หากอ่านวิธีใช้ซึ่งระบุไว้ที่ข้างกล่องยาคุมฉุกเฉิน รวมถึงในเอกสารกำกับยา สำหรับยาคุมฉุกเฉินชนิดที่มีแผงละ 2 เม็ดที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน จะเห็นคำแนะนำที่ให้ “รับประทาน 1 เม็ดภายใน 24 ชั่วโมง แต่ไม่นานเกินกว่า 72 ชั่วโมง ภายหลังจากมีเพศสัมพันธ์ และต้องรับประทานซ้ำอีก 1 เม็ด หลังจากรับประทานเม็ดแรกไปแล้ว 12 ชั่วโมง”
ซึ่งคำแนะนำดังกล่าว เป็นวิธีดั้งเดิมในการใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลนั่นเองค่ะ
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการศึกษาเพิ่มเติม หลาย ๆ หน่วยงาน/สมาคมวิชาชีพก็ได้ปรับแนวทางการใช้ยาคุมฉุกเฉิน โดยขยายเวลา และ/หรือ ปรับเปลี่ยนวิธีรับประทาน ให้มีความทันสมัย และเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ใช้
ซึ่งแนวทางที่ปรับใหม่ของแต่ละหน่วยงาน/สมาคม อาจสอดคล้องตรงกัน หรืออาจแตกต่างกันก็ได้
ยกตัวอย่างจากแนวทางของ…
- สมาคมสูตินรีแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา (American College of Obstetricians and Gynecologists; ACOG)
- ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention; CDC)
- องค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO)
- Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare (FSRH)
- International Consortium for Emergency Contraception (ICEC)
- สมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Pediatrics; AAP)
…จะมีข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล ดังนี้ค่ะ
แนวทาง |
ขนาดรับประทาน |
เวลาที่ใช้ |
ACOG 2015 |
รับประทาน 1.5 มิลลิกรัม ครั้งเดียว |
ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ |
CDC 2016 |
รับประทาน 1.5 มิลลิกรัม ครั้งเดียว หรือรับประทานครั้งละ 0.75 มิลลิกรัม 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง |
ภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ |
WHO 2016 |
แนะนำให้รับประทาน 1.5 มิลลิกรัม ครั้งเดียว แต่หากผู้ใช้ต้องการรับประทานครั้งละ 0.75 มิลลิกรัม 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง ก็สามารถทำได้เช่นกัน |
ภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ |
FSRH 2017 |
รับประทาน 1.5 มิลลิกรัม ครั้งเดียว |
ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ |
ICEC 2018 |
รับประทาน 1.5 มิลลิกรัม ครั้งเดียว |
ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ |
AAP 2019 |
รับประทาน 1.5 มิลลิกรัม ครั้งเดียว |
ภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ |
จะเห็นได้ว่าเกือบทุกแนวทางแนะนำให้รับประทานแบบครบขนาดในครั้งเดียว เนื่องจากประสิทธิภาพไม่ด้อยไปกว่าการแยกรับประทาน แต่ใช้สะดวกกว่า และไม่ต้องกังวลว่าจะลืมแล้วรับประทานไม่ตรงเวลาหรือไม่ครบขนาด
หากรับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลภายใน 72 ชั่วโมงแรกหลังมีเพศสัมพันธ์ จะมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ที่เวลา 72 – 120 ชั่วโมงนะคะ โดยเฉพาะ ถ้าเกิน 96 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว ประสิทธิภาพในการป้องกันจะลดลงมาก
บางแนวทาง เช่น ACOG 2015, FSRH 2017 และ ICEC 2018 จึงแนะนำให้รับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม บางแนวทาง เช่น US CDC 2016, WHO 2016 และ AAP 2019 ก็ยังแนะนำว่าถ้าใช้ไม่ทัน 72 ชั่วโมงแรกหลังมีเพศสัมพันธ์ แต่ยังไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ ก็สามารถใช้ได้ เพราะถ้าใช้ครบขนาดและทันเวลาก็อาจช่วยลดความเสี่ยงที่มีอยู่ได้เช่นกัน จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการไม่รับประทาน โดยเฉพาะ หากไม่สามารถใช้วิธีป้องกันฉุกเฉินอื่น ๆ แทนได้ค่ะ
ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล ในกรณีที่เกิน 72 ชั่วโมงไปแล้ว ยังสามารถใช้ได้หากยังไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์นะคะ แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ควรรับประทานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะยิ่งรับประทานเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้ผลดีกว่าการรับประทานที่ล่าช้าค่ะ
แล้วทำไมในฉลากหรือเอกสารกำกับยาของยาคุมฉุกเฉินที่มีจำหน่ายในบ้านเรา จึงยังแนะนำให้รับประทานตามวิธีดั้งเดิม และไม่ให้เกิน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ล่ะ?!?
การแสดงข้อความในฉลากและเอกสารกำกับยา ถูกควบคุมให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน ตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ออกมาในปี พ.ศ.2543 ค่ะ และยังไม่มีการแก้ไขใด ๆ เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ก็กำหนดการแสดงข้อความในฉลากสำหรับยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลแบบแผงละ 2 เม็ดไว้ดังนี้เช่นกัน
ถึงแม้ว่าจะรับประทานได้ถูกต้อง ครบถ้วน และทันเวลาที่กำหนด แต่คุณผู้อ่านควรทราบว่า ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินต่ำกว่าวิธีคุมกำเนิดมาตรฐานนะคะ
จึงควรนำมาใช้เมื่อจำเป็นฉุกเฉินหรือไม่มีทางเลือกอื่นจริง ๆ เช่น ในกรณีที่ถูกข่มขืน ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่สามารถคุมกำเนิดล่วงหน้าได้ หรือในกรณีที่เกิดความผิดพลาดจากวิธีคุมกำเนิดมาตรฐานที่ใช้อยู่ เช่น ถุงยางฉีกขาด หรือลืมรับประทานยาคุมรายเดือนแล้วไม่มีผลป้องกันต่อเนื่อง
เพราะถ้านำยาคุมฉุกเฉินมาใช้แทนวิธีคุมกำเนิดปกติ เช่น ใช้เพราะไม่อยากใส่ถุงยางอนามัย หรือใช้เพราะไม่อยากรับประทานยาคุมรายเดือน ก็มีความเสี่ยงที่ยาคุมฉุกเฉินจะป้องกันไม่สำเร็จ จึงอาจตั้งครรภ์ได้มากกว่าที่ควรจะเป็นค่ะ