นักวิจัยพบว่าคนอ้วน หรือผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) ตั้งแต่ 30 กิโลกรัม/ตารางเมตรขึ้นไป เมื่อใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel; LNG) แล้ว จะมีระดับยาในเลือดน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับผู้ใช้ที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ1, 2, 3
จึงมีความกังวลว่า การมีน้ำหนักมากหรือเกินเกณฑ์มาตรฐาน อาจลดประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉิน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์ สูงกว่าผู้ที่มีน้ำหนักน้อยกว่าหรือไม่เกินเกณฑ์ และอาจจำเป็นต้องใช้ยาในขนาดที่สูงกว่าปกติอีกเท่าตัว เพื่อให้ได้ระดับยาในเลือดที่ใกล้เคียงกัน4
คณะอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศ สหราชอาณาจักร (Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare; FSRH) จึงได้แนะนำแนวทางในการคุมกำเนิดฉุกเฉิน5 และแนวทางคุมกำเนิดสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกิน-อ้วน6 ไว้ว่า…
นอกจากการใส่ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดง จะเป็นวิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดแล้ว ยังไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำหนักเกินอีกด้วย จึงเป็นทางเลือกแรกที่ควรใช้ในการคุมกำเนิดฉุกเฉินสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 70 กิโลกรัม หรือมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 26 กิโลกรัม/ตารางเมตร
หากไม่สะดวก อาจเลือกการรับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยายูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal acetate; UPA) แทน
แต่ในกรณีที่ไม่สามารถใส่ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดง หรือไม่สามารถรับประทานยูริพริสทอล อะซิเตทได้ ให้รับประทานลีโวนอร์เจสเทรล โดยเพิ่มขนาดเป็นสองเท่า นั่นคือ แทนที่จะรับประทาน 1.5 มิลลิกรัมครั้งเดียวตามปกติ ก็ให้รับประทานในขนาด 3 มิลลิกรัมครั้งเดียวแทน
และแม้ว่าต่อมาจะมีหลักฐานใหม่ที่ชี้ว่า การเพิ่มขนาดลีโวนอร์เจสเทรล เป็น 3 มิลลิกรัม ในผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 กิโลกรัม/ตารางเมตร หรือมีน้ำหนักมากกว่า 80 กิโลกรัม ที่รับประทานในช่วงที่ไข่กำลังจะตก ไม่ได้ลดความเสี่ยงของการตกไข่ แตกต่างไปจากการใช้ในขนาดปกติเลย
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อสรุปในการศึกษาดังกล่าว ถึงการใช้ลีโวนอร์เจสเทรลขนาด 3 มิลลิกรัม ในผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกาย 26 – 30 กิโลกรัม/ตารางเมตร ที่รับประทานก่อนระดับฮอร์โมนไข่ตกจะเพิ่มขึ้นสูงสุด (LH surge) ว่ามีประสิทธิภาพแตกต่างจากการใช้ขนาดปกติหรือไม่
อีกทั้ง จากการนำไปใช้จริงในผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 70 กิโลกรัม หรือมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 26 กิโลกรัม/ตารางเมตร ก็สามารถทนได้ดีกับการรับประทานลีโวนอร์เจสเทรล 3 มิลลิกรัมครั้งเดียว และยังไม่พบอันตรายใด ๆ
FSRH จึงยังคงคำแนะนำไว้ตามแนวทางเดิม ดังที่กล่าวไปข้างต้น14
ซึ่งสอดคล้องกับที่ International Consortium for Emergency Contraception (ICEC) and International Federation of Gynecology & Obstetrics (FIGO) แนะนำการคุมกำเนิดฉุกเฉินสำหรับผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 กิโลกรัม/ตารางเมตรขึ้นไป7
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีระดับยาในเลือดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่มีน้ำหนักปกติ แต่ก็ยังสรุปไม่ได้ว่ายาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล จะไม่สามารถยับยั้งไข่ตก หรือไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ ในผู้ที่มีน้ำหนักเกินได้นะคะ
และเมื่อมีการรวบรวมข้อมูลจากหลายการศึกษามาวิเคราะห์ ก็พบว่า อัตราล้มเหลวในการป้องกันการตั้งครรภ์ มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กับการใช้ที่ล่าช้ากว่า 48 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ และการใช้ในช่วงที่คาดว่าจะมีไข่ตกหรือมีไข่ตกไปแล้ว
ซึ่งหากตัดปัจจัยดังกล่าวออกไป การใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลในขนาดปกติ ไม่ว่าจะในกลุ่มที่มีน้ำหนักเกินหรือตามเกณฑ์ ก็พบอัตราการตั้งครรภ์ได้น้อยไม่แตกต่างกันค่ะ8, 9
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention; CDC), องค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO), สมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Pediatrics; AAP) และสมาคมสูตินรีแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา (American College of Obstetricians and Gynecologists; ACOG) ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการคุมกำเนิดฉุกเฉินในคนอ้วนหรือผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ว่า…
