รับประทานยาคุมฉุกเฉินหลัง 72 ชั่วโมงได้มั้ย?!?

รับประทานยาคุมฉุกเฉินหลัง 72 ชั่วโมงได้มั้ย

                หากอ่านวิธีใช้ซึ่งระบุไว้ที่ข้างกล่องยาคุมฉุกเฉิน รวมถึงในเอกสารกำกับยา สำหรับยาคุมฉุกเฉินชนิดที่มีแผงละ 2 เม็ดที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน จะเห็นคำแนะนำที่ให้ “รับประทาน 1 เม็ดภายใน 24 ชั่วโมง แต่ไม่นานเกินกว่า 72 ชั่วโมง ภายหลังจากมีเพศสัมพันธ์ และต้องรับประทานซ้ำอีก 1 เม็ด หลังจากรับประทานเม็ดแรกไปแล้ว 12 ชั่วโมง

                ซึ่งคำแนะนำดังกล่าว เป็นวิธีดั้งเดิมในการใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลนั่นเองค่ะ

 

                อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการศึกษาเพิ่มเติม หลาย ๆ หน่วยงาน/สมาคมวิชาชีพก็ได้ปรับแนวทางการใช้ยาคุมฉุกเฉิน โดยขยายเวลา และ/หรือ ปรับเปลี่ยนวิธีรับประทาน ให้มีความทันสมัย และเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ใช้

                ซึ่งแนวทางที่ปรับใหม่ของแต่ละหน่วยงาน/สมาคม อาจสอดคล้องตรงกัน หรืออาจแตกต่างกันก็ได้

                ยกตัวอย่างจากแนวทางของ…

  • สมาคมสูตินรีแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา (American College of Obstetricians and Gynecologists; ACOG)
  • ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention; CDC)
  • องค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO)
  • Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare (FSRH)
  • International Consortium for Emergency Contraception (ICEC)
  • สมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Pediatrics; AAP)

 

                …จะมีข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล ดังนี้ค่ะ

แนวทาง

ขนาดรับประทาน

เวลาที่ใช้

ACOG 2015

รับประทาน 1.5 มิลลิกรัม ครั้งเดียว

ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์

CDC 2016

รับประทาน 1.5 มิลลิกรัม ครั้งเดียว

หรือรับประทานครั้งละ 0.75 มิลลิกรัม 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง

ภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์

WHO 2016

แนะนำให้รับประทาน 1.5 มิลลิกรัม ครั้งเดียว

แต่หากผู้ใช้ต้องการรับประทานครั้งละ 0.75 มิลลิกรัม 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง ก็สามารถทำได้เช่นกัน

ภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์

FSRH 2017

รับประทาน 1.5 มิลลิกรัม ครั้งเดียว

ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์

ICEC 2018

รับประทาน 1.5 มิลลิกรัม ครั้งเดียว

ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์

AAP 2019

รับประทาน 1.5 มิลลิกรัม ครั้งเดียว

ภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์

 

                จะเห็นได้ว่าเกือบทุกแนวทางแนะนำให้รับประทานแบบครบขนาดในครั้งเดียว เนื่องจากประสิทธิภาพไม่ด้อยไปกว่าการแยกรับประทาน แต่ใช้สะดวกกว่า และไม่ต้องกังวลว่าจะลืมแล้วรับประทานไม่ตรงเวลาหรือไม่ครบขนาด

 

                หากรับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลภายใน 72 ชั่วโมงแรกหลังมีเพศสัมพันธ์ จะมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ที่เวลา 72 – 120 ชั่วโมงนะคะ โดยเฉพาะ ถ้าเกิน 96 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว ประสิทธิภาพในการป้องกันจะลดลงมาก

                บางแนวทาง เช่น ACOG 2015, FSRH 2017 และ ICEC 2018 จึงแนะนำให้รับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น

                อย่างไรก็ตาม บางแนวทาง เช่น US CDC 2016, WHO 2016 และ AAP 2019 ก็ยังแนะนำว่าถ้าใช้ไม่ทัน 72 ชั่วโมงแรกหลังมีเพศสัมพันธ์ แต่ยังไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ ก็สามารถใช้ได้ เพราะถ้าใช้ครบขนาดและทันเวลาก็อาจช่วยลดความเสี่ยงที่มีอยู่ได้เช่นกัน จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการไม่รับประทาน โดยเฉพาะ หากไม่สามารถใช้วิธีป้องกันฉุกเฉินอื่น ๆ แทนได้ค่ะ

                ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล ในกรณีที่เกิน 72 ชั่วโมงไปแล้ว ยังสามารถใช้ได้หากยังไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์นะคะ แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ควรรับประทานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะยิ่งรับประทานเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้ผลดีกว่าการรับประทานที่ล่าช้าค่ะ

 

                แล้วทำไมในฉลากหรือเอกสารกำกับยาของยาคุมฉุกเฉินที่มีจำหน่ายในบ้านเรา จึงยังแนะนำให้รับประทานตามวิธีดั้งเดิม และไม่ให้เกิน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ล่ะ?!?

                การแสดงข้อความในฉลากและเอกสารกำกับยา ถูกควบคุมให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน ตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ออกมาในปี พ.ศ.2543 ค่ะ และยังไม่มีการแก้ไขใด ๆ เพิ่มเติม

                อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ก็กำหนดการแสดงข้อความในฉลากสำหรับยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลแบบแผงละ 2 เม็ดไว้ดังนี้เช่นกัน

 

                ถึงแม้ว่าจะรับประทานได้ถูกต้อง ครบถ้วน และทันเวลาที่กำหนด แต่คุณผู้อ่านควรทราบว่า ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินต่ำกว่าวิธีคุมกำเนิดมาตรฐานนะคะ

                จึงควรนำมาใช้เมื่อจำเป็นฉุกเฉินหรือไม่มีทางเลือกอื่นจริง ๆ เช่น ในกรณีที่ถูกข่มขืน ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่สามารถคุมกำเนิดล่วงหน้าได้ หรือในกรณีที่เกิดความผิดพลาดจากวิธีคุมกำเนิดมาตรฐานที่ใช้อยู่ เช่น ถุงยางฉีกขาด หรือลืมรับประทานยาคุมรายเดือนแล้วไม่มีผลป้องกันต่อเนื่อง

                เพราะถ้านำยาคุมฉุกเฉินมาใช้แทนวิธีคุมกำเนิดปกติ เช่น ใช้เพราะไม่อยากใส่ถุงยางอนามัย หรือใช้เพราะไม่อยากรับประทานยาคุมรายเดือน ก็มีความเสี่ยงที่ยาคุมฉุกเฉินจะป้องกันไม่สำเร็จ จึงอาจตั้งครรภ์ได้มากกว่าที่ควรจะเป็นค่ะ