ใช้ยาคุม 28 เม็ดแล้วมีประจำเดือนมาก่อนถึงเม็ดแป้ง

ใช้ยาคุม 28 เม็ดแล้วมีประจำเดือนมาก่อนถึงเม็ดแป้ง

                โดยปกติ ผู้ใช้ยาคุมแบบ 28 เม็ดจะมีเลือดออกมาในช่วงที่รับประทานเม็ดแป้ง แล้วถ้ามีประจำเดือนมาก่อนถึงเม็ดแป้งล่ะ จะต้องทิ้งยาคุมแผงเดิมเลยมั้ย หรือควรทำอย่างไรดี

 

                ยาคุม 28 เม็ดหลาย ๆ ยี่ห้อ จะมีเม็ดยาหลอก หรือที่บางคนเรียกว่าเม็ดแป้ง มาให้รับประทานในช่วงปลอดฮอร์โมน เพื่อให้ผู้ใช้ไม่ลืมต่อยาคุมแผงใหม่ และมีเลือดออกเป็นรอบปกติในแต่ละเดือน

                ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเม็ดยาหลอกอยู่ 7 เม็ด (ยาคุมสูตร 21/7) หรือ 4 เม็ด (ยาคุมสูตร 24/4) แต่ก็มีบางยี่ห้อที่สัดส่วนของเม็ดยาฮอร์โมนและเม็ดยาหลอกแตกต่างไปจากนี้

 

                ยาคุม 28 เม็ด จะมีการรับประทานต่อเนื่องกันทุกวัน หมดแผงเดิมแล้วก็ต่อแผงใหม่ในวันถัดมา โดยส่วนใหญ่จะเริ่มต้นแผงด้วยเม็ดยาฮอร์โมน 21 หรือ 24 เม็ด แล้วตามด้วยเม็ดยาหลอกจนครบ 28 เม็ด

                ในช่วงที่ใช้เม็ดยาหลอก เยื่อบุโพรงมดลูกที่ไม่ได้รับฮอร์โมนไปหล่อเลี้ยงต่อ ก็จะเกิดการหลุดลอก และมีการฉีกขาดของหลอดเลือดในเยื่อบุ ทำให้มีเลือดออกมาคล้ายกับประจำเดือนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยมักพบหลังจากที่ใช้เม็ดยาฮอร์โมนหมดไปแล้ว 2 – 3 วัน หรือตรงกับวันที่ใช้เม็ดยาหลอกเม็ดที่ 3 – 4 นั่นเองค่ะ

 

                แต่ก็อาจมีเลือดออกก่อนถึงเม็ดยาหลอกได้เช่นกันนะคะ โดยพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ที่เริ่มใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม มีเลือดออกผิดปกติในช่วง 3 เดือนแรกที่เริ่มใช้

                และผู้ที่ใช้ยาคุมประเภทฮอร์โมนต่ำมาก อาจพบปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอยจากความแปรปรวนของฮอร์โมนได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อรับประทานไม่ตรงเวลาสม่ำเสมอ

 

                ส่วนผู้ที่ใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวรูปแบบใหม่ล่าสุดอย่าง “สลินดา” ที่แม้จะมีช่วงปลอดฮอร์โมนในแผง แต่ก็อาจพบปัญหาคล้ายกับผู้ที่ใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมนาน ๆ นั่นคือ บางรอบก็ไม่มีประจำเดือนมา เนื่องจากเยื่อบุโพรงมดลูกบางมาก และไม่เกิดการหลุดลอก

                หรือการที่เยื่อบุโพรงมดลูกบางมาก แล้วทำให้เกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดในเยื่อบุ ก็อาจทำให้มีเลือดออกกะปริบกะปรอยในช่วงใดของแผงก็ได้

               

                นอกจากนี้  การอาเจียน, การถ่ายเหลว หรือการใช้ร่วมกับยาหรือสมุนไพรบางอย่าง ก็อาจทำให้ยาคุมถูกดูดซึมน้อยลงหรือขับออกเร็วขึ้น จนทำให้ระดับฮอร์โมนแปรปรวน และมีเลือดออกผิดปกติได้เช่นกัน

 

                แม้จะมีเลือดออกมาขณะที่ยังรับประทานเม็ดยาฮอร์โมนอยู่ ก็สามารถใช้ยาคุม 28 เม็ดแผงนั้นต่อได้ตามปกติ แต่ควรรับประทานให้ตรงเวลาสม่ำเสมอ

 

                หากผู้ใช้ยาคุม 28 เม็ดชนิดฮอร์โมนรวม ไม่มีปัญหาดังต่อไปนี้ ได้แก่ ลืมรับประทาน, อาเจียนภายใน 2 – 3 ชั่วโมงหลังรับประทาน, อาเจียนและ/หรือถ่ายเหลวอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง โดยเกิดขึ้นติดต่อกันตั้งแต่ 2 – 3 วันขึ้นไปในช่วงที่ใช้เม็ดยาฮอร์โมนในแผง