การใส่ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด แต่หากไม่สามารถทำได้ ก็จำเป็นจะต้องรับประทานยาคุมฉุกเฉินเพื่อลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์10 – 13
โดยควรพิจารณาการใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยายูริพริสทอล อะซิเตท ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีกว่าก่อน หากไม่มี จึงค่อยพิจารณาการใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล10, 13
ซึ่ง CDC และ WHO แนะนำในกรณีที่ค่าดัชนีมวลกายมีค่าตั้งแต่ 30 กิโลกรัม/ตารางเมตรขึ้นไป ส่วน AAP และ ACOG แนะนำให้เริ่มพิจารณาในกลุ่มผู้ที่มีน้ำหนักเกิน (BMI 25 – 25.9 kg/m2) ได้เลย
แต่ในคำแนะนำดังกล่าว ไม่ได้ระบุให้เพิ่มขนาดของยาคุมฉุกเฉินชนิดลีโวนอร์เจสเทรลเป็นสองเท่า เหมือนอย่างแนวทางของ FSRH หรือ ICEC & FIGO
ส่วนในประเทศไทย เนื่องจากไม่มีการใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยายูริพริสทอล อะซิเตท ดังนั้น ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 กิโลกรัม/ตารางเมตร หากมีความจำเป็นที่จะต้องคุมกำเนิดฉุกเฉิน ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อพิจารณาการใส่ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดงภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์นะคะ
แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ ก็ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรลทันที หรือเร็วที่สุดที่ทำได้ ภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ โดยให้รับประทานแบบครบขนาดในครั้งเดียวได้เลย
และเนื่องจากบ้านเรามักอ้างอิงแนวทางขององค์การอนามัยโลก หรือจากทางสหรัฐอเมริกา (ซึ่งในกรณีนี้ก็ให้ความเห็นที่สอดคล้องกัน) โดยทั่วไปจึงแนะนำให้ใช้ในขนาดปกติแม้จะมีน้ำหนักมากค่ะ
…ปรับปรุงล่าสุด 1 พฤษภาคม 2566…
เอกสารอ้างอิง
- Edelman, A. B., Cherala, G., Blue, S. W., Erikson, D. W., & Jensen, J. T. (2016). Impact of obesity on the pharmacokinetics of levonorgestrel-based emergency contraception: single and double dosing. Contraception, 94(1), 52–57.
- Praditpan, P., Hamouie, A., Basaraba, C. N., Nandakumar, R., Cremers, S., Davis, A. R., & Westhoff, C. L. (2017). Pharmacokinetics of levonorgestrel and ulipristal acetate emergency contraception in women with normal and obese body mass index. Contraception, 95(5), 464–469.
- Natavio, M., Stanczyk, F. Z., Molins, E., Nelson, A., & Jusko, W. J. (2019). Pharmacokinetics of the 1.5 mg levonorgestrel emergency contraceptive in women with normal, obese and extremely obese body mass index. Contraception, 99(5), 306–311.
- Fok, W. K., & Blumenthal, P. D. (2016). Update on emergency contraception. Current opinion in obstetrics & gynecology, 28(6), 522–529.
- Faculty of Sexual and Reproductive Healthcare, UK. FSRH guideline: emergency contraception, updated December 2017.
- Faculty of Sexual and Reproductive Healthcare, UK. FSRH guideline: overweight, obesity and contraception, April 2019.
- International Consortium for Emergency Contraception (ICEC) and International Federation of Gynecology & Obstetrics (FIGO). Emergency contraceptive pills: Medical and Delivery Guidance 4th, 2018.
- Festin, M., Peregoudov, A., Seuc, A., Kiarie, J., & Temmerman, M. (2017). Effect of BMI and body weight on pregnancy rates with LNG as emergency contraception: analysis of four WHO HRP studies. Contraception, 95(1), 50–54.
- Trussell J, Raymond EG, Cleland K. Emergency Contraception: a last chance to prevent unintended pregnancy, January 2019. Office of Population Research, Princeton University.
- Centers for Disease Control and Prevention (CDC). U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 2016.
- World Health Organization (WHO). Selected practice recommendations for contraceptive use – 3rd ed., 2016.
- Upadhya KK, AAP COMMITTEE ON ADOLESCENCE. Emergency Contraception. Pediatrics, 2019.
- ACOG COMMITTEE OPINION: Access to Emergency Contraception. American College of Obstetricians and Gynecologists. Committee Opinion No. 707, July 2017.
- FSRH CEU Statement: Response to new evidence relating to dose of levonorgestrel oral emergency contraception for individuals with higher body mass index (BMI). 4 August 2022.