ฝังยาคุมได้ 4 วัน ก็มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน แต่ไม่เสร็จ หลังจากนั้น 2 ชั่วโมงจึงซื้อยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ดมารับประทาน ตอนนี้ผ่านมาสัปดาห์กว่า ๆ แล้ว ยังไม่มีประจำเดือนมา แต่ก็ยังไม่ถึงเวลาของรอบเดือนปกติ อย่างนี้จะมีโอกาสท้องมากน้อยแค่ไหน
สำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือน และไม่ได้ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดใด ๆ อยู่ จะแนะนำให้ฝังยาคุมกำเนิดภายใน 5 วันแรก1,2 หรือภายใน 7 วันแรก3,4 ของการมีประจำเดือน ซึ่งทำให้มั่นใจว่าไม่มีการตั้งครรภ์ และยังให้ผลคุมกำเนิดได้ทันที
หรือจะเริ่มใช้หลังจากนั้นก็ได้ ถ้ามีเหตุผลที่ทำให้มั่นใจว่าไม่ตั้งครรภ์ แต่ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไปอีก 7 วันหลังจากฝังยาค่ะ
การฝังยาคุมกำเนิด เป็นหนึ่งในวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในปัจจุบัน โดยมีอัตราการตั้งครรภ์ในปีแรกหลังฝังยาคุมเพียงแค่ 0.1%5 หรือคิดเป็น 1 ใน 1,000 เท่านั้น4
และแม้ว่าความเสี่ยงอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังผ่านช่วง 1 ปีแรกไปแล้ว แต่ก็ยังถือว่ามีประสิทธิภาพสูงมากตลอดระยะเวลาการใช้ตามกำหนด
ดังนั้น หากผู้ถามเริ่มฝังยาคุมกำเนิดภายใน 5 วันแรก หรือภายใน 7 วันแรก ของการมีประจำเดือน (ขึ้นอยู่กับว่าจะยึดตามแหล่งอ้างอิงใด) ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์หลั่งในได้ตามปกติ และมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยมากจนไม่น่าจะกังวล จึงไม่จำเป็นจะต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉินนะคะ
แต่ถ้าเริ่มใช้ไม่ทันช่วงเวลานั้น การที่ผู้ถามมีเพศสัมพันธ์หลังจากที่ฝังยาไปไม่ถึง 7 วัน โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันร่วมด้วย ก็มีโอกาสตั้งครรภ์ได้มาก โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าอาจอยู่ในช่วงที่ใกล้จะมีไข่ตก เพราะแม้จะยังไม่ถึงจุดสุดยอด แต่ก็อาจมีการหลั่งอสุจิออกมาในระหว่างที่สอดใส่ (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง “สดแต่ไม่เสร็จ จะท้องไหม ต้องกินยาคุมอะไร”)
และในกรณีที่มีความเสี่ยง การรับประทานยาคุมฉุกเฉินทันที หรือเร็วที่สุดที่ทำได้ ภายใน 72 ชั่วโมง หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ ก็เป็นสิ่งที่เหมาะสมค่ะ เพราะอาจช่วยลดโอกาสตั้งครรภ์ให้เหลือ 1 ใน 8 เมื่อเทียบกับไม่ใช้4
ยาคุมฉุกเฉินที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น 2 เม็ด ได้แก่ โพสตินอร์, มาดอนน่า, แมรี่พิงค์, แอปคาร์นอร์แพก, เลดี้นอร์, แจนนี่, เอ-โพสน็อกซ์, หรือแบบ 1 เม็ด ได้แก่ เมเปิ้ลฟอร์ท, แทนซีวัน, มาดอนน่าวัน ก็เป็นยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยา ลีโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel) เหมือนกัน และมีปริมาณตัวยาสำคัญรวมใน 1 แผงอยู่เท่ากันทุกยี่ห้อ
ถ้าจำเป็น ก็สามารถรับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล ในระหว่างที่ฝังยาคุมกำเนิดได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าประสิทธิภาพในการป้องกันจะลดลง
ภายใน 1 สัปดาห์หลังรับประทานยาคุมฉุกเฉิน อาจมีเลือดออกกะปริบกะปรอย หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ ซึ่งเป็นเพียงผลข้างเคียงจากยา ไม่ได้บ่งชี้ว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่
หากไม่ตั้งครรภ์ ประจำเดือนของผู้ใช้ยาคุมฉุกเฉินมักจะมาตรงเวลา หรือคลาดเคลื่อนเพียงไม่กี่วัน จึงไม่จำเป็นว่าจะต้องมีประจำเดือนภายใน 7 วันหลังรับประทานยาคุมฉุกเฉินนะคะ (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง “กินยาคุมฉุกเฉินแล้ว จำเป็นต้องมีประจำเดือนใน 7 วันมั้ย”)
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของประจำเดือนในระหว่างที่ใช้ยาฝังคุมกำเนิด เช่น เลือดออกกะปริบกะปรอย, ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือไม่มีประจำเดือน อาจเกิดขึ้นได้ และไม่มีอันตราย (แต่ถ้าทนไม่ได้ ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม)
ดังนั้น ในกรณีที่ประจำเดือนมาช้าเกิน 7 วันนับจากวันที่คาดไว้ หรือไม่มั่นใจว่าประจำเดือนขาดเพราะสาเหตุใด ก็ควรตรวจการตั้งครรภ์เพื่อความชัดเจนค่ะ
เอกสารอ้างอิง
- FSRH guideline: Progestogen – only Implant, February 2021 (Amended July 2023).
- U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
- Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
- Family planning: A Global Handbook for Providers, 2022 edition.
- Trussell J, Aiken ARA, Mickes E, Guthrie K. Efficacy, Safety, and Personal Considerations. In: Contraceptive Technology, 21st ed, Hatcher RA, Nelson AL, Trussell J, et al (Eds), Ayer Company Publishers, Inc., New York 2018.