มีเพศสัมพันธ์แบบหลั่งนอก ผ่านไป 3 – 4 วันจึงเริ่มรับประทานยาคุมแบบ 21 เม็ด การใช้ยาคุมรายเดือนในกรณีนี้ จะช่วยอะไรได้หรือเปล่า และถ้าไม่รับประทานยาคุมฉุกเฉิน จะท้องมั้ย
การหลั่งนอกไม่ถือเป็นทางเลือกที่ดี เพราะไม่ใช่วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงค่ะ โดยอ้างอิงจาก Trussell J. Contraceptive Technology, 2018. ก็คือ หากทำได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์แบบทุก ๆ ครั้ง (Perfect use) จะมีโอกาสตั้งครรภ์ 4% แต่การปฏิบัติโดยทั่วไป (Typical use) มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ 20%
การใช้ยาคุมรายเดือน จะมีประสิทธิภาพสูงกว่ามาก จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการหลั่งนอก นั่นคือ ถ้าใช้ยาคุมรายเดือนถูกต้อง, เหมาะสม และตรงเวลาสม่ำเสมอ (Perfect use) มีโอกาสตั้งครรภ์เพียงแค่ 0.3% ส่วนการใช้ทั่ว ๆ ไป ที่ไม่เคร่งครัดนัก (Typical use) จะมีโอกาสตั้งครรภ์ 7%
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาคุมแบบรายเดือน โดยรับประทานตามขนาดปกติ ไม่มีผลป้องกันย้อนหลังนะคะ และถ้าเป็นการใช้ยาคุมแผงแรก ควรเริ่มรับประทานภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน จึงจะมีผลคุมกำเนิดได้ทันที
แต่ถ้าใช้ยาคุมแผงแรก ไม่ทัน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน ก็จะต้องรับประทานยาคุมแบบ 21 เม็ด ติดต่อกันให้ครบ 7 วัน จึงถือว่ามีผลคุมกำเนิดได้ ในช่วงแรกก็ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ไปก่อน
เมื่อรับประทานยาคุมแบบ 21 เม็ดหมดแผงแล้ว ก็เว้นว่าง 7 วันเพื่อเป็นช่วงปลอดฮอร์โมนให้ประจำเดือนมา แล้วต่อแผงใหม่ในวันที่ 8 ของการเว้นว่าง หากต่อแผงใหม่ตรงตามกำหนด จะถือว่ามีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องทุกวัน
จากกรณีตัวอย่าง ถ้าเป็นการใช้ยาคุมรายเดือนแผงแรก และผู้ถามไม่ได้เริ่มรับประทานภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน ก็จะไม่ช่วยอะไรนะคะ และมีโอกาสตั้งครรภ์ได้มาก หากไม่รีบคุมกำเนิดฉุกเฉิน
ดังนั้น แม้จะเกิน 72 ชั่วโมงไปแล้ว แต่ถ้ายังไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ แนะนำให้ซื้อยาคุมฉุกเฉินมารับประทานทันที หรือเร็วที่สุดที่จะทำได้ภายในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะแม้ว่าประสิทธิภาพอาจลดลง แต่ก็ยังดีกว่าที่จะไม่ใช้เลย
โดยรับประทานแบบครบขนาดในครั้งเดียว นั่นคือ ถ้าใช้ยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด ก็รับประทาน 2 เม็ดพร้อมกัน ครั้งเดียว หรือถ้าใช้ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด ก็รับประทานเม็ดเดียว ครั้งเดียว
หรือถ้าไม่สามารถหาซื้อยาคุมฉุกเฉินมาใช้ได้ทันเวลา อาจนำยาคุมรายเดือนที่มีอยู่ มารับประทานในขนาดสูงเพื่อคุมกำเนิดฉุกเฉิน แต่ก็มีประสิทธิภาพด้อยกว่า และมีผลข้างเคียงมากกว่าค่ะ (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง “เปลี่ยนยาคุมธรรมดามาใช้คุมฉุกเฉิน”)
เอกสารอ้างอิง
- Trussell J, Aiken ARA, Mickes E, Guthrie K. Efficacy, Safety, and Personal Considerations. In: Contraceptive Technology, 21st ed, Hatcher RA, Nelson AL, Trussell J, et al (Eds), Ayer Company Publishers, Inc., New York 2018.
- Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
- U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
- FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraceptive. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, January 2019. (Amended July 2023)
- Family planning: A Global Handbook for Providers, 2022 edition.