ผู้ใช้ยาคุมรายเดือน จะได้รับคำแนะนำให้รับประทานตรงเวลาสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการตั้งครรภ์ และลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากความแปรปรวนของฮอร์โมน
แต่ถ้ามีวันใดวันหนึ่ง ไม่สะดวกที่จะใช้ในเวลาเดิม สามารถรับประทานก่อนเวลาได้หรือไม่ จะยังคงให้ผลคุมกำเนิดหรือเปล่า และมีข้อควรระวังอย่างไร
การรับประทานที่ตรงเวลาสม่ำเสมอ จะทำให้ยาคุมรายเดือนสามารถออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการรับประทานยาคุมที่ตรงเวลาสม่ำเสมอก็คือ ควรรับประทานแต่ละเม็ดห่างกันทุก 24 ชั่วโมงค่ะ
และเนื่องจาก อาจพบอาการคลื่นไส้และอาเจียนได้ โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ที่เริ่มใช้ เพื่อลดผลข้างเคียงนี้ อีกทั้งเพื่อลดความเสี่ยงที่จะลืมรับประทาน จึงแนะนำให้ รับประทานยาคุมในเวลาก่อนนอน หรือใกล้เคียงเวลานอน โดยผู้ใช้สะดวกที่จะรับประทานในเวลาเดิมทุก ๆ วัน นะคะ
การรับประทานผิดเวลา หากทำให้เวลาที่รับประทานยาคุมแต่ละเม็ดห่างกันเกินไป ระดับฮอร์โมนที่มีในร่างกายก็อาจลดต่ำลงมากจนไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ค่ะ
และแม้ว่าการรับประทานก่อนเวลา จะทำให้เวลาที่รับประทานในครั้งนี้กับครั้งก่อน ห่างกันน้อยกว่า 24 ชั่วโมง แต่เมื่อกลับมารับประทานต่อตามเวลาเดิมในครั้งต่อไป เวลาที่ใช้ก็จะห่างกันมากกว่า 24 ชั่วโมง
ยกตัวอย่างเช่น เวลารับประทานยาคุมประจำวัน คือ 21.00 น. แต่วันจันทร์และวันอังคารมีการรับประทานในเวลา 19.00 น. หลังจากนั้นก็กลับมารับประทานต่อตามเวลาเดิม คือ 21.00 น.
ระยะห่างของเวลาที่ใช้ยาคุม ก็จะเป็นดังภาพ
นั่นคือ นับจากเวลาที่รับประทานยาคุมในวันอาทิตย์ไปหาวันจันทร์ จะห่างกัน 22 ชั่วโมง, จากวันจันทร์ไปหาวันอังคาร ห่างกัน 24 ชั่วโมง และจากวันอังคารไปหาวันพุธ ก็จะห่างกัน 26 ชั่วโมง
หากเวลาที่ได้รับยาคุมแต่ละเม็ดห่างกันมากเกินไป ก็จะถือว่ามีการใช้ไม่ต่อเนื่อง และต้องพิจารณาวิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่นเดียวกับกรณีที่ลืมรับประทานยาคุมนั่นเอง
โดยยาคุมรายเดือนมีหลากหลายชนิดและรูปแบบ เช่น ยาคุมแบบ 21 เม็ด ที่มีเฉพาะเม็ดยาฮอร์โมน และยาคุมแบบ 28 เม็ด ที่บางยี่ห้อจะมีเฉพาะเม็ดยาฮอร์โมน แต่บางยี่ห้อก็มีทั้งเม็ดยาฮอร์โมนและเม็ดยาหลอกอยู่ในแผง
ซึ่งการนับระยะห่างจะเน้นระหว่าง “เม็ดยาฮอร์โมน” เม็ดหนึ่งไปหาอีกเม็ดหนึ่ง และยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว จะมีกรอบเวลายืดหยุ่นสั้นกว่ายาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ดังนี้ค่ะ
ชนิดของยาคุมรายเดือน |
ข้อควรระวัง |
ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวชนิดตัวยาไลเนสทรีนอล (Lynestrenol) ซึ่งไม่มีเม็ดยาหลอกอยู่ในแผง ได้แก่ “เอ็กซ์ลูตอน” (Exluton) และ “เดลิต้อน” (Dailyton) |
รับประทานช้ากว่าเวลาที่กำหนดได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง
นั่นคือ นับจากเวลาที่รับประทานเม็ดก่อน มาถึงเวลาที่รับประทานเม็ดนี้ ต้องห่างกันไม่เกิน 27 ชั่วโมง |
ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวชนิดตัวยาดีโซเจสตริล (Desogestrel) ซึ่งไม่มีเม็ดยาหลอกอยู่ในแผง ได้แก่ “ซีราเซท” (Cerazette) |
