โดยปกติ ผู้ใช้ยาคุมแบบ 28 เม็ดจะมีเลือดออกมาในช่วงที่รับประทานเม็ดแป้ง แล้วถ้ามีประจำเดือนมาก่อนถึงเม็ดแป้งล่ะ จะต้องทิ้งยาคุมแผงเดิมเลยมั้ย หรือควรทำอย่างไรดี
ยาคุม 28 เม็ดหลาย ๆ ยี่ห้อ จะมีเม็ดยาหลอก หรือที่บางคนเรียกว่าเม็ดแป้ง มาให้รับประทานในช่วงปลอดฮอร์โมน เพื่อให้ผู้ใช้ไม่ลืมต่อยาคุมแผงใหม่ และมีเลือดออกเป็นรอบปกติในแต่ละเดือน
ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเม็ดยาหลอกอยู่ 7 เม็ด (ยาคุมสูตร 21/7) หรือ 4 เม็ด (ยาคุมสูตร 24/4) แต่ก็มีบางยี่ห้อที่สัดส่วนของเม็ดยาฮอร์โมนและเม็ดยาหลอกแตกต่างไปจากนี้
ยาคุม 28 เม็ด จะมีการรับประทานต่อเนื่องกันทุกวัน หมดแผงเดิมแล้วก็ต่อแผงใหม่ในวันถัดมา โดยส่วนใหญ่จะเริ่มต้นแผงด้วยเม็ดยาฮอร์โมน 21 หรือ 24 เม็ด แล้วตามด้วยเม็ดยาหลอกจนครบ 28 เม็ด
ในช่วงที่ใช้เม็ดยาหลอก เยื่อบุโพรงมดลูกที่ไม่ได้รับฮอร์โมนไปหล่อเลี้ยงต่อ ก็จะเกิดการหลุดลอก และมีการฉีกขาดของหลอดเลือดในเยื่อบุ ทำให้มีเลือดออกมาคล้ายกับประจำเดือนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยมักพบหลังจากที่ใช้เม็ดยาฮอร์โมนหมดไปแล้ว 2 – 3 วัน หรือตรงกับวันที่ใช้เม็ดยาหลอกเม็ดที่ 3 – 4 นั่นเองค่ะ
แต่ก็อาจมีเลือดออกก่อนถึงเม็ดยาหลอกได้เช่นกันนะคะ โดยพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ที่เริ่มใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม มีเลือดออกผิดปกติในช่วง 3 เดือนแรกที่เริ่มใช้
และผู้ที่ใช้ยาคุมประเภทฮอร์โมนต่ำมาก อาจพบปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอยจากความแปรปรวนของฮอร์โมนได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อรับประทานไม่ตรงเวลาสม่ำเสมอ
ส่วนผู้ที่ใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวรูปแบบใหม่ล่าสุดอย่าง “สลินดา” ที่แม้จะมีช่วงปลอดฮอร์โมนในแผง แต่ก็อาจพบปัญหาคล้ายกับผู้ที่ใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมนาน ๆ นั่นคือ บางรอบก็ไม่มีประจำเดือนมา เนื่องจากเยื่อบุโพรงมดลูกบางมาก และไม่เกิดการหลุดลอก
หรือการที่เยื่อบุโพรงมดลูกบางมาก แล้วทำให้เกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดในเยื่อบุ ก็อาจทำให้มีเลือดออกกะปริบกะปรอยในช่วงใดของแผงก็ได้
นอกจากนี้ การอาเจียน, การถ่ายเหลว หรือการใช้ร่วมกับยาหรือสมุนไพรบางอย่าง ก็อาจทำให้ยาคุมถูกดูดซึมน้อยลงหรือขับออกเร็วขึ้น จนทำให้ระดับฮอร์โมนแปรปรวน และมีเลือดออกผิดปกติได้เช่นกัน
แม้จะมีเลือดออกมาขณะที่ยังรับประทานเม็ดยาฮอร์โมนอยู่ ก็สามารถใช้ยาคุม 28 เม็ดแผงนั้นต่อได้ตามปกติ แต่ควรรับประทานให้ตรงเวลาสม่ำเสมอ
หากผู้ใช้ยาคุม 28 เม็ดชนิดฮอร์โมนรวม ไม่มีปัญหาดังต่อไปนี้ ได้แก่ ลืมรับประทาน, อาเจียนภายใน 2 – 3 ชั่วโมงหลังรับประทาน, อาเจียนและ/หรือถ่ายเหลวอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง โดยเกิดขึ้นติดต่อกันตั้งแต่ 2 – 3 วันขึ้นไปในช่วงที่ใช้เม็ดยาฮอร์โมนในแผง
หรือหากผู้ใช้ “สลินดา” ซึ่งเป็นยาคุม 28 เม็ดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ที่มีเม็ดยาหลอกอยู่ในแผง ไม่มีปัญหาดังต่อไปนี้ ได้แก่ ลืมรับประทานเม็ดยาฮอร์โมนมากกว่า 24 ชั่วโมง หรืออาเจียน/ถ่ายเหลวภายใน 3 – 4 ชั่วโมงหลังรับประทานเม็ดยาฮอร์โมน
และไม่ได้ใช้ยาคุมร่วมกับยาบางตัวในกลุ่มของยากันชัก, ยารักษาวัณโรค, ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือสมุนไพรที่มีชื่อว่าเซนต์จอห์นเวิร์ต
