ยาคุม “จัสติมา” (Justima)

เริ่มเผยแพร่

ปรับปรุงล่าสุด

               “จัสติมา” (Justima) เป็นยาคุมแบบ 21 เม็ด สูตรเดียวกันกับ “ยาสมิน” (Yasmin) และ “เมโลเดีย” (Melodia) นั่นคือ มีตัวยาสำคัญเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน Ethinyl estradiol 0.03 มิลลิกรัม และฮอร์โมนโปรเจสติน Drospirenone 3 มิลลิกรัม เหมือนกันทุกเม็ด

ในแผงของจัสติมา มีเม็ดยาฮอร์โมน 21 เม็ด ไม่มีเม็ดยาหลอก

 

               เนื่องจากมีปริมาณ Ethinyl estradiol น้อยกว่า 0.05 มิลลิกรัม จึงจัดให้ “จัสติมา” อยู่ในกลุ่มของยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ประเภทฮอร์โมนต่ำ (Low dose pills) ซึ่งผลข้างเคียงจากเอสโตรเจน ไม่ว่าจะเป็นอาการคลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, บวมน้ำ หรือการเกิดฝ้า จะพบได้น้อยกว่ายาคุมประเภทฮอร์โมนสูง (High dose pills)

               ผลของ Drospirenone ที่ต้านฤทธิ์แอนโดรเจน ทำให้ “จัสติมา” ลดปัญหาสิว, หน้ามัน หรือขนดกจากฮอร์โมนได้ อีกทั้งยังมีผลขับปัสสาวะอย่างอ่อน จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่กังวลเรื่องน้ำหนักที่อาจเพิ่มขึ้นหรือการบวมน้ำจากยาคุม

 

                อย่างไรก็ตาม ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่ใช้ตัวยาโปรเจสตินเป็น Drospirenone อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดได้มากกว่า Levonorgestrel, Norethisterone หรือ Norgestimate

               ซึ่งผู้ที่อยู่ในเกณฑ์อ้วนมาก หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป การใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม มีความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous thromboembolism; VTE) ได้มากกว่าผู้ที่ไม่ใช้

               แม้จะไม่ถือเป็นข้อจำกัดให้ต้องหลีกเลี่ยงหรือห้ามใช้ หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันร่วมด้วย แต่ก็ควรเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น หรือพิจารณาทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยกว่า โดยเฉพาะถ้ามีค่า BMI > 35 kg/m2

               อีกทั้ง ผู้ที่มีโรคประจำตัว, ผู้ที่สูบบุหรี่และมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป, ผู้ที่ต้องการใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากการคุมกำเนิด ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ด้วยนะคะ

 

               “จัสติมา” ผลิตในประเทศสเปน นำเข้ามาในประเทศไทยโดย บริษัทยูเมด้า จำกัด (Umeda Co.,Ltd.) และจัดจำหน่ายโดยบริษัท มาซา แลบ จำกัด (MASA Lab Co.,Ltd.) มีราคา 270 – 300 บาทโดยประมาณค่ะ

ยาคุมจัสติมา

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, January 2019. (Amended July 2023)
  2. U.S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  3. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use, 5th edition. World Health Organization, 2015.