รับประทานช้ากว่าเวลาที่กำหนดได้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง
นั่นคือ นับจากเวลาที่รับประทานเม็ดก่อน มาถึงเวลาที่รับประทานเม็ดนี้ ต้องห่างกันไม่เกิน 36 ชั่วโมง |
ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวชนิดตัวยาดรอสไพรีโนน (Drospirenone) ซึ่งมีทั้งเม็ดยาฮอร์โมนและเม็ดยาหลอกอยู่ในแผง ได้แก่ “สลินดา” (Slinda) |
รับประทานช้ากว่าเวลาที่กำหนดได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง
นั่นคือ นับจากเวลาที่รับประทานเม็ดก่อน มาถึงเวลาที่รับประทานเม็ดนี้ ต้องห่างกันไม่เกิน 48 ชั่วโมง |
ยาคุมฮอร์โมนรวมที่มีฮอร์โมนระดับเดียว ซึ่งก็คือยาคุมส่วนใหญ่ที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน |
รับประทานช้ากว่าเวลาที่กำหนดได้ไม่ถึง 48 ชั่วโมง
นั่นคือ นับจากเวลาที่รับประทานเม็ดก่อน มาถึงเวลาที่รับประทานเม็ดนี้ ต้องห่างกันน้อยกว่า 72 ชั่วโมง |
ยาคุมฮอร์โมนรวมที่มีฮอร์โมนหลายระดับ ได้แก่ “ไคลรา” (Qlaira) |
รับประทานช้ากว่าเวลาที่กำหนดได้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง
นั่นคือ นับจากเวลาที่รับประทานเม็ดก่อน มาถึงเวลาที่รับประทานเม็ดนี้ ต้องห่างกันไม่เกิน 36 ชั่วโมง |
ในกรณีของยาคุมฮอร์โมนรวมที่มีฮอร์โมนระดับเดียว ที่กำหนดกรอบเวลายืดหยุ่นไว้ที่ ไม่ถึง 48 ชั่วโมงนับจากเวลาที่ควรรับประทานเม็ดนั้น หรือเท่ากับ ไม่ถึง 72 ชั่วโมงนับจากเวลาที่รับประทานเม็ดล่าสุดไปแล้ว เป็นการอ้างอิงตามแนวทางของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) และคณะอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ สหราชอาณาจักร (FSRH) นะคะ
แต่หากอ้างอิงตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) จะใช้กรอบเวลาดังกล่าวกับยาคุมฮอร์โมนรวมที่มีปริมาณเอสโตรเจน Ethinyl estradiol ไม่เกิน 0.020 มิลลิกรัม ส่วนยาคุมฮอร์โมนรวมที่มีปริมาณเอสโตรเจน Ethinyl estradiol มากกว่า 0.020 มิลลิกรัม แต่ไม่ถึง 0.050 มิลลิกรัม สามารถปรับกรอบเวลายืดหยุ่นไปเป็น ไม่ถึง 72 ชั่วโมงนับจากเวลาที่ควรรับประทานเม็ดนั้น แทนได้ค่ะ
สรุปก็คือ หากมีความจำเป็นก็สามารถรับประทานยาคุมก่อนเวลาที่เคยใช้ได้นะคะ และยังคงให้ผลคุมกำเนิดอยู่ แต่ควรระวังว่าเมื่อกลับมารับประทานต่อตามเวลาเดิม จะทำให้เวลาที่ใช้เม็ดยาฮอร์โมนแต่ละเม็ดนั้นห่างกันมากเกินไปด้วยหรือไม่
ในกรณีที่ระยะห่างระหว่างเม็ดยาฮอร์โมนนานเกินไป (โดยพิจารณาจากกรอบเวลายืดหยุ่นของยาคุมรายเดือนแต่ละชนิด) ก็จะถือว่ามีการใช้ไม่ต่อเนื่อง และควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ร่วมด้วยตามแนวทางแก้ไขเมื่อลืมรับประทานยาคุมค่ะ
เอกสารอ้างอิง
- FSRH CEU Guidance: Recommended Actions after Incorrect Use of Combined Hormonal Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, 2020.
- FSRH CEU Guidance: Progestogen-only Pills, 2015. (Updated April 2019)
- S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
- Selected Practice Recommendationsfor Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
- เอกสารกำกับยา Slinda®
- เอกสารกำกับยา Qlaira®