 2018. การรับประทานยาคุมรายเดือนอย่างสมบูรณ์แบบ (Perfect use) มีโอกาสตั้งครรภ์เพียงแค่ 0.3% ในขณะที่การใช้โดยทั่ว ๆ ไป (Typical use) ที่อาจรับประทานไม่ตรงเวลาสม่ำเสมอ หรือพลาดการใช้ไปบ้างแต่ไม่มากจนไม่มีผลคุมต่อเนื่อง ก็อาจทำให้โอกาสตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นเป็น 7%

 

                เมื่อพลาดการใช้ยาคุมประจำวันอาทิตย์ โดยไม่ได้แก้ไข จนกระทั่งผ่านการใช้ยาคุมประจำวันจันทร์ไปแล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะรับประทานเพิ่มเป็น 2 เม็ดในวันพุธ เพราะไม่เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ และอาจได้รับผลข้างเคียงมากขึ้นโดยไม่จำเป็น อีกทั้ง ความแปรปรวนของฮอร์โมน ก็อาจทำให้เกิดปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ง่าย

                อย่างไรก็ตาม ในเมื่อรับประทานเกินไปแล้ว ก็ไม่เป็นไรค่ะ สามารถใช้ยาคุมแผงนี้ต่อได้ โดยเมื่อถึงเวลารับประทานยาคุมประจำวันพฤหัสบดี ก็ให้แกะเม็ดยามาใช้ 1 เม็ดตามปกติ ไม่ควรงดใช้เพียงเพราะวันพุธรับประทานไป 2 เม็ดนะคะ

                และอย่าลืมตรวจสอบก่อนใช้ รวมถึงรับประทานเม็ดยาให้ตรงวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ผิดพลาดซ้ำอีก

                เมื่อใช้ยาคุมแผงนี้จนหมด ก็ให้เว้นว่าง 7 วันก่อนต่อแผงใหม่ ซึ่งหากหลังจากนี้ มีการใช้ต่อเนื่องวันละเม็ด ไม่ลืมหรือใช้เกินอีก วันที่เริ่มแผงใหม่ก็จะตรงกับวันเสาร์ เหมือนกันกับยาคุมแผงนี้ค่ะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
  2. U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  3. FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraceptive. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, 2019. (Amended November 2020)
  4. Trussell J, Aiken ARA, Mickes E, Guthrie K. Efficacy, Safety, and Personal Considerations. In: Contraceptive Technology, 21st ed, Hatcher RA, Nelson AL, Trussell J, et al (Eds), Ayer Company Publishers, Inc., New York 2018.