ฝังยาคุมกับกินยาคุมฉุกเฉินไปด้วยมีโอกาสท้องไหม

ฝังยาคุมกับกินยาคุมฉุกเฉินไปด้วยมีโอกาสท้องไหม

                ฝังยาคุมได้ 4 วัน ก็มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน แต่ไม่เสร็จ หลังจากนั้น 2 ชั่วโมงจึงซื้อยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ดมารับประทาน ตอนนี้ผ่านมาสัปดาห์กว่า ๆ แล้ว ยังไม่มีประจำเดือนมา แต่ก็ยังไม่ถึงเวลาของรอบเดือนปกติ อย่างนี้จะมีโอกาสท้องมากน้อยแค่ไหน

 

                สำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือน และไม่ได้ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดใด ๆ อยู่ จะแนะนำให้ฝังยาคุมกำเนิดภายใน 5 วันแรก1,2 หรือภายใน 7 วันแรก3,4 ของการมีประจำเดือน ซึ่งทำให้มั่นใจว่าไม่มีการตั้งครรภ์ และยังให้ผลคุมกำเนิดได้ทันที

                หรือจะเริ่มใช้หลังจากนั้นก็ได้ ถ้ามีเหตุผลที่ทำให้มั่นใจว่าไม่ตั้งครรภ์ แต่ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไปอีก 7 วันหลังจากฝังยาค่ะ

 

                การฝังยาคุมกำเนิด เป็นหนึ่งในวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในปัจจุบัน โดยมีอัตราการตั้งครรภ์ในปีแรกหลังฝังยาคุมเพียงแค่ 0.1%5 หรือคิดเป็น 1 ใน 1,000 เท่านั้น4

                และแม้ว่าความเสี่ยงอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังผ่านช่วง 1 ปีแรกไปแล้ว แต่ก็ยังถือว่ามีประสิทธิภาพสูงมากตลอดระยะเวลาการใช้ตามกำหนด

 

                ดังนั้น หากผู้ถามเริ่มฝังยาคุมกำเนิดภายใน 5 วันแรก หรือภายใน 7 วันแรก ของการมีประจำเดือน (ขึ้นอยู่กับว่าจะยึดตามแหล่งอ้างอิงใด) ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์หลั่งในได้ตามปกติ และมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยมากจนไม่น่าจะกังวล จึงไม่จำเป็นจะต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉินนะคะ

 

                แต่ถ้าเริ่มใช้ไม่ทันช่วงเวลานั้น การที่ผู้ถามมีเพศสัมพันธ์หลังจากที่ฝังยาไปไม่ถึง 7 วัน โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันร่วมด้วย ก็มีโอกาสตั้งครรภ์ได้มาก โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าอาจอยู่ในช่วงที่ใกล้จะมีไข่ตก เพราะแม้จะยังไม่ถึงจุดสุดยอด แต่ก็อาจมีการหลั่งอสุจิออกมาในระหว่างที่สอดใส่ (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง “สดแต่ไม่เสร็จ จะท้องไหม ต้องกินยาคุมอะไร”)

                และในกรณีที่มีความเสี่ยง การรับประทานยาคุมฉุกเฉินทันที หรือเร็วที่สุดที่ทำได้ ภายใน 72 ชั่วโมง หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ ก็เป็นสิ่งที่เหมาะสมค่ะ เพราะอาจช่วยลดโอกาสตั้งครรภ์ให้เหลือ 1 ใน 8 เมื่อเทียบกับไม่ใช้4

 

                ยาคุมฉุกเฉินที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น 2 เม็ด ได้แก่ โพสตินอร์, มาดอนน่า, แมรี่พิงค์, แอปคาร์นอร์แพก, เลดี้นอร์, แจนนี่, เอ-โพสน็อกซ์, หรือแบบ 1 เม็ด ได้แก่ เมเปิ้ลฟอร์ท, แทนซีวัน, มาดอนน่าวัน ก็เป็นยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยา ลีโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel) เหมือนกัน และมีปริมาณตัวยาสำคัญรวมใน 1 แผงอยู่เท่ากันทุกยี่ห้อ

                ถ้าจำเป็น ก็สามารถรับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล ในระหว่างที่ฝังยาคุมกำเนิดได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าประสิทธิภาพในการป้องกันจะลดลง

 

                ภายใน 1 สัปดาห์หลังรับประทานยาคุมฉุกเฉิน อาจมีเลือดออกกะปริบกะปรอย หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ ซึ่งเป็นเพียงผลข้างเคียงจากยา ไม่ได้บ่งชี้ว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่

                หากไม่ตั้งครรภ์ ประจำเดือนของผู้ใช้ยาคุมฉุกเฉินมักจะมาตรงเวลา หรือคลาดเคลื่อนเพียงไม่กี่วัน จึงไม่จำเป็นว่าจะต้องมีประจำเดือนภายใน 7 วันหลังรับประทานยาคุมฉุกเฉินนะคะ (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง “กินยาคุมฉุกเฉินแล้ว จำเป็นต้องมีประจำเดือนใน 7 วันมั้ย”)

 

                อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของประจำเดือนในระหว่างที่ใช้ยาฝังคุมกำเนิด เช่น เลือดออกกะปริบกะปรอย, ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือไม่มีประจำเดือน อาจเกิดขึ้นได้ และไม่มีอันตราย (แต่ถ้าทนไม่ได้ ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม)

                ดังนั้น ในกรณีที่ประจำเดือนมาช้าเกิน 7 วันนับจากวันที่คาดไว้ หรือไม่มั่นใจว่าประจำเดือนขาดเพราะสาเหตุใด ก็ควรตรวจการตั้งครรภ์เพื่อความชัดเจนค่ะ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. FSRH guideline: Progestogen – only Implant, February 2021 (Amended July 2023).
  2. U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  3. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
  4. Family planning: A Global Handbook for Providers, 2022 edition.
  5. Trussell J, Aiken ARA, Mickes E, Guthrie K. Efficacy, Safety, and Personal Considerations. In: Contraceptive Technology, 21st ed, Hatcher RA, Nelson AL, Trussell J, et al (Eds), Ayer Company Publishers, Inc., New York 2018.