                หรือหากผู้ใช้ “สลินดา” ซึ่งเป็นยาคุม 28 เม็ดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ที่มีเม็ดยาหลอกอยู่ในแผง ไม่มีปัญหาดังต่อไปนี้ ได้แก่ ลืมรับประทานเม็ดยาฮอร์โมนมากกว่า 24 ชั่วโมง หรืออาเจียน/ถ่ายเหลวภายใน 3 – 4 ชั่วโมงหลังรับประทานเม็ดยาฮอร์โมน

                และไม่ได้ใช้ยาคุมร่วมกับยาบางตัวในกลุ่มของยากันชัก, ยารักษาวัณโรค, ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือสมุนไพรที่มีชื่อว่าเซนต์จอห์นเวิร์ต

                ก็ถือว่ายังมีผลป้องกันจากยาคุมที่ใช้เหมือนเดิมค่ะ

 

 

                อย่างไรก็ตาม หากเกิดปัญหาจากการใช้ที่ไม่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น ลืมรับประทานเม็ดยาฮอร์โมนติดต่อกันหลายวัน จนทำให้ประจำเดือนมาก่อนถึงเม็ดยาหลอก  

                ก็ควรปฏิบัติตามแนวทางแก้ไขเมื่อลืมรับประทานยา โดยหนึ่งในนั้นก็คือ ให้งดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะได้รับประทานเม็ดยาฮอร์โมนติดต่อกันครบ 7 วันนะคะ

                ซึ่งในกรณีที่เหลือเม็ดยาฮอร์โมนในแผงให้ใช้ต่อไม่ถึง 7 วัน เมื่อรับประทานเม็ดยาฮอร์โมนในแผงนี้หมดแล้ว ควรทิ้งเม็ดยาหลอกที่เหลือ แล้วเริ่มใช้เม็ดยาฮอร์โมนของแผงใหม่ในวันถัดมา เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้จะได้รับฮอร์โมนต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 7 วัน และมีผลป้องกันเกิดขึ้นก่อนจะถึงช่วงของการใช้เม็ดยาหลอก

            หรือถ้ากังวลว่าผู้ใช้จะสับสนและลืมข้ามการใช้เม็ดยาหลอกของแผงเดิม ก็อาจแนะนำให้ทิ้งยาคุมแผงนั้นทันที แล้วไปรับประทานยาคุมแผงใหม่แทนค่ะ

                ประจำเดือนซึ่งอาจไม่ได้มาในรอบนี้เพราะข้ามเม็ดยาหลอกไป แต่ก็จะมาในช่วงที่รับประทานเม็ดยาหลอกของแผงใหม่นั่นเอง และเมื่อใช้ยาคุมแผงใหม่จนครบ 28 เม็ดแล้ว ก็ต่อด้วยยาคุมแผงถัดไปตามปกติ

 

                เลือดกะปริบกะปรอยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่ใช้เม็ดยาฮอร์โมน รวมถึงประจำเดือนที่มาก่อนถึงเม็ดยาหลอกเนื่องจากลืมรับประทานยาคุม โดยปกติแล้วก็จะหายไปเองได้ในไม่กี่วัน

                ดังนั้น หากผู้ใช้ยาคุม 28 เม็ดชนิดฮอร์โมนรวม รับประทานยาคุมถูกต้องตรงเวลาสม่ำเสมอ และใช้ต่อเนื่องกันมามากกว่า 3 แผงแล้ว อีกทั้งไม่พบปัญหาใด ๆ ที่อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมลดลง แต่ยังมีเลือดออกมามากหรือนานผิดปกติ

                หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตกขาวผิดปกติ คันหรือมีกลิ่นเหม็นคาวที่ช่องคลอด ปวดท้องรุนแรง แสบขัดเวลาปัสสาวะ เจ็บขณะร่วมเพศ หรือมีเลือดออกทุกครั้งหลังมีเพศสัมพันธ์ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงและรับการรักษาที่เหมาะสมนะคะ

 

                ส่วนผู้ที่ใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวสูตร 24/4 อย่าง “สลินดา” ซึ่งอาจพบปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอย, ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือไม่มีประจำเดือน มากกว่าการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม หากทนผลข้างเคียงดังกล่าวไม่ได้ ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาวิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ แทนค่ะ

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare (FSRH). FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception. 2019 (Amended 2020).
  2. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare (FSRH). FSRH Clinical Guidance: Problematic Bleeding with Hormonal Contraception. August 2022 (Amended October 2022).
  3. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare (FSRH). FSRH CEU Guidance: Recommended Actions after Incorrect Use of Combined Hormonal Contraception. 2020 (Amended 2021).
  4. World Health Organization (WHO). Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. 2016.
  5. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. 2016.