ก็ถือว่ายังมีผลป้องกันจากยาคุมที่ใช้เหมือนเดิมค่ะ
อย่างไรก็ตาม หากเกิดปัญหาจากการใช้ที่ไม่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น ลืมรับประทานเม็ดยาฮอร์โมนติดต่อกันหลายวัน จนทำให้ประจำเดือนมาก่อนถึงเม็ดยาหลอก
ก็ควรปฏิบัติตามแนวทางแก้ไขเมื่อลืมรับประทานยา โดยหนึ่งในนั้นก็คือ ให้งดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะได้รับประทานเม็ดยาฮอร์โมนติดต่อกันครบ 7 วันนะคะ
ซึ่งในกรณีที่เหลือเม็ดยาฮอร์โมนในแผงให้ใช้ต่อไม่ถึง 7 วัน เมื่อรับประทานเม็ดยาฮอร์โมนในแผงนี้หมดแล้ว ควรทิ้งเม็ดยาหลอกที่เหลือ แล้วเริ่มใช้เม็ดยาฮอร์โมนของแผงใหม่ในวันถัดมา เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้จะได้รับฮอร์โมนต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 7 วัน และมีผลป้องกันเกิดขึ้นก่อนจะถึงช่วงของการใช้เม็ดยาหลอก
หรือถ้ากังวลว่าผู้ใช้จะสับสนและลืมข้ามการใช้เม็ดยาหลอกของแผงเดิม ก็อาจแนะนำให้ทิ้งยาคุมแผงนั้นทันที แล้วไปรับประทานยาคุมแผงใหม่แทนค่ะ
ประจำเดือนซึ่งอาจไม่ได้มาในรอบนี้เพราะข้ามเม็ดยาหลอกไป แต่ก็จะมาในช่วงที่รับประทานเม็ดยาหลอกของแผงใหม่นั่นเอง และเมื่อใช้ยาคุมแผงใหม่จนครบ 28 เม็ดแล้ว ก็ต่อด้วยยาคุมแผงถัดไปตามปกติ
เลือดกะปริบกะปรอยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่ใช้เม็ดยาฮอร์โมน รวมถึงประจำเดือนที่มาก่อนถึงเม็ดยาหลอกเนื่องจากลืมรับประทานยาคุม โดยปกติแล้วก็จะหายไปเองได้ในไม่กี่วัน
ดังนั้น หากผู้ใช้ยาคุม 28 เม็ดชนิดฮอร์โมนรวม รับประทานยาคุมถูกต้องตรงเวลาสม่ำเสมอ และใช้ต่อเนื่องกันมามากกว่า 3 แผงแล้ว อีกทั้งไม่พบปัญหาใด ๆ ที่อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมลดลง แต่ยังมีเลือดออกมามากหรือนานผิดปกติ
หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตกขาวผิดปกติ คันหรือมีกลิ่นเหม็นคาวที่ช่องคลอด ปวดท้องรุนแรง แสบขัดเวลาปัสสาวะ เจ็บขณะร่วมเพศ หรือมีเลือดออกทุกครั้งหลังมีเพศสัมพันธ์ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงและรับการรักษาที่เหมาะสมนะคะ
ส่วนผู้ที่ใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวสูตร 24/4 อย่าง “สลินดา” ซึ่งอาจพบปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอย, ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือไม่มีประจำเดือน มากกว่าการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม หากทนผลข้างเคียงดังกล่าวไม่ได้ ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาวิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ แทนค่ะ
เอกสารอ้างอิง
- Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare (FSRH). FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception. 2019 (Amended 2020).
- Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare (FSRH). FSRH Clinical Guidance: Problematic Bleeding with Hormonal Contraception. August 2022 (Amended October 2022).
- Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare (FSRH). FSRH CEU Guidance: Recommended Actions after Incorrect Use of Combined Hormonal Contraception. 2020 (Amended 2021).
- World Health Organization (WHO). Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. 2016.
- Centers for Disease Control and Prevention (CDC). U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. 